บึ้ม MF - ระเบิดหม้อแขก - ฝักแคสีชมพู เกี่ยวไหมกับชายแดนใต้?
หลังนายตำรวจระดับสูงแถลงสรุปคดีลอบวางระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์และท่าเรือสาทร เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ประเด็นเกี่ยวกับชนิดของวัตถุระเบิดที่คนร้ายใช้ ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง ผ่านข้อสังเกตเรื่อง “ฝักแคสีชมพู” “ระเบิดหม้อแขก” และ “ระเบิด MF”
เริ่มจากฝักแคสีชมพู พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ ตั้งข้อสังเกตจากข้อมูลที่มีอยู่ว่า ฝักแคสีนี้มีใช้น้อยมากในประเทศไทย และเคยพบคนร้ายใช้ในเหตุการณ์ลอบวางระเบิดหลายครั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงส่งชุดสืบสวนลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม
ส่วน “ระเบิดหม้อแขก” มาจาก พลตำรวจเอกจักรทิพย์ เช่นกัน โดยระบุว่าคนร้ายประกอบระเบิดใน “หม้อแขก” ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในเมืองไทย จึงสั่งการให้ชุดสืบสวนไปหาข้อมูล
ขณะที่ “ระเบิด MF” มาจากการวิเคราะห์ของนักวิชาการด้านเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ที่คิดต่อยอดจากสารเคมีอีกชนิดหนึ่งที่ตำรวจระบุว่าเป็นของกลางที่ตรวจยึดได้จากพูลอนันต์อพาร์ทเมนท์ สถานที่ที่จับกุม นายอาเดม คาราดัก หรือ นายบิลาล เติร์ก มูฮำหมัด ซึ่งภายหลังยอมรับว่าเป็น “ชายเสื้อเหลือง” ที่นำระเบิดไปวางที่ศาลท้าวมหาพรหม
รศ.ดร.วีรชัย อธิบายว่า ระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์นั้น คนร้ายใช้เปอร์ออกไซด์ หรือ TATP เป็นสารประกอบระเบิด ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มหัวรุนแรงในตะวันออกกลาง แต่จากของกลางที่ยึดได้ที่พูลอนันต์อพาร์ทเมนท์ เจ้าหน้าที่มองข้ามสาร MF หรือ Mercury Fulminate ซึ่งสามารถนำไปผลิตระเบิดชนิดรุนแรงได้เช่นกัน
สาร Mercury Fulminate ถูกพบในขวดบรรจุสารเคมี ในห้องพักชั้น 4 ของพูลอนันต์อพาร์ทเมนท์ รศ.ดร.วีรชัย วิเคราะห์ว่า กลุ่มคนร้ายน่าจะมีแผนผลิตระเบิดเพื่อก่อเหตุมากกว่า 1-2 จุดที่เกิดระเบิดไปแล้วซึ่งใช้ระเบิดเปอร์ออกไซด์ เพราะตำรวจสามารถเก็บลายนิ้วมือแฝงจากขวดสารเคมีได้ และตรงกับลายนิ้วมือของ นายเมอไรลี่ ยูซูฟู ผู้ต้องหาสำคัญอีกคนหนึ่งที่ถูกจับกุมได้ โดยคนร้ายรายนี้หาซื้อจากร้านเคมีภัณฑ์ในพื้นที่มีนบุรี
ระเบิด MF เป็นระเบิดแรงดันสูงที่ผู้ก่อการร้ายฝั่งโลกหนึ่งนิยมใช้เช่นกัน โดยสารตั้งต้น คือ สาร Mercury Fulminate ลักษณะเป็นผงละเอียดสีขาวเทา
ส่วน “ระเบิดหม้อแขก” นั้น นักเคมีผู้นี้ บอกว่า ให้นึกย้อนเหตุการณ์ระเบิดในบอสตันมาราธอน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2556 ระเบิดในครั้งนั้นคนร้ายใช้หม้ออัดความดันบรรจุสารระเบิด
ขณะที่ระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ตำรวจให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คนร้ายใช้หม้อแขกบรรจุสารระเบิดด้วย และโยงไปถึงภาคใต้จาก “ฝักแคสีชมพู”
รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ วีรชัย บอกว่า ระเบิดที่อัดลงหม้อ จริงๆ แล้วเป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และหม้อโดยเฉพาะหม้ออัดความดันเป็นอุปกรณ์ที่กลุ่มอัลกออิดะห์เคยสอนวิธีประกอบระเบิดผ่านนิตยสารออนไลน์ของกลุ่ม เมื่อปี 2553 ในบทความที่ให้ชื่อว่า "ทำระเบิดในครัวของแม่"
ระเบิดหม้ออัดความดัน เคยถูกใช้ก่อเหตุหลายครั้งที่ฝรั่งเศสเมื่อปี 2538 และกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ หรือ โฮมแลนด์ ซีเคียวริตี้ ของสหรัฐ เคยออกคำเตือนเมื่อปี 2556 ให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง โดยกล่าวว่าระเบิดชนิดนี้เป็นเทคนิคที่สอนกันทั่วไปในค่ายก่อการร้ายอัฟกานิสถาน
อีกด้านหนึ่ง มีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดของกองทัพ
ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ ให้ข้อมูลกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ในประเด็นของสาร Mercury Fulminate ที่บางฝ่ายเชื่อว่าคนร้ายอาจนำมาเป็นดินระเบิดหลักในประกอบระเบิดนั้น จริงๆ แล้วสารเคมีชนิดนี้เป็นสารที่มีความไวต่อการกระแทก การเสียดสี และความร้อน ในอดีตถูกนำไปใช้ในการทำ “เชื้อปะทุ” โดยใช้เป็นประจุล่าง หรือ Base Charge แต่ปัจจุบันไม่นิยมใช้แล้ว เนื่องจากประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้งานด้อยกว่า อาร์ดีเอ็กซ์ (RDX) ซึ่งเป็นสารประกอบระเบิดอีกชนิดหนึ่ง
แม้สาร Mercury Fulminate จะมีอัตราความเร็วในการระเบิดที่จัดอยู่ในกลุ่มระเบิดแรงสูง แต่จะนำมาใช้เป็นดินระเบิดหลักอาจมีแรงไม่พอ เพราะมีอัตราความเร็วในการระเบิดอยู่ที่ 4,505 เมตรต่อวินาที น้อยกว่า TNT ซึ่งมีอัตราความเร็วในการระเบิดอยู่ที่ 6,900 เมตรต่อวินาที และน้อยมากเข้าไปอีกเมื่อเทียบกับซีโฟร์ (C4) ที่มีอัตราความเร็วในการระเบิดอยู่ที่ 8,040 เมตรต่อวินาที
ฉะนั้นในกรณีนี้ เชื่อว่าคนร้ายใช้สาร Mercury Fulminate เป็นดินเริ่มต้น หรือ Primary Explosive ในการประกอบระเบิด ทำหน้าที่ในการจุดฝักแคระเบิด หรือสายชนวนระเบิด ซึ่งคนร้ายใช้ฝักแคระเบิดแทนเชื้อปะทุในการจุดดินระเบิดหลักเพื่อให้เกิดระเบิดขึ้น
ขณะที่ “ฝักแคสีชมพู” ที่เก็บได้จากจุดเกิดเหตุระเบิดกลางกรุงเทพฯนั้น เป็น "ฝักแคระเบิด" หรือ Detonation cord ไม่ใช่ “ฝักแคเวลา” ที่ผ่านมาเคยพบมีใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่บ้าง แต่ฝักแคชนิดนี้มีใช้ทางพลเรือน เช่น โรงงานระเบิดหิน และใช้อย่างกว้างขวางในต่างประเทศ เชื่อว่าน่าจะมีการสั่งซื้อจากตลาดซื้อขายทั่วไป ไม่น่าเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนเรื่อง “ระเบิดหม้อแขก” ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดของกองทัพ บอกว่า เป็นการเรียกตามภาชนะในการประกอบระเบิดเท่านั้น อย่างคาร์บอมบ์ หรือจักรยานยนต์บอมบ์ ก็หมายถึงมีการประกอบระเบิดแสวงเครื่องในรถยนต์และรถจักรยานยนต์ แต่กรณีนี้มีการระบุว่าประกอบระเบิดในหม้อแขก ก็เรียกไปตามภาชนะ ไม่น่าจะมีสาระสำคัญอย่างอื่น
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ * ชลธิชา รอดกันภัย เป็นผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ NOW26
บรรยายภาพ :
1 หม้ออัดความดัน ที่กลุ่มหัวรุนแรงบางกลุ่มใช้ประกอบระเบิด
2 สารเคมี MF ที่สามารถใช้เป็นสารตั้งต้นนำไปประกอบเป็นระเบิดได้
3 รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์
ขอบคุณ : ภาพที่ 1 และ 2 จากเฟซบุ๊คของ รศ.ดร.วีรชัย https://www.facebook.com/phutdhawong?fref=ts