คปร.จี้นักการเมือง-นายทุน-รัฐ คายที่ดินให้คนจน เร่งเดินเครื่องก่อนยุบสภา
คปร.เสนอ 5 มาตรการปฎิรูปที่ดิน เผย 3 กลุ่ม เอกชน-หน่วยงานรัฐ-นักการเมืองถือครองที่ดิน 90% จี้คายมาจัดสรรให้เกิดประโยชน์ เตรียมนำเสนอต่อประเด็นเหมืองแร่-แรงงาน เร่งเดือนเครื่องก่อนยุบสภาเลือกตั้งใน 4-5 เดือนหน้าเพื่อทันชงรัฐบาลหน้า
ที่บ้านพิษณุโลก วันที่ 7 ก.พ. นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการปฎิรูป(คปร.) พร้อมด้วยคณะกรรมการปฏิรูปทั้งคณะ อาทิ นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นายบัณฑร อ่อนดำ นายนิธิ เอียวศรีวงส์ นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ร่วมแถลงความคืบหน้าการทำงานของ คปร.ในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา โดยนำเสนอแนวทางปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร 5 ข้อเป็นผลงานชิ้นแรก
นายอานันท์ กล่าวว่า ปัญหาความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรที่ดิน เป็นเรื่องใหญ่อย่างหนึ่งซึ่งผูกโยงกับการล่มสลายของชุมชนท้องถิ่นและวิถีชีวิตในชนบทอย่างแยกไม่ออก ทั้งเป็นต้นตอของความไม่ยุติธรรมหรือความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เนื่องจากปัจจุบันมีเกษตรกรไทยนับล้านคนที่ไร้ที่ดินทำกินหรือมีที่ดินไม่พอทำกิน ซึ่งความเป็นธรรมที่คนส่วนใหญ่ของไทยขาดมากที่สุดคือความเป็นธรรมในเรื่องที่ดิน ดังนั้น คปร.จึงเห็นพ้องกันว่าควรจะลดฐานะความเป็นสินค้าเสรีของที่ดินเกษตรกรรมลง และหาทางให้เกษตรกรที่เดือดร้อนได้เข้าถึงที่ดินที่ถูกกักตุนทิ้งร้างไว้โดยเอกชนที่ไม่ใช่เกษตรกร ตลอดจนเข้าถึงที่ดินของรัฐที่ถูกกักไว้โดยไม่เป็นธรรมหรือโดยไม่เกิดประโยชน์
นายอานันท์ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปที่ดิน มีมาตรการต่างๆดังนี้ 1.ให้มีการจำกัดเพดานการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรไว้ไม่เกิน 50 ไร่ต่อครัวเรือน เพื่อลดการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน 2.ให้มีการจัดระบบข้อมูลการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งประเทศเป็นข้อมูลสาธารณะเพื่อใช้ในการบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์และเกิดความเป็นธรรม 3.ให้จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการจัดซื้อที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือที่มีการถือครองล้นเกินมาจัดสรรให้เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ทำกิน
4.ให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรมในอัตราก้าวหน้าเพื่อลดแรงจูงใจ ในการสะสมที่ดินไว้โดยไม่ทำประโยชน์ โดยที่ดินปล่อยร้างหรือส่วนเกินจาก 50 ไร่ให้เสียภาษีอัตราก้าวหน้าร้อยละ 5 และสุดท้าย 5.ให้มีการกำหนดเขตการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นมาอย่างชัดเจน โดยกำหนดให้ผู้ถือครองที่ดินดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ทำการเกษตรด้วยตนเองเท่านั้น โดยข้อเสนอดังกล่าวจะนำเสนอผ่านสื่อและหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน จากนั้นจะสรุปส่งถึงนายกรัฐมนตรีต่อไป
“ ยอมรับว่าการจำกัดเพดานตัวเลขที่ 50 ไร่นั้นคงทำไม่ได้ง่าย หากคนที่เกี่ยวข้องไม่เข้าใจข้อเสนอก็คงไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ซึ่งวิธีการคงไม่ได้มุ่งการบังคับใช้ทางกฎหมาย แต่จะเน้นการอะลุ่มอล่วย”
นายอานันท์ กล่าวและว่านอกจากนั้น คปร.ยังมีประเด็นที่ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้วใน 2 เรื่องที่จะนำเสนอต่อไปคือ ประเด็นที่ดินเหมืองแร่ และแรงงาน ทั้งนี้คิดว่าจะต้องเร่งปรับทิศทางการทำงาน หากการยุบสภาและเลือกตั้งเกิดขึ้นในอีก 4-5 เดือนข้างหน้า อาจจะต้องเร่งเครื่องในการนำเสนอความคิดเห็นในประเด็นสำคัญๆด้วย เพื่อให้พรรคการเมืองที่สนใจนำไปจัดทำนโยบายเพื่อหาเสียงในการเลือกตั้งต่อไป ซึ่งคณะกรรมการไม่ได้หวังว่าจะต้องเป็นรัฐบาลนี้ที่จะดำเนินการตามข้อเสนอเท่านั้น
เมื่อถามว่าการกำหนดเพดานการถือครองที่ดิน 50 ไร่ มุ่งกับกลุ่มไหนเป็นพิเศษหรือไม่ นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กรรมการ คปร.กล่าวว่าจากการสำรวจข้อมูลการถือครองที่ดินนั้นพบว่ามีคน 3 กลุ่มซึ่งถือเป็นเพียง 10 % ของสังคมไทยที่ถือครองที่ดินถึง 90 % ของทั้งหมด คือภาคเอกชนและกลุ่มธุรกิจข้ามชาติ 2.หน่วยงานราชการ 3.นักการเมือง ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องคายที่ดินออกมาเพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์และจัดสรรให้เกษตรกรที่ยากจนนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ได้
"ถ้าถามถึงวิธีการอย่างไรเพื่อให้เกิดรูปธรรมนั้น อาจจะต้องใช้วิธีการขอร้องไปจนถึงขั้นยึดที่กลับมา ซึ่งความคิดเห็นของ คปร.คือใช้มาตรการทางภาษีเป็นตัวกำหนดให้ผู้ถือครองที่ดินต้องคายที่ดินออกมา ส่วนข้อกังวลว่าจะเป็นการผลักภาระให้เกษตรกรแบกรับภาษีหรือไม่นั้น ตนคิดว่าสามารถแก้ปัญหาได้ ถ้าฐานข้อมูลที่ดินถูกนำมาเปิดเผยเป็นข้อมูลสาธารณะ เพราะจะทำให้รู้ว่าใครเป็นนอมินีใคร ก็จะทำไม่ได้เพราะจะถูกตรวจสอบโดยภาคสังคม แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะฐานข้อมูลที่ดินไม่ได้ถูกเปิดเผย" นายเพิ่มศักดิ์ กล่าว .