ทวี สอดส่อง...ความเป็นธรรมนำการเมืองและการทหาร
เป็นข่าวฮือฮามาตั้งแต่น้ำยังไม่ท่วมว่า ตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะเปลี่ยนจาก นายภาณุ อุทัยรัตน์ เป็น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
เป็นการเปลี่ยนแปลงหลังจากเปลี่ยนรัฐบาล จากรัฐนาวาที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ เป็นรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นหัวเรือใหญ่
แต่กว่าที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติแต่งตั้ง ก็ปาเข้าไปวันอังคารที่ 18 ต.ค. โดย พ.ต.อ.ทวี เพิ่งเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งแรก (ในฐานะว่าที่เลขาธิการ ศอ.บต.) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมานี้เอง
พลันที่มีความชัดเจนว่าเลขาธิการ ศอ.บต.คนใหม่ชื่อ "ทวี สอดส่อง" ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากฝ่ายการเมือง สื่อมวลชน และคนที่สนใจติดตามปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างกว้างขวางทั้งบวกและลบทันที ส่วนใหญ่พูดถึงความเหมาะสมและประสบการณ์ของ พ.ต.อ.ทวี กับตำแหน่งใหม่ที่ชายแดนใต้ แต่มีน้อยคนที่จะพูดถึงเส้นทางที่ผ่านมาของเขา และแนวนโยบายที่เขาคิดทำในสถานการณ์ที่ท้าทายความสามารถอย่างยิ่ง ณ ปลายสุดด้ามขวาน
จากตำรวจมือปราบสู่เลขาฯ ศอ.บต.
จะว่าไปแล้ว พ.ต.อ.ทวี ไม่ใช่คนหน้าใหม่สำหรับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเขาเคยร่วมทำคดีปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ทั้งในหมวกตำรวจและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
ผลงานที่เขาและทีมงานทำกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกที่ยืนยันข้อมูลว่าอาวุธปืนถูกปล้นไปมากถึง 413 กระบอก ได้นำไปสู่การออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องกลุ่มใหญ่ และมีข้อมูลเครือข่ายกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบระดับแกนนำสำคัญจำนวนมาก ทั้งยังมีข้อมูลการสืบสวนเกี่ยวกับวิธีทำงานของสมาชิกระดับปฏิบัติของกลุ่มขบวนการด้วย
นอกจากนั้นในช่วง 1-2 ปีหลังที่เขาดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี ก็รับผิดชอบดูแลปัญหาชายแดนภาคใต้ในมิติของความยุติธรรม โดยริเริ่มทำโครงการหลายอย่างในแง่ "ความเป็นธรรม" โดยเฉพาะโครงการนำเงินจากกองทุนยุติธรรมวางเป็นหลักประกันเพื่อให้ผู้ต้องขังและจำเลยคดีความมั่นคงได้รับการปล่อยชั่วคราว (ได้รับประกันตัวจากศาลระหว่างรอขึ้นศาลหรือต่อสู้คดี)
พ.ต.อ.ทวี อายุ 51 ปี เกิดเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2503 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน (นรต.) รุ่น 37 ปริญญาโทด้านสังคมศาตร์ สาขาพัฒนาสังคม จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเข้าศึกษาหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) เมื่อปี 2548 เคยผ่านการอบรมหลักสูตรวิทยาลัยตลาดทุนรุ่นที่ 4 หลักสูตรบริหารงานยุติธรรม (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 13 และประกาศนียบัตรหลักสูตรภาษีอากรเนติบัณฑิตยสภารุ่นที่ 1
ชีวิตราชการช่วงที่เป็นตำรวจ ผ่านงานทั้งสายบู๊และบุ๋น เป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สภ.อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี รองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สน.นางเลิ้ง กรุงเทพมหานคร ผู้บังคับหมวดโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน สารวัตรปราบปราม สภ.อ.เมืองกาญจนบุรี และเคยนั่งเก้าอี้สารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม (แผนก 4 กอง 2) หรือที่รู้จักกันดีในนาม "สารวัตรประเทศไทย"
จากนั้นเติบโตในกองปราบเป็นลำดับ เคยดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการ 1 กองปราบปราม ก่อนขึ้นเป็นผู้กำกับการ 1 กองปราบปราม ผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม หรือ "ผู้กำกับประเทศไทย" มีอำนาจสืบสวนจับกุมทั่วประเทศ และตำแหน่งสุดท้ายในเครื่องแบบสีกากีคือรองผู้บังคับการกองปราบปราบ
ในปี 2547 โอนไปเป็นข้าราชการพลเรือน ตำแหน่งรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่หลังเกิดการยึดอำนาจเมื่อปี 2549 พ.ต.อ.ทวี ถูกเด้งไปดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และกลับมาผงาดเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ก่อนจะถูกโยกไปนั่งเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลปัญหาชายแดนใต้ และขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. (ระดับ 11) ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
"ความเป็นธรรม" นำการเมืองและการทหาร
พ.ต.อ.ทวี เคยเปรยกับคนใกล้ชิดว่า เขาเองก็เคยคิดแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบตำรวจ คือจับผู้กุมดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แต่เมื่อได้ลงไปคลุกคลี ศึกษา และทำความเข้าใจปัญหาทั้งในมิติประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ การเมือง และวัฒนธรรม เขากลับเปลี่ยนความคิดไปโดยสินเชิง
และนั่นได้นำมาสู่แนวคิดการใช้ "ความเป็นธรรมนำการเมืองและการทหาร" เพราะ พ.ต.อ.ทวี เชื่อว่าความไม่เป็นธรรมที่คนในพื้นที่ต้องเผชิญและเจ็บปวดมาเนิ่นนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งต้องลุกขึ้นจับอาวุธสู้
วิธีการจะถูกหรือผิดเป็นอีกเรื่อง แต่การสร้างความเข้าใจและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม คือภารกิจเร่งด่วนที่ต้องทำก่อนเรื่องอื่น
และนั่นคือคำตอบของโครงการช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีความมั่นคงและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของกระทรวงยุติธรรม สมัยที่ พ.ต.อ.ทวี เป็นรองปลัดฯ และได้ตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการช่วยเหลือเรื่องการขอประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องขังคดีความมั่นคงอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้ต้องขังซึ่งขณะนั้นมีมากถึง 514 คน ได้กลับไปอยู่กับครอบครัวในระหว่างต่อสู้คดี
นอกจากนั้น กระทรวงยุติธรรมยังมีโครงการให้ความช่วยเหลือเรื่องเงินเยียวยาทดแทน กรณีของบุคคลที่ถูกจับกุม แต่เมื่อสู้คดีแล้วปรากฏว่าไม่มีมูลความผิดหรือศาลยกฟ้อง ซึ่งคนกลุ่มนี้มีสิทธิ์เรียกร้องค่าทดแทนได้ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 โดยคิดจากจำนวนวันที่ถูกคุมขัง วันละ 200 บาทด้วย
และคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งอนุมัติจัดตั้งเมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมานี้ ก็ได้รับแรงผลักดันอย่างสำคัญจาก พ.ต.อ.ทวี
จากประสบการณ์ด้านการอำนวยความยุติธรรม สืบสวนสอบสวนคดีสำคัญ เคยผ่านงานด้านการข่าว การปกครอง การพัฒนา และด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งยังเข้ารับรู้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในลักษณะการสืบสวนสอบสวนสมัยย้ายเข้ากองปราบปราบตั้งแต่ปี 2535 และได้ติดตามเรื่อยมาทั้งงานการข่าวและช่วยเหลือผู้ที่เดือนร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขมาโดยตลอด ทำให้ พ.ต.อ.ทวี ยืนยันในยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ในห้วงที่ต่างฝ่ายต่างเถียงกันเรื่องการเมืองควรนำการทหาร หรือการทหารควรนำการเมือง ว่า "ความเป็นธรรม" ต้องนำการทหารและการเมือง
"คิดนอกกรอบ" แต่อยู่ในขอบกฎหมาย
จากเนื้อหาในพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือ "พ.ร.บ.ศอ.บต." จะเห็นได้ว่าอำนาจหน้าที่ของ ศอ.บต.ในยุคที่มีกฎหมายรองรับนั้น มีมากมายถึง 16 ภารกิจหลักๆ
ที่น่าสนใจก็คือ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและอำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน, ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ, ประสานงานกับส่วนราชการต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ, สร้างการมีส่วนร่วม และส่งเสริมแนวคิดพหุวัฒนธรรม
นั่นทำให้ พ.ต.อ.ทวี กำลังทาบทามบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในสาขาต่างๆ มาทำหน้าที่เป็นรองเลขาธิการ ศอ.บต. โดยเขาวางตัวไว้ทั้งทางด้านการปกครอง การบริหาร กิจการศาสนา การอำนวยความยุติธรรม และงานด้านการต่างประเทศ
บุคคลที่ได้รับการทาบทามและน่าจะเปิดตัวเร็วๆ นี้ ก็เช่น นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา, นายปิยะ กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ซึ่งเป็นนักวิชาการตัวจริงที่ชาวบ้านยอมรับ และยังเคยทำงาน ศอ.บต.ในยุคแรกตั้งด้วย
นอกจากนั้นก็จะมีอดีตเอกอัครราชทูตที่เคยประจำในประเทศตะวันออกกลาง เพื่อประสานกับโลกมุสลิม รวมทั้งดึง "คนราชทัณฑ์" มือดีที่เคยบริหารเรือนจำในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ต้องขังให้การยอมรับ มาวางระบบป้องกันปัญหาจลาจลในเรือนจำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และดูแลผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวและเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงคุกรุ่นอยู่ในปัจจุบัน
พ.ต.อ.ทวี เคยบอกเอาไว้ว่า เขาจะพยายามคิดนอกกรอบเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ทั้งหมดจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย เคารพสิทธิมนุษยชน และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงข้าวใหม่ปลามัน อะไรๆ ก็ดูหอมหวานไปหมด ไม่ต่างอะไรกับยุทธศาสตร์และแนวทางที่ พ.ต.อ.ทวี วางเอาไว้ในโอกาสที่ได้รับตำแหน่งใหม่เป็นเลขาธิการ ศอ.บต.
แต่สุดท้ายย่อมหนีไม่พ้นสัจธรรม...เวลาและผลงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พ.ต.อ.ทวี ขณะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ในฐานะว่าที่เลขาธิการ ศอ.บต.คนใหม่ (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)