ล้วงแผน ก.ท่องเกี่ยวกู้ศรัทธาต่างชาติ! หลังบึมราชประสงค์-ให้บล็อกเกอร์เขียนเชียร์
ล้วงแผน ก.ท่องเที่ยวฯ ชง ครม.ประยุทธ์ กู้ศรัทธาต่างชาติ! หลังเหตุบึมราชประสงค์ แบ่งเป็น 3 ระยะ เริ่มฟื้นฟูความเชื่อมั่น ทำคลิปไวรัลกระจายในสังคมออนไลน์ จัด Roadshow ต่างประเทศ ทำกลยุทธ์ร่วมสายการบิน พา “บล็อกเกอร์” ตะวันออกกลางมาเขียนรีวิวประเทศ
แม้ว่าเหตุการณ์ระเบิดบริเวณสี่แยกราชประสงค์ผ่านมาได้เดือนเศษแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการออกหมายจับ และจับกุมบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องไปแล้วจำนวนหลายรายก็ตาม
แต่ความกังวลใจของคนไทยและต่างชาติยังคงตกค้างอยู่ ?
เห็นได้จากรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่เสนอไปยังคณะรัฐมนตรี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อบอกถึงผลกระทบ และแนวทางการฟื้นฟูหลังเหตุระเบิดดังกล่าว ระบุชัดว่า ทำให้ประเทศไทยสูญนักท่องเที่ยวไปกว่า 1.33 ล้านคน สูญเสียเงินไปกว่า 6.4 หมื่นล้านบาท
พร้อมกับเสนอมาตรการฟื้นฟูสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยและต่างชาติโดยด่วน !
(อ่านประกอบ : ต่างชาติเลิกทัวร์กว่าครึ่ง-สูญนักท่องเที่ยว1.33ล.คน! ครม.ฟื้นฟูเหตุบึมราชประสงค์)
มีอะไรบ้าง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำรายงานดังกล่าวมาเรียบเรียงให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้
ผลกระทบที่มีต่อต่างประเทศ
การออกประกาศคำแนะนำในการเดินทางมาไทย (Travel Advisory) จาก 35 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 1-3 คือ ให้ระมัดระวังในการเดินทาง สำหรับประเทศที่เตือนในระดับ 4 คือให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมาประเทศไทยหากไม่จำเป็น มี 3 ประเทศ คือ ฮ่องกง (ประกาศสีแดงหรือให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเฉพาะกรุงเทพฯ) ไต้หวัน (สีส้ม) และสโลวัก สำหรับการเสนอข่าวของสื่อต่างประเทศ พบว่า ยังคงมีการเสนอข่าวและความคืบหน้าในสื่อต่าง ๆ แต่มีแนวโน้มการเสนอข่าวลดลง และมีความถี่น้อยลง
สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในต่างประเทศ รายงานว่า มีการยกเลิกการจองแพ็คเกจนำเที่ยวและยกเลิกการบินมาไทยในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2558 ส่วนใหญ่เป็นตลาดระยะใกล้เอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์ 326 ราย ฟิลิปปินส์ 14 ราย ญี่ปุ่น 4,500 ราย เกาหลีใต้ 500 ราย จีน 6,000 ราย ฮ่องกง 4,000 ราย และเวียดนาม 3,165 ราย
สำหรับการจองบัตรโดยสารเครื่องบินทั่วโลกเฉพาะเที่ยวบินประจำ ที่รวบรวมโดยระบบ Forwardkeys พบว่า ตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค.-30 พ.ย. 2558 แม้ว่าจะมีการยกเลิกการจองไปประมาณครึ่งหนึ่งของยอดจองทั้งหมดก็ตาม แต่ภาพรวมยอมการจองบัตรโดยสาร ยังคงขยายตัวร้อยละ 27 โดยภูมิภาคที่มีการยกเลิกค่อนข้างมาก คือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออก อาเซียน เอเชียใต้ แอฟริกา และยุโรปตะวันออก
การประเมินระดับของผลกระทบ
ททท. ได้ประเมินระดับของผลกระทบโดยใช้วิธีการทางสถิติ (Moving Average) ใส่ปัจจัย Shock เทียบเคียงกับช่วงเวลาที่ไทยประสบปัญหาถูกประกาศ Travel Advisory และเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันในอดีต เช่น การระเบิดในกรุงเทพฯ ช่วงปีใหม่ ปี 2549 การระเบิดในบาหลีปี 2548 ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวเสียชีวิตและบาดเจ็บใกล้เคียงกับไทย รวมถึงข้อมูลการยกเลิกการจองเที่ยวบินจากระบบ Forwardkeys
พบว่า อยู่ระดับปานกลาง โดยสามารถควบคุมเหตุการณ์ได้และไม่มีเหตุการณ์เพิ่มเติมใด ๆ เกิดขึ้นอีก ผลกระทบจะรุนแรงช่วงครึ่งหลังของเดือน ส.ค.-ก.ย. 2558 และจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาสสุดท้ายของปี โดยมีรายได้ที่สูญเสีย ประมาณ 64,300 ล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวที่สูญเสียประมาณ 1.33 ล้านคน
ผลต่อเป้าหมายรายได้ทั้งปี ยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 1.4 ล้านล้านบาท เนื่องจากการเติบโตทางการท่องเที่ยวที่สูงมากในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะการขับเคลื่อนของตลาดจีนที่เติบโตก้าวกระโดดมาตั้งแต่ต้นปี อีกทั้งในช่วงหลังเหตุการณ์รัฐบาลจีนยังไม่มีการประกาศห้ามการเดินทางมาไทยและการยกเลิกการเดินทางจากตลาดจีนมีน้อยมาก
ส่วนผลกระทบที่มีต่อการท่องเที่ยวไทยจากตลาดคนไทยเที่ยวภายในประเทศ ประเมินภาพรวมว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยวของชาวไทยทั้งประเทศ เนื่องจาเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และไม่มีเหตุการณ์รุนแรงซ้ำเติม อีกทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่เคยรับรู้เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ มากกว่า 30 ครั้ง นับแต่ปี 2549 เป็นต้นมา
“นักท่องเที่ยวชาวไทยยังคงเดินทางท่องเที่ยวเป็นปกติ ยกเว้นพื้นที่กรุงเทพฯเท่านั้น ที่อาจได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นจุดเกิดเหตุ แต่ก็จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 2 เดือนหลังเกิดเหตุการณ์ (เทียบเคียงกับผลกระทบจากเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ ธ.ค. 2549)”
นอกจากนี้ รายได้จากตลาดในประเทศอาจจะไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ 8 แสนล้านบาท เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลัก มิใช่ปัญหาจากเหตุระเบิดดังกล่าว
จากแนวโน้มพบว่า แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังคงออกเดินทางท่องเที่ยวอยู่ แต่ระมัดระวังการใช้จ่ายเงินมากขึ้น ส่งผลให้ช่วงครึ่งแรกของปี 2558 รายได้หมุนเวียนจากการท่องเที่ยวของคนไทยยังคงเติบโต แต่เติบโตในระดับปานกลาง มีมูลค่า 367,375 ล้านบาท (ประมาณการเบื้องต้นโดยกรมการท่องเที่ยว) คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 46 ของเป้าหมาย 8 แสนล้านบาทที่ตั้งไว้เท่านั้น
ดังนั้น การกระตุ้นการใช้จ่ายและเพิ่มความถี่ในการเดินทางในช่วงครึ่งปีหลัง จะเป็นแรงผลักดันที่จะเร่งให้รายได้ทางการท่องเที่ยวของคนไทยไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ จะต้องเร่งทำรายได้อีก 432,627 ล้านบาท หรือเพิ่มอีกร้อยละ 23 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557
แนวทางการฟื้นฟูการท่องเที่ยว แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 ฟื้นคืนความเชื่อมั่น (ตั้งแต่สิ้นสุดเหตุการณ์ถึงกลางเดือน ก.ย. 2558) เน้นประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้รับทราบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์และสอดแทรกภาพข่าวเชิงบวกเกี่ยวกับคนไทยและประเทศไทยผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งในระดับโลกและในพื้นตลาด
โดยในระดับโลก จะมีสารที่นำเสนอแสดงให้เห็นความเสียใจของคนไทยที่มีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งรำลึกถึงผู้เสียชีวิตโดยแฝงสารที่แสดงให้เห็นถึง “ความมีน้ำใจของคนไทย-เสียใจแต่ไม่เสียขวัญ”
และเน้นกลยุทธ์การสื่อสาร นำเสนอแบบไม่ระบุว่าเป็นการดำเนินงานของ ททท. ผ่านทางคลิปวีดีโอออนไลน์ และเผยแพร่คำกล่าวเชิงบวกเกี่ยวกับประเทศไทยบนโลกออนไลน์ เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ของบุคลากรใน ททท. โดยติด #StrongerTogether เน้นการแบ่งปัน ผ่านจากคนไทยเข้าสู่กลุ่มชาวต่างประเทศ และเผยแพร่วีดีโอชุดดังกล่าวผ่านเว็บไซต์หลักของ ททท. และเว็บไซต์ของสำนักงานต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเผยแพร่สารคดีข่าวในมุมบวกเกี่ยวกับประเทศไทยอีกด้วย
ส่วนในระดับพื้นที่ตลาด จะใช้กลยุทธ์เรียกความเชื่อมั่นในพื้นที่ตลาดหลักที่มีปัญหา เช่น Roadshow ในตลาดจีน เกาหลี เวียดนาม เป็นต้น รวมถึงจัดกลยุทธ์สร้างความเชื่อมั่นผ่านผู้มีอิทธิพลในตลาด เช่น ร่วมกับสายการบิน Etihad โดยนำ Blogger จากตะวันออกกลาง 7 ราย เข้ามาสัมผัสสถานการณ์จริงในเมืองไทยหลังเกิดเหตุการณ์แล้วนำไปเผยแพร่ต่อในโลกออนไลน์ เป็นต้น
ระยะที่ 2 สร้างกระแสและเสริมบรรยากาศด้านการท่องเที่ยว (ก.ย.-ธ.ค. 2558) โดยเร่งจัดทำแคมเปญโฆษณาและโลโก้ “Amazing Thailand” ตัวใหม่ และสร้างกระแสบนโลกออนไลน์ พร้อมทั้งจัดมหกรรมงานประเพณีแห่งความสุข เสริมบรรยากาศเข้าสู่ภาวะปกติ ชักชวนให้เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย
โดยให้นำเสนอกระแสข่าวเชิงบวกในสังคมออนไลน์ กระตุ้นให้เกิดการแบ่งปันเรื่องราวในด้านบวกเกี่ยวกับประเทศไทย โดยดำเนินการทั้งในแบบส่วนบุคคลและดำเนินการผ่านบล็อกเกอร์ โดยเริ่มสร้างกระแสเป็นระยะ ๆ นำไปสู่การเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสในการเผยแพร่โลโก้ใหม่ของ Amazing Thailand ที่เน้นรอยยิ้มสื่อความเป็นไทย เป็นต้น
ระยะที่ 3 กระตุ้นตลาดการท่องเที่ยว (พ.ย.-ธ.ค. 2558) เน้นเฉพาะตลาดต่างประเทศที่เป็นตลาดหลักระยะใกล้ ซึ่งเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเป็นหลัก และเปิดตัวการใช้โลโก้ใหม่ และแคมเปญโฆษณาใหม่ภายใต้แนวคิด : Discover Amazing Stories มีการจัดทำโฆษณาเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับ “วิถีไทย”
รวมถึงใช้กลยุทธ์ขยายฐานตลาดโดยบุกตลาดร่วมกับพันธมิตร โดยร่วมกับพันธมิตรรายใหญ่ในตลาดหลักในการส่งเสริมการตลาด เช่น ร่วมกับบริษัทนำเที่ยวขนาดใหญ่ในตลาดจีนแพ็คเกจราคาพิเศษเสนอขาย ร่วมกับสายการบินและบริษัทนำเที่ยวญี่ปุ่นจัดทำแพ็คเกจ “In Thailand, We are happy” เสนอขายสินค้าใหม่ ๆ เป็นต้น
ทั้งหมดคือกลยุทธ์-แผนการที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯวางเอาไว้ เพื่อเตรียมกู้วิกฤติศรัทธา สร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติ ภายหลังเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์ ให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศตามเดิม
อ่านประกอบ : บันได 4 ขั้น "ประวิตร" แก้วิกฤตระเบิดแยกราชประสงค์ กับ พระอาทิตย์ทรงกลด
หมายเหตุ : ภาพประกอบการท่องเที่ยวจาก 4.bp.blogspot.com