รณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลก หยุดไล่รื้อชุมชน-ย่ำยีศักดิ์ศรีคนไร้บ้าน
เครือข่ายสลัม 4 ภาค เตรียมเดินขบวนรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ปี 58 พร้อมยื่นข้อเสนอต่อนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล หวังแก้ปัญหาคนจนไร้บ้าน หยุดไล่รื้อชุมชน ทั่วประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตใหม่ภายใต้การมีส่วนร่วม ปชช.
วันที่ 5 ตุลาคม 2558 เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก ซึ่งองค์การสหประชาชาติกำหนดให้ตรงกับวันจันทร์แรกเดือนตุลาคมของทุกปี เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสนใจต่อสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีที่อยู่อาศัยเหมาะสม อันเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ต้องตระหนักและให้ความสำคัญ
กล่าวถึงประเทศไทย ดินแดนที่ถูกขนานนามว่า ‘สุวรรณภูมิ’ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว บ่งบอกถึงความมั่งคั่งในถิ่นฐานของพลเมือง หากข้อเท็จจริงยังมีคนจนอีกจำนวนมากไร้ที่ดินทำกิน ไม่มีแม้กระทั่งที่ซุกหัวนอน ต้องระเหเร่ร่อน เอาตัวรอด อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด รอวันถูกไล่รื้ออย่างคนไม่มีทางสู้ กลายเป็นมรสุมชีวิตที่เปื้อนฝุ่น
โดยข้อมูลปี 2551 จากการสำรวจของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบมีจำนวนชุมชนทั้งสิ้น 6,334 ชุมชน มีผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย 728,639 ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีชุมชนกำลังถูกไล่รื้อ 86 ชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบกว่า 8,100 ครัวเรือน หรือราว 34,000 คน ล้วนได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการภาครัฐ
ยกตัวอย่างกรณี จ.ขอนแก่น ชุมชนแออัดริมทางรถไฟถูกไล่รื้อ เพื่อก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง โดยไม่มีที่ดินเหมาะสมรองรับ ส่วนพื้นที่ข้างเคียงนั้น การรถไฟฯ กลับให้กลุ่มทุนเช่าทำสนามฟุตบอล หรือกรณีชุมชนริมคลอง 4 ชุมชน นำร่องในเขตเมืองยื่นขอโฉนดชุมชน แต่ไม่มีความคืบหน้า จึงกังวลอาจเสี่ยงถูกไล่รื้อเอื้อต่อนโยบายจัดการน้ำ
ปัญหาต่าง ๆ ดูเหมือนไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐอย่างเต็มที่ ทำให้เครือข่ายสลัม 4 ภาค จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยขึ้น เพื่อสมทบจัดซื้อที่ดินให้แก่ชุมชนที่ประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัย โดยพวกเขาให้เหตุผลว่า ไม่สามารถรอการแก้ไขปัญหาได้
พร้อมเตรียมยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ณ ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่อยู่อาศัยโลกปีนี้ โดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาชุมชนถูกไล่รื้อ และคณะกรรมการโฉนดชุมชน ตลอดจนสนับสนุนนโยบายคนไร้บ้าน 2 ระยะ คือ ศูนย์พักชั่วคราว และบ้านมั่นคง ซึ่งดำเนินการโดยภาคประชาชน
แหม่ม-นุชนารถ แท่นทอง หญิงรูปร่างอ้วน พูดจาฉะฉาน เป็นคนสลัมโดยกำเนิด ต้องถูกไล่รื้อเมื่อ 20 ปีก่อน ปัจจุบันเธอเป็นหนึ่งในแกนนำขับเคลื่อนเพื่อคนไร้บ้าน โดยตั้งใจอยากให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีที่อยู่อาศัยมั่นคง และคาดหวังสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ จะทำให้การไล่รื้อลดลง แต่ข้อเท็จจริงกลับทวีความรุนแรงขึ้น
เธอตั้งคำถามต่อสังคมว่า เหตุใดคนจนจึงถูกผลักไสออกนอกเมือง ทั้งที่เป็นแรงงานสำคัญ ก่อนท้าทายกลับให้คนรวยอาศัยนอกเมืองบ้าง หากเชื่อจะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนคนจนจะอาศัยในเมืองแทน
“คนจนอยู่นอกเมือง คนรวยอยู่ในเมือง เป็นความเหลื่อมล้ำชัดเจน” แหม่มยืนยัน ก่อนอธิบายว่า คนจนไม่มีรถ จะเดินทางเข้าเมืองต้องอาศัยรถโดยสารประจำทาง ดังนั้นเราจึงต้องการความสะดวกสบาย แต่คนรวยสามารถขับรถเข้ามาในเมืองได้
เธอยังค้านแนวคิดให้คนจนอาศัยบนแฟลตแทนบ้าน นั่นคือความไม่ยุติธรรม ทั้งที่ต้องเสียเงินผ่อนเป็นหนี้สินเหมือนกัน แล้วทำไมจึงไม่ยอมให้เลือกที่ดินปลูกบ้านเอง เพราะในชีวิตของคนเราล้วนอยากลงเสาเอกทั้งนั้น
“คนจนก็มีหัวใจ” กลายเป็นนิยามที่ผู้หญิงคนนี้อุบัติขึ้น มิใช่เพื่อต้องการความสงสารหรือเห็นใจ แต่เพื่อต้องการได้รับแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง
แหม่มระบุด้วยว่า การพัฒนาโครงการภาครัฐที่ผ่านมาไม่เคยมีระบบแก้ไขปัญหา ขาดการมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบ ภาครัฐจะตัดสินใจเอง โดยนำกฎหมายขึ้นมาถือ ซึ่งเมื่อใดคุยเรื่องกฎหมาย คนจนย่อมผิดวันยังค่ำ คนไม่มีที่อยู่อาศัย ถูกกล่าวหาเป็นผู้บุกรุก แต่ไม่เคยพูดว่า คนกลุ่มนี้มีส่วนสำคัญทำให้เมืองเจริญมากเพียงใด
“เราเป็นแรงงานสำคัญ ทำไมไม่มองเห็นคุณค่าบ้าง แต่กลับมองเป็น ‘สลัม’ ที่เป็นแหล่งเสื่อมโทรม เต็มไปด้วยยาเสพติด จนถูกตราหน้าเติบโตไป เดี๋ยวก็ติดยา คนในสังคมมองอย่างนี้ทุกวัน” เธอตัดพ้อ และว่า ตรงกันข้ามคนอาศัยใน ‘คอนโด’ หรือ ‘บ้าน’ หลังสวย ต่างหากที่เป็นตัวการใหญ่ค้ายาเสพติด ทำไมไม่มองคนกลุ่มนั้นบ้าง
แหม่มปฏิเสธคนจนมิได้เลวเสมอไป “ชาวบ้านคนเดียวไม่อาจบอกรัฐหรือนายทุนได้ เพราะเขาไม่ฟัง พอเราใช้ขบวนใหญ่ก็ถูกกล่าวหาเป็น ‘ม็อบ’ บางครั้งถูกเรียกว่า ‘ม็อบแดดเดียว’ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีพวกเรา ปัญหาที่อยู่อาศัยก็จะไม่ได้รับการแก้ไข”
...คนจนเป็นแรงงานสำคัญ...มีส่วนทำให้ประเทศเจริญ...ทำไมไม่ท่องกันอย่างนี้บ้าง!!!
สำหรับมุมมองนักวิชาการแทบไม่ต่างอะไรจากคนจนกลุ่มนี้ อ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ (มช.)เห็นว่า ความเป็นเมืองทำให้เกิดการขูดรีดทุกระดับ ตั้งแต่ชนบท คน ทรัพยากร เนื่องจากไทยออกกฎหมายตามหลังปัญหา โดยเฉพาะกฎหมายผังเมือง ที่มีผลบังคับใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการจัดการที่ดิน ภายหลังนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กว้านซื้อไว้แล้ว
ทั้งนี้ หากดูขั้นตอนการออกกฎหมายฉบับดังกล่าว จะพบว่า หนึ่งในคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้แทนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย รวมถึงช่องทางระดมความคิดเห็นต่อกระบวนการออกกฎหมายเป็นเพียงพิธีเท่านั้น ตั้งคำถามว่า กลไกการทำหน้าที่ลักษณะนี้ควรได้รับการปรับปรุงหรือไม่
นักวิชาการ มช. ยังกล่าวว่า ความเป็นเมืองจะเกิดขึ้นได้ต้องไม่มองเฉพาะเขตปกครอง แต่ต้องมีกฎหมายเฉพาะเหมือนในต่างประเทศ แต่ไทยกลับมีทีท่าจะผลักดันกฎหมายกำเนิดเมืองใหม่ภายใต้ ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษ’ ซึ่งเปรียบดังเมืองใหม่สำหรับสรวงสวรรค์ของนักลงทุนมากกว่า
“รัฐบาลเพิ่งประกาศเขตซุปเปอร์คาสเตอร์ขึ้นมา โดยมีมาตรการจูงใจที่เกี่ยวข้องกับนักลงทุน หนึ่งในนั้น คือ ให้สิทธิแก่นักลงทุนต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้” เขาระบุ แต่คนในประเทศอีกจำนวนมากยังไม่มีที่อยู่อาศัย ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว
ก่อนตั้งข้อสังเกตประเด็นกฎหมายว่า เมื่อเราพูดถึงกฎหมายความเป็นเมืองมักมุ่งเน้นเฉพาะด้านภูมิศาสตร์ แต่ลืมมิติเศรษฐกิจเมืองควรได้รับการพัฒนาอย่างไร ไทยยังมีแรงงานนอกระบบ คนหาเช้ากินค่ำ ไร้ระบบสวัสดิการอยู่ รัฐจึงควรสนับสนุนให้ได้ มิฉะนั้นต่อให้จัดสรรที่ดินเพียงพอก็ไม่ช่วยเเก้ไขปัญหา
อ.ไพสิฐ จึงแนะนำว่า ระบบสวัสดิการที่เหมาะสมกับคนจนมากที่สุดขณะนี้ คือ กองทุนประกันสังคม แต่ครอบคลุมเฉพาะแรงงานในระบบ ซึ่งนับวันยิ่งมีจำนวนน้อยลง และด้วยความที่กฎหมายเกี่ยวข้องกับความเป็นเมืองหายไป จึงทำให้กฎหมายควรทำหน้าที่จัดความสัมพันธ์กลายเป็นทำลายความสัมพันธ์
ต้องคิดต่อว่า ทำอย่างไรจะสร้างระบบกฎหมายใหม่ที่สร้างความสัมพันธ์ทางสังคม และดึงสถาบันทุกภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องได้ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหา
“แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไม่เตรียมความพร้อมความเป็นเมือง แม้จะมีการพัฒนาในระดับภูมิภาค เช่น กำหนดให้ จ.ลำปาง เป็นศูนย์กลางภาคเหนือ แต่หน่วยงานราชการไม่ปฏิบัติตาม ทำให้ทิศทางการแก้ปัญหาล้มเหลว”
สำหรับทางออกอย่างชอบธรรมกรณีคนจนถูกไล่รื้อ เขาเสนอว่า สังคมต้องพูดถึงกระบวนการยุติธรรมทางสังคมแทนยุติธรรมทางอาญา โดยให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิในที่อยู่อาศัย สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อสังคมมีความเป็นธรรม ซึ่งต้องได้รับการพัฒนาต่อไป
*******************************************
หากรัฐบาลยังนิ่งเฉยต่อการแก้ไขปมปัญหา อนาคตคนกลุ่มนี้จะถูกเตะถ่วงกลายเป็นบุคคลชายขอบที่ถูกปล้นและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บ้านเรือนต้องถูกรื้อทิ้งเสมือนซากปรักหักพังลอยลำในน้ำครำโสโครกบนคราบน้ำตาของคนจนที่สิ้นไร้ไม่ตอก เป็นเช่นนี้แล้วประเทศจะเดินไปสู่จุดสูงสุดได้อย่างไร หากพลเมืองของชาติยังเดินไปถึงเส้นชัยไม่พร้อมกัน .