พลิกมุม EM ball หมดฤทธิ์มหัศจรรย์ ไม่ได้ช่วยบำบัดน้ำเสีย !
ท่ามกลางวิกฤติน้ำใหญ่ ที่กำลังเกิดที่เกิดขึ้น ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล อีกปัญหาหนึ่งที่ตามมาและส่งผลกระทบรุนแรง ก็คือเรื่องขยะ และน้ำเน่าเสีย ที่ส่งกลิ่นเหม็น จนกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เราจะเห็นหลายกลุ่มองค์กร ชักชวนอาสาสมัคร มาร่วมปั้นลูกจุลินทรีย์บอลหรือ EM Ball หวังเป็นอีกวิธีหนึ่งในการช่วยบำบัดน้ำเสีย
แต่มีอีกมุมมองหนึ่งที่เห็นแย้ง เรื่อง EM Ball ที่ถูกเผยแพร่ และส่งต่อกันอย่างกว้างขวาง ในเฟชบุค โดย Mano Vanawearusit เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2011 โดยได้แชร์ ข้อมูลเรื่องนี้ มาจากเพื่อนที่ทำงาน จบปริญญาเอก อีกทั้งยังเคยทำวิจัยเรื่องน้ำมาจากญี่ปุ่น ว่า
" ก้อนอีเอ็ม (EM: Effective Microorganisms) เพื่อบำบัดน้ำเสียที่ท่วมขังภายในบ้าน ประกอบไปด้วยกลุ่มจุลินทรีย์หลักๆ คือ กลุ่มจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง แลกโตบาซิลัส เพนนิซีเลี่ยม ไตรโคเดอมา ฟูซาเรียม สเตรปโตไมซิส อโซโตแบคเตอ ไรโซเบียม ยีสต์ รา ซึ่งตามทฤษฎีนั้น ก้อนนี้เมื่อนำลงไปในน้ำ จุลินทรีย์พวกนี้จะเข้าไปกินเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้น้ำเสีย และการที่แบคทีเรียที่จะทำให้น้ำเสียนั้นลดจำนวนลง จะส่งผลให้น้ำสะอาดขึ้น เพราะมีกลุ่มจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงทำงาน (คือ เติม ออกซิเจนลงในน้ำ)
ในความเป็นจริงแล้ว ผิด ถนัด เพราะ
1. เมื่อจุลินทรีย์เหล่านี้กินแบคทีเรียที่ทำให้เกิดน้ำเสียหมดแล้ว มันจะเข้าไปกินสารอาหารอื่นๆในน้ำต่อไป เพราะสิ่งมีชีวิตต้องการอาหาร
2. และจุลินทรีย์เหล่านี้จะเพิ่มจำนวนตลอดเวลา อย่างน้อยๆให้นึกว่า 1 เป็น 2 2 เป็น 4 ในทุกๆ 20 นาที โดยเฉลี่ย
3. นอกจากนี้เพื่อการดำรงชีพและขยายจำนวนจุลินทรีย์พวกนี้จะต้องใช้ออกซิเจนในการหายใจ (ออกซิเจนในน้ำ) เพราะพวกนี้เป็นสิ่งมีชีวิตที่หายใจ โดยใช้ออกซิเจน (จุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจนมีจำนวนมากกว่าจุลินทรีย์ที่สร้างออกซิเจน)
สรุป คือ เมื่อเราโยนเจ้าก้อนอีเอ็มลงไปในน้ำแล้ว แรกๆ น้ำจะเหมือนว่าดูดีขึ้น แต่พอพ้นไปสักระยะ สองสามวัน (ไม่นาน) น้ำจะแย่ลง เพราะจุลินทรีย์ในอีเอ็มจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและหายใจเอาออกซิเจนในน้ำออกไปอย่างไม่หยุด (ก็เราควบคุมการแพร่จำนวนของมันไม่ได้ มันไม่เหมือนทดลองในหลอดทดลองหรือห้องปฏิบัติการ) และน้ำจะกลับมาเน่าเสียมากกว่าเดิม
ถ้าเป็นน้ำที่ท่วมขังภายในบ้าน แน่นอน น้ำแทบไม่โดนแสงแดด จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงทำงานไม่ได้ น้ำยิ่งเน่าเร็วกว่าเดิมแน่ๆ
ดังนั้น ผมจึงอยากให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆพนักงานทุกท่าน อย่าใช้ก้อนอีเอ็มในการบำบัดน้ำเสีย เพราะมันไม่ส่งผลดีอย่างแน่นอน
ผมอยากให้เราลองกลับไปนึกถึงตอนเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่ท่านจะสอนเราเสมอว่า อย่าทิ้งขยะ หรือสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง นะ การใส่ก้อนอีเอ็มลงไป มันไม่ต่างกับการเทอุจจาระหรือขยะปฏิกูลลงไปซ้ำเติมน้ำ
อีเอ็ม อาจจะดีกับการหมักขยะ ปฏิกูล เพื่อมาเป็นปุ๋ย หรือ ไปทำความสะอาดห้องน้ำ แต่ไม่ใช่บำบัดน้ำเสีย (ลองนึกภาพ ว่า ขนาดเชื้อแบคทีเรียมันยังกินเลยบ ถ้าเอาขาเราลงไปจุ่มน้ำพวกนี้สักครึ่งวันจะเป็นยังไง)"
อย่างไรก็ตาม ความเห็นนี้ กับไป สอดคล้องต้องกันกับ กลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ http://www.eng.chula.ac.th/index.php?q=th/node/3915%E2%80%8F เรื่อง EM และน้ำหมักชีวภาพ แก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียได้จริงหรือ ? ดังนี้
ในช่วงเวลาปัจจุบันมีหลายหน่วยงานและหลายภาคส่วนได้สนับสนุนการใช้ EM (Effective Microorganisms) เพื่อบำบัดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นและน้ำเน่าเสียในบริเวณน้ำท่วมขัง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายรวมถึงประชาชนทั่วไปเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะอธิบายข้อเท็จจริงและให้ความรู้ในด้านต่างๆ เกี่ยวกับ EM และจะกล่าวถึงกรณีศึกษาในการบำบัดน้ำเสียของต่างประเทศในภาวะฉุกเฉิน
ทั้งนี้ บทความนี้มิได้มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งแต่อย่างใด แต่มุ่งหวังถึงประโยชน์สูงสุดในการปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน
ปัญหาน้ำเน่าอาจกล่าวได้ว่าเกิดจากการที่สารอินทรีย์ในน้ำมีปริมาณสูง เมื่อเกิดการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์จึงส่งผลให้ออกซิเจนในน้ำมีปริมาณลดลง และในที่สุดอาจก่อให้เกิดสภาวะไร้อากาศซึ่งส่งกลิ่นเหม็น และส่งผลเสียต่อปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ ค่าการละลายออกซิเจนนับเป็นพารามิเตอร์หนึ่งที่สามารถบ่งบอกคุณภาพน้ำได้ โดยในแหล่งน้ำที่สะอาด ไม่เน่าเสีย โดยทั่วไปจะมีค่าการละลายออกซิเจนประมาณ 3 - 7 มิลลิกรัมต่อลิตร การย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาวะที่มีออกซิเจนสามารถอธิบายอย่างง่ายดังนี้
EM (Effective Microorganisms) เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีความสามารถเฉพาะทาง ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 3 กลุ่มหลัก คือ
1) กลุ่ม Lactic acid bacteria
2) กลุ่ม Yeast
และ 3) กลุ่ม Phototrophs (Purple bacteria) ซึ่งได้รับการพัฒนามาจาก Professor Teruo Higa ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงได้มีการประยุกต์ใช้งานในหลากหลายด้าน อาทิ ด้านการเกษตร ด้านการหมักขยะมูลฝอยเพื่อทำปุ๋ย และด้านการย่อยสลายสารอินทรีย์ในสุขา (โถส้วม) เป็นต้น โดยทั่วไป จุลินทรีย์ใน EM สามารถทำงานได้ทั้งในสภาวะที่มีออกซิเจน (Aerobic conditions) และไม่มีออกซิเจน (Anaerobic conditions)
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงการประยุกต์ใช้งาน EM ในสภาวะที่ในน้ำท่วมขังซึ่งมีปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ (Dissolved Oxygen, DO) อยู่อย่างจำกัด กล่าวได้ว่า EM จะใช้ออกซิเจนในการย่อยสลายสารอินทรีย์ และในช่วงเวลาดังกล่าวจะส่งผลทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลงและไม่เพียงพอได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าน้ำในบริเวณดังกล่าวมีสารอินทรีย์ปนเปื้อนอยู่มาก รวมถึงมีการใส่ EM ในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม (ปริมาณที่มากไปหรือใส่เข้าไปในสภาวะหรือรูปแบบที่ไม่เหมาะสม)
กล่าวได้ว่าการเติม EM อาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียจากการขาดออกซิเจนที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม
อีกประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึงเกี่ยวกับการเลือกใช้งาน EM กล่าวคือ จุลินทรีย์ใน EM ทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวไม่มีความสามารถในการสร้างออกซิเจนแต่อย่างใด นอกจากนี้ องค์ประกอบของ EM ball หรือ Micro ball ซึ่งมีการปั้นโดยใช้องค์ประกอบเป็นสารอินทรีย์ต่างๆ เช่น กากน้ำตาล และ รำข้าว เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างผลกระทบของสารอินทรีย์ข้างต้นต่อการเน่าเสียของแหล่งน้ำ อาทิ
กรณีกากน้ำตาล ที่ส่งผลต่อปัญหาน้ำเน่า เช่น การลักลอบทิ้งน้ำเสียจากโรงงานน้ำตาล และกรณีเรือน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นข่าวใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา
กรณีรำข้าว อาจพิจารณาการที่เรานำรำข้าว หรือ เศษอาหาร ไปทิ้งไว้ในน้ำในปริมาณมากๆ และเป็นระยะเวลานาน ก็ย่อมส่งผลให้น้ำเน่าเสียเช่นกัน
ดังนั้น เมื่อโยน EM ball ลงในแหล่งน้ำจึงเปรียบเสมือนการเพิ่มปริมาณสารอินทรีย์ให้กับแหล่งน้ำในบริเวณที่มีการท่วมขังอีกทางหนึ่ง โดยสารอินทรีย์ดังกล่าวที่ยังคงเหลืออยู่ย่อมก่อให้เกิดความต้องการออกซิเจนในน้ำที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลงได้ และแม้แต่จุลินทรีย์ใน EM เอง เมื่อตายไปก็นับเป็นแหล่งสารอินทรีย์ในน้ำเช่นกันซึ่งก็ยังต้องใช้ออกซิเจนในการย่อยสลายเช่นกัน ดังนั้น กล่าวได้ว่าการเติม EM นอกจากจะไม่ช่วยสร้างออกซิเจนแล้ว ยังส่งผลทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิมจากการลดลงของปริมาณออกซิเจนในน้ำ รวมถึงเพิ่มสูงขึ้นของปริมาณสารอินทรีย์ (ดังที่กล่าวถึงข้างต้น)
ทั้งนี้ การย่อยสลายสารอินทรีย์ในแหล่งน้ำท่วมขังควรกระทำภายใต้สภาวะที่มีอากาศหรือออกซิเจนเท่านั้น การย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาวะไร้อากาศถือได้ว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่งในแหล่งน้ำ โดยสรุป เราสามารถกล่าวได้ว่าการบำบัดสารอินทรีย์ในแหล่งน้ำมีลักษณะแตกต่างจากการบำบัดสารอินทรีย์ในสุขา และการหมักขยะเพื่อทำปุ๋ย (ซึ่งมีการใช้ EM ร่วมด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นด้านออกซิเจนละลายน้ำ (DO) ที่เป็นพารามิเตอร์ที่บ่งบอกถึงคุณภาพแหล่งน้ำ รวมถึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างมากต่อคุณภาพแหล่งน้ำดังที่กล่าวไว้ในบทความก่อนหน้านี้ (http://www.eng.chula.ac.th/?q=node/3881)
ถึงแม้ EM ต้นแบบ (ลิขสิทธิ์ Professor Teruo Higa) ซึ่งอ้างว่ามีความสามารถในการกำจัดกลิ่นและทำให้น้ำใส แต่ก็เป็นการช่วยบรรเทาปัญหาชั่วคราวในระยะสั้นเท่านั้น แต่หากสารอินทรีย์ในน้ำยังคงอยู่ และออกซิเจนในน้ำไม่เพียงพอ ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าน้ำนั้นสะอาดจริง กล่าวคือน้ำดังกล่าวยังไม่ปลอดภัยที่จะนำมาใช้และไม่ปลอดภัยต่อสัตว์น้ำแต่อย่างใด และอาจยังเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคต่างๆ ได้อยู่
นอกจากนี้ หากมองถึงประเด็นการผลิตน้ำหมักชีวภาพ หรือ EM ในแบบต่างๆ ด้วยตนเอง จุลินทรีย์ที่ได้อาจมีองค์ประกอบที่แตกต่างจากจุลินทรีย์ใน EM ต้นแบบ และหากไม่ได้ผ่านกระบวนการควบคุมคุณภาพที่ดีพอEM และ น้ำหมักชีวภาพอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคได้ ซึ่งนับเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ควรระวังและไม่ควรมองข้ามสำหรับทุกๆ หน่วยงานและภาคส่วนที่มีสนับสนุนการใช้ EM เพื่อบำบัดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นและน้ำเน่าเสียในบริเวณน้ำท่วมขัง
ผู้ทรงคุณวุฒิ จากประเทศญี่ปุ่น (ซึ่งไม่สามารถเอ่ยนามได้ เนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตไว้) ได้ให้ข้อมูลว่าจากเหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่นก็ได้มีการพยายามจัดการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในพื้นที่ต่างๆ ขององค์กรอิสระต่างๆ ที่รณรงค์ร่วมกันใช้ EM เพื่อบำบัดน้ำเสีย อย่างไรก็ตาม ทางหน่วยงานรัฐบาลของประเทศญี่ปุ่น (กระทรวงสิ่งแวดล้อม) ได้ทำการทดลองเพื่อศึกษาความสามารถของ EM ในการบำบัดน้ำเสีย และพบว่า EM ไม่ได้ช่วยในการบำบัดน้ำเสียแต่อย่างใด ในการนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศญี่ปุ่นจึงไม่แนะนำการใช้ EM ในการบำบัดน้ำเสียในสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ จากเหตุการณ์สึนามิซึ่งระบบบำบัดน้ำเสียถูกทำลาย ทางหน่วยงานรัฐบาลของญี่ปุ่นได้ทำการแก้ไขปัญหาระยะสั้นโดยการเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคลงในท่อบำบัดน้ำเสีย และเลือกใช้การตกตะกอน (Sedimentation) และการฆ่าเชื้อโรค (Disinfection) เพื่อบำบัดน้ำเสียในระบบบำบัดน้ำเสียชั่วคราว รวมถึงได้มีการวางแผนจะพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียชั่วคราวโดยใช้ระบบบำบัดทางชีวภาพร่วมกับการตกตะกอน และการฆ่าเชื้อโรค (Biological treatment - Sedimentation - Disinfection) ส่วนในบริเวณชนบทนั้น ดำเนินการบำบัดน้ำเสียโดยทำการรวบรวมน้ำเสีย และทำการการฆ่าเชื้อโรค จากนั้นปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จนกระทั่งระบบบำบัดขนาดเล็กได้รับการฟื้นฟู
ทั้งนี้ทางกลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าใจดีถึงความปรารถนาดีของทุกฝ่ายในการช่วยกันร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น หากแต่อยากนำเสนออีกแง่มุมหนึ่งของ EM เพื่อประกอบการตัดสินใจ เพื่อเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมที่สุดในการฟื้นฟูปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากภาวะน้ำท่วมในปัจจุบัน