ปรากฏการณ์ลั่นกลองรบป่วนเว็บไซต์รัฐ “Single Gateway”สำคัญไฉน?
“…ขณะที่เรากำลังพิมพ์ข้อความสนทนากับเพื่อนหรือใครก็ตามในอินเทอร์เน็ต รัฐบาลจะรู้ข้อมูลเราตลอดเวลา สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว และอ่านข้อมูลของเราได้ทั้งหมด ไม่ต่างอะไรกับนิยายเรื่อง “1984” ที่ “Big brother” ตั้งกล้องวงจรปิดเก็บข้อมูลพลเรือนทุกอิริยาบถ หรือคล้ายคลึงกับในช่วง “สงครามเย็น” ที่ทุกฝ่ายต่างใช้สารพัดวิธีดักฟังข้อมูลของประชาชนโดยอ้างความมั่นคง…”
เป็นประเด็นร้อนที่ทุกองคาพยพในสังคมกำลังจับตา !
ภายหลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีท่าที “เอาแน่” กับการจัดตั้งระบบ “Single Gateway (ซิงเกิ้ล เกตเวย์)” ในประเทศไทย
โดยอ้างว่า เพื่อเป็น “เครื่องมือ” แก้ไขปัญหาเด็ก-เยาวชนใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทางที่ไม่มีประโยชน์ เช่น “ติดเกม” เป็นต้น ?
ก่อนที่จะเริ่มส่งสัญญาณผ่านกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อนำระบบ Single Gateway มาใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมในการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสาร
ตรวจสอบว่า ใครทำอะไรกันอยู่บ้างได้ง่ายขึ้น !
ทำให้ “พลเมืองเน็ต” รวมตัวกันเป็น “นักรบไซเบอร์” เปิดฉากปฏิบัติการ “ลั่นกลองรบ” เข้าไปป่วนเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐ ด้วยวิธีการ DdoS หรือการกด F5 ในหน้าเว็บไซต์ดังกล่าว เพื่อทำให้ “เว็บล่ม”
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมที่มาที่ไป-ข้อดีข้อเสียของระบบ Single Gateway มาให้เห็น ดังนี้
เบื้องต้นระบบ Single Gateway อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ Gateway คือประตู ดังนั้น Single Gateway คือ ประตูเดียว ที่เป็นทางผ่านของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างเครือข่ายหนึ่งไปอีกเครือข่ายหนึ่ง และเป็นตัวที่เชื่อมต่อโครงข่ายของแต่ละประเทศเข้าด้วยกัน หมายถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะถูกรวมอยู่ที่จุด ๆ เดียว
สำหรับความเคลื่อนไหวแนวคิดนี้ ช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ มีข้อสั่งการถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ และก่อปัญหาต่อพฤติกรรมและคุณภาพในการเรียนรู้ของเด็ก เช่น การติดเกมส์ออนไลน์ การเข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสม
รวมทั้งให้กระทรวงไอซีทีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินการจัดตั้ง Single Gateway เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต โดยให้ตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากมีความจำเป็ฯต้องออกกฎหมายเพิ่มเติม ให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไปด้วย
พร้อมทั้งรายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทราบทุกขั้นตอนในการดำเนินการ ซึ่งในข้อสั่งการของ “บิ๊กตู่” ทุกครั้งจะเน้นคำว่า “โดยด่วน” ตลอด
ท่ามกลางข้อสงสัยของคนในสังคมว่า ระบบ Single Gateway ซึ่งประเทศไทยเคยใช้มาแล้วช่วงก่อนปี 2540 หรือราว 18 ปีที่แล้ว ทำไมรัฐบาลจึงนำมา “ปัดฝุ่น” เอากลับมาใช้อีกครั้ง ?
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี อธิบายถึงความจำเป็นในการจัดตั้งระบบดังกล่าวว่า เป็นเพียงแนวคิด และอยู่ระหว่างการศึกษา โดยแนวคิดนี้เป็นเรื่องของการป้องกันการนำเข้า-ส่งออกข้อมูลภายในประเทศ มาตรการนี้มีผลบังคับใช้จริง ก็จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการใช้บริการอินเทอร์เน็ตของประชาชนได้เป็นอย่างมาก
พร้อมยืนยันว่า “การกระทำดังกล่าวมุ่งเน้นการให้บริการประชาชน ไม่ได้เน้นในเรื่องของการเข้าไปควบคุมตามที่หลายฝ่ายวิตกกังวลแต่อย่างใด” !
ภายหลังที่รัฐบาลมีแนวคิด “ปัดฝุ่น” ระบบ Single Gateway ทำให้ “พลเมืองเน็ต” รวมตัวกันสร้างแคมเปญในเว็บไซต์ Change.org เพื่อล่ารายชื่อคัดค้าน โดยปัจจุบันมีผู้ร่วมลงชื่อกว่าแสนคนแล้ว
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้ยกระดับเป็น “นักรบไซเบอร์” รวมพลเข้าไปป่วนเว็บไซต์หน่วยงานรัฐ ด้วยวิธีการ DdoS หรือการกด F5 เพื่อรีเฟรชหน้าเว็บไซต์ ทำให้เว็บไซต์หน่วยงานรัฐล่มเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล (thaigov.go.th) เว็บไซต์กระทรวงไอซีที (mict.go.th) หรือเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (cabinet.go.th) เป็นต้น ซึ่งขณะนี้เว็บไซต์ของหลายหน่วยงานก็ยังใช้การไม่ได้ (ดูภาพประกอบ)
ผลของการกระทำดังกล่าว ของ “นักรบไซเบอร์” สะท้อนอะไร ?
หนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจแน่ ๆ ของประชาชน ที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเด็ก-เยาวชน หรือว่าผู้ใหญ่ก็ตาม เนื่องจากระบบ Single Gateway จะทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตช้าลงอย่างมาก เพราะรัฐบาลต้องสร้าง Gateway ขนาดใหญ่ เพื่อรองรับปริมาณการใช้งานของคนทั้งประเทศ และรองรับการใช้งานเพิ่มเติมในอนาคต ทั้งที่ปัจจุบันคือยุค Social Network เป็นยุคแห่งการติดต่อพบปะกันบนโลกอินเทอร์เน็ตมากกว่าโลกในชีวิตจริง ทำให้ข้อมูลข่าวสารค่อนข้างส่งต่อกันอย่างรวดเร็ว และสะดวกสบายกว่าในอดีตมาก
หากระบบนี้มีการใช้งานจริง เท่ากับว่า ประเทศไทยจะถอยหลังย้อนไปสู่ก่อนหน้าปี 2540 ที่ขณะนั้นอินเทอร์เน็ตยังอยู่ในยุค 1.0 (ยุคเริ่มต้นของอีเมล์) และความเร็วในการเชื่อมต่อแค่ 56 kb เท่านั้น (ปัจจุบันสามารถเชื่อมต่อด้วยความเร็วต่ำสุดประมาณ 10 Mb)
สอง ระบบ Single Gateway เมื่อเป็นระบบที่รวมเป็นจุดเดียว เท่ากับว่าต่อไปนี้ภาครัฐจะสามารถ “สอดส่อง” เส้นทางของข้อมูลได้ง่ายขึ้น แน่นอนแม้รัฐบาลจะอ้างว่า เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรมในโลกอินเทอร์เน็ตก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่า เท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วยหรือไม่ ?
หากยังเห็นภาพไม่ชัด ให้ลองนึกว่า ขณะที่เรากำลังพิมพ์ข้อความสนทนากับเพื่อนหรือใครก็ตามในอินเทอร์เน็ต รัฐบาลจะรู้ข้อมูลเราตลอดเวลา สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว และอ่านข้อมูลของเราได้ทั้งหมด ไม่ต่างอะไรกับนิยายเรื่อง “1984” ที่ “Big brother” ตั้งกล้องวงจรปิดเก็บข้อมูลพลเรือนทุกอิริยาบถ หรือคล้ายคลึงกับในช่วง “สงครามเย็น” ที่ทุกฝ่ายต่างใช้สารพัดวิธีดักฟังข้อมูลของประชาชนโดยอ้างความมั่นคง
สาม แม้ภาครัฐจะอ้างว่าเพื่อเป็นมาตรการป้องกัน “อาชญากรรมไซเบอร์” ก็ตาม แต่ที่ผ่านมางบประมาณของภาครัฐก็เน้นหนักไปที่ “ความมั่นคง” มากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว (หากดูตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 พบว่า ใช้งบด้านความมั่นคงกว่า 2.4 แสนล้านบาท) มีการจัดตั้ง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สังกัด สตช. รวมถึงมีหน่วยงานความมั่นคง เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หรือหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ เพื่อดูแลตรวจสอบความปลอดภัยให้กับประชาชนในเรื่องนี้ และที่ผ่านมาก็มีการจับกุมบุคคลที่กระทำความผิดในอินเทอร์เน็ตได้ โดยไม่ต้องพึ่งระบบ Single Gateway
ดังนั้น การอ้างว่าเพื่อเพิ่มมาตรการป้องกัน “อาชญากรรมไซเบอร์” ย่อมไม่เป็นเหตุเป็นผลที่ใหญ่พอที่จะทำการ “ปิดกั้น” เสรีภาพของประชาชนในการส่งต่อข้อมูลข่าวสารได้
นี่ยังไม่นับความสูญเสียจากการลงทุนทางเศรษฐกิจ เนื่องจากบริษัทข้ามชาติอาจลังเลที่จะเข้ามาลงทุนในไทย เพราะไม่มั่นใจด้านความมั่นคง และรู้สึกกังวลว่าข้อมูลลับทางการค้าอาจถูกล้วงได้ง่าย
เมื่อพิจารณาถึงเหตุผล-ที่มาที่ไป-ข้อดีข้อเสียของระบบ Single Gateway แล้ว คำถามสำคัญที่ยิงตรงไปถึง “บิ๊กตู่” คือ รัฐบาลพร้อมที่จะ “ปิดกั้น” ข้อมูลข่าวสารของประชาชนด้วยวิธีนี้ เพื่อป้องกันความมั่นคงของชาติ หรือของใคร
และไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้แล้วจริงหรือ ?
หมายเหตุ : ภาพประกอบโน๊ตบุ๊คจาก lokwannee.com