โครงการแก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำชายแดนระหว่างประเทศ ระยะเร่งด่วน
แผนงาน /โครงการตามมติคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558 (โครงการแก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำชายแดนระหว่างประเทศ ระยะเร่งด่วนและโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในลำน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง
วันที่ 30 กันยายน 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินการโครงการสร้างที่เก็บน้ำที่สามารถดำเนินการได้ทันที ในการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ จำนวน 2 โครงการ ดังนี้
1.โครงการแก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำชายแดนระหว่างประเทศระยะเร่งด่วน งบประมาณ 604,500,000 บาท เพื่อก่อสร้างแก้มลิงที่มีความพร้อม จำนวน 30 แห่ง โดยมอบหมายให้กรมชลประทาน เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการ
2.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในลำน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง งบประมาณ 117,193,800 บาท เพื่อก่อสร้างฝายกระสอบทรายชั่วคราวในพื้นที่ลำน้ำขนาดเล็กที่มีศักยภาพ จำนวน 526 แห่ง โดยมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการ
สาระสำคัญของโครงการฯ
1. โครงการแก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำชายแดนระหว่างประเทศ ระยะเร่งด่วน
วัตถุประสงค์
1) เก็บกักน้ำช่วงฤดูฝนไว้ในลุ่มน้ำภายในประเทศ และใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 2) บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตร อุปโภคบริโภค ที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นในปี 2559
ลักษณะโครงการ สร้างแก้มลิงในพื้นที่ลุ่มน้ำหลักหรือลุ่มน้ำสาขาที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งจะดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ให้สามารถเก็บกับน้ำช่วงฤดูฝนไว้ในลุ่มน้ำภายในประเทศ พื้นที่ดำเนินการแก้มลิงที่มีความพร้อมจำนวน 30 แห่ง (นครพนม 9 แห่ง หนองคาย 6 แห่ง เลย 3 แห่ง บึงกาฬ 4 แห่ง มุกดาหาร 8 แห่ง)
2. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในลำน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง
วัตถุประสงค์ พื่อเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติให้ได้มากที่สุดก่อนจะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำ ซึ่งปัจจุบันเป็นช่วงที่ลำน้ำต่าง ๆ ยังอยู่ในสภาวะที่มีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งได้
ลักษณะโครงการ ก่อสร้างฝายกระสอบทรายชั่วคราวปิดกั้นลำน้ำ มีความสูงเฉลี่ยประมาณ 2 เมตร ซึ่งง่ายต่อการก่อสร้าง ท้องถิ่น / ชุมชนสามารถดำเนินการได้เองตามความพร้อมและศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 45 วัน
พื้นที่ดำเนินการในพื้นที่ลำน้ำขนาดเล็กที่มีศักยภาพทั่วประเทศ จำนวน 526 แห่ง (ภาคเหนือ 100 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 384 แห่ง ภาคกลาง 10 แห่ง และภาคตะวันออก 32 แห่ง