เปิดหนังสือลับ สตง.ถึง อัยการฯ ก่อนสหภาพฯทีโอที ยกโขยงทวงคลื่น "AIS"
"...การดำเนินการโอนย้ายเลขหมายของ AIS ผู้ใช้บริการไม่ได้แสดงเจตนายืนยันความประสงคที่จะขอย้ายเลขหมายไปใช้บริการ 3G บนคลื่น 2100 MHz ของ AWN แต่อย่างใดเพราะหากผู้ใช้บริการต้องการโอนย้ายเลขหมาย ทั้ง AIS และ AWN ต้องมีข้อมูลชื่อ นามสกุล และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนที่ถูกต้องของผู้ใช้บริการที่ต้องการโอนย้าย .."
กรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ออกมาเดินขบวนประท้วงเพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของกรรมการบริหารทีโอที (บอร์ด) บางคนที่ไม่รักษาผลประโยชน์ขององค์กรที่ปล่อยให้คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ที่หมดสัญญาสัมปทานกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ในวันที่ 30 ก.ย.2558 ที่ผ่านมา
ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้นำคลื่นไปประมูล ทั้งที่ คลื่นต้องคืนกลับมาที่ทีโอที ซึ่งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เห็นว่า กสทช. ไม่มีสิทธิ์ในการนำคลื่นดังกล่าวมาประมูลจึงต้องการให้หน่วยงานต่างๆตรวจสอบการทำงานของ กสทช.ด้วย นั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เกี่ยวกับกรณีนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้ามาตรวจสอบข้อมูลแล้ว ปรากฎข้อมูลตามหนังสือที่แจ้งไปถึง อัยการสูงสุด ในช่วงต้นเดือนมี.ค.2558
โดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้
ถึง อัยการสูงสุด
เรื่อง การขอความเห็นดำเนินคดี ข้อหาละเมิดหรือกฎหมายอื่นๆ กรณีการโอนย้ายเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายอนุญาโตตุลาการ เป็นผู้ดำเนินดำเนินคดีแทน กรณี บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กระทำผิดสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยการประชาสัมพันธ์ให้โอนย้ายเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ AIS ให้บริการไปยังบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด หรือ AWNซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้น
จากการตรวจสอบของ สตง. ในกรณีดังกล่าว พบว่า การดำเนินการของเอไอเอส ในการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการย้ายค่ายจาก 900 MHz เป็น 3G 2100 GHz โดยไม่ต้องเปลี่ยนซิมการ์ด ถือเป็นการใช้ประกาศและหลักเกณฑ์ของ กสทช. เป็นช่องทางในการเปลี่ยนแปลงข้อมูลจำเพาะ ในซิมการ์ดของผู้ใช้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านโครงข่ายไปยังผู้ใช้บริการแบบอัตโนมัติ โดยผู้ใช้บริการมิได้แสดงเจตนาขอลงทะเบียนการโอนย้าย และไม่มีการยืนยันความเป็นเจ้าของหมายเลขจากผู้ใช้บริการก่อน ตามที่ กทช.กำหนดแต่อย่างใด ซึ่งสอดคล้องกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ บมจ.ทีโอที โดยการตรวจสอบข้อมูลการโอนย้ายเลขหมายของ AIS ผ่านกระบวนการคงสิทธิเลขหมาย เดือนละ 100 เลขหมาย ตั้งแต่เดือน ม.ค.57 ถึง ม.ค.58
พบว่าข้อมูลการโอนย้ายเกือบทั้งหมดไม่มีข้อมูล ชื่อ นามสกุล และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ใช้บริการ
แสดงให้เห็นว่าการดำเนินการโอนย้ายเลขหมายของ AIS ผู้ใช้บริการไม่ได้แสดงเจตนายืนยันความประสงคที่จะขอย้ายเลขหมายไปใช้บริการ 3G บนคลื่น 2100 MHz ของ AWNแต่อย่างใด
เพราะหากผู้ใช้บริการต้องการโอนย้ายเลขหมาย ทั้ง AIS และ AWN ต้องมีข้อมูลชื่อ นามสกุล และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนที่ถูกต้องของผู้ใช้บริการที่ต้องการโอนย้าย
ทั้งนี้ สตง.ได้ส่งหนังสือ ลงวันที่ 25 มี.ค.58 แจ้งให้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ทีโอที ดำเนินการตามกฎหมายอย่างรอบครอบเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อ บมจ.ทีโอที และต่อประเทศชาติ เนื่องจากการร่วมกันของ AIS กับ AWN ในการโอนย้ายลูกค้าเลขหมายของ AIS บนโครงข่าย 900 MHz ไปยัง AWN บนโครงข่าย 2100 GHz เป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อ บมจ.ทีโอที จึงได้เสนอเรื่องดังกล่าวเป็นข้อพิพาท ต่ออนุญาโตตุลาการ ตามข้อพิพากหมายเลขดำที่ 80/2557 ในประเด็น AIS กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนวัตถุประสงค์แห่งสัญญาอนุญาตฯ โดยการเรียกร้องให้ AIS หยุดการกระทำดังกล่าว และให้ชำระค่าเสียหายหรือชดใช้เป็นเงินทั้านั้น โดย บมจ.ทีโอทีไม้ได้เรียกร้องให้ AIS โอนย้ายเลขหมายที่โอนย้ายอย่างผิดกฎหมายกลับมายังโครงข่าย 900 MHz แต่อย่างใด นั้น
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เห็นว่าจำนวนเลขหมายโทรศัพท์ดังกล่าวถือเป็นทรัพย์สินตามสัญญา ที่ AIS ต้องส่งมอบให้บมจ.ทีโอที เมื่อสิ้นสุดสัญญา ดังนั้น ลูกค้าเลขหมายจึงถือเป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดในการหารายได้สำหรับการดำเนินกิจการของ บมจ.ทีโอที
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 เม.ย.58 บมจ.ทีโอที ได้มีหนังสือเพื่ออความอนุเคราะห์ให้อัยการสูงสุดพิจารณาการดำเนินคดี กรณี บมจ.ทีโอที ได้พบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า AIS และ AWN ร่วมกันกระทำผิดตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่
โดยบมจ.ทีโอที ขอความอนุเคราะห์ให้พิจารณาว่า ตามสรุปข้อเท็จจริงที่ส่งให้นั้น บมจ.ทีโอที สามารถดำเนินคดีกับ AIS และ AWN ข้อหาละเมิดหรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บริษัททั้งสองบยุติการกระทำละเมิดและเรียกร้องให้ AWN ดำเนินการโอนย้ายเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ได้โอนย้ายไปโดยไม่เป็นไปตามประกาศและหลักเกณฑ์ที่กทช.กำหนด กลับมายังโครงข่าย 900 MHz ที่ AIS ให้บริการ พร้อมทั้งเรียกร้องค่าเสียหายให้กับ บมจ.ทีโอที นอกเหนือจากข้อพิพาทอนุญาโตตุลาการ ได้หรือไม่
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เห็นว่าสัญญาอนุญาตฯ ระหว่าง บมจ.ทีโอที กับAIS กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 ก.ย.58 ซึ่งหากการดำเนินการล่าช้าจะทำให้ บมจ.ทีโอที ไม่สามารถส่งเรื่องดังกล่าวให้สำนักงานอัยการสูงสุดประกอบการดำเนินคดีได้ทันเวลา ซึ่งจะผลเสียหายต่อ บมจ.ทีโอที และรัฐในที่สุด
อีกทั้งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องต่อเนื่องจากเรื่องเดิมที่ บมจ.ทีโอที ได้เคยส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุด เสนอเป็นข้อพิพากต่ออนุญาโตตุลาการตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 80 /2557
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จึงขอสอบถามว่า เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดได้พิจารณาได้พิจารณาสรุปข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารของ บมจ.ทีโอทีแล้ว ท่านมีความเห็นเป็นประการใด และจะสามารถแจ้งผลการพิจารณาให้ บมจ.ทีโอที ทราบเพื่อดำเนินการต่ออย่างด่วนที่สุดได้เมื่อใด ทั้งนี้ เพื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะได้ติดตามตรวจสอบ และเร่งรัดการดำเนินการของ บมจ.ทีโอที ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และหากสำนักงานอัยการสูงสูดแจ้งผลการพิจารณให้ บมจ.ทีโอที ทราบแล้ว โปรดแจ้งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทราบด้วย
ทั้งหมดนี้ คือ ความเคลื่อนไหวในการตรวจสอบกรณีนี้ ของ สตง. ก่อนที่กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จะออกมาเดินขบวนประท้วงเพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของกรรมการบริหารทีโอที (บอร์ด) บางคนที่ไม่รักษาผลประโยชน์ขององค์กรที่ปล่อยให้คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ที่หมดสัญญาสัมปทานกับ AIS เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2558 ที่ผ่านมา และกสทช.นำมีการนำคลื่นไปเปิดประมูลต่อ
ทั้งที่ในความเป็นจริง คลื่นจำนวนนี้ ควรจะต้องคืนกลับมาเป็นสมบัติของ บมจ.ทีโอที และสั่งลงโทษเรียกร้องค่าเสียหายจาก "เอกชน"ที่กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย!