นักธุรกิจรุ่นใหม่ "นักธุรกิจฮาลาล" อีกหนึ่งประตูโอกาสของเออีซี
ในโลกยุคปัจจุบัน การเรียนจบออกมาเป็น "มนุษย์เงินเดือน" ไม่ใช่เรื่องที่น่าภาคภูมิใจนักอีกต่อไป แต่สไตล์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ไม่ต้องถึงกับเป็นแนว "อินดี้" ก็เป็นที่รู้ๆ กันดีว่าแต่ละคนล้วนมีฝันในการสร้าง "ธุรกิจ" หรือ "กิจการ" ที่เป็นของตัวเอง
พูดง่ายๆ คือการมี "แบรนด์" เป็นของตัวเอง ทำให้ตัวเองและความไอเดียของตน "มีตัวตน" ในโลกธุรกิจอันไพศาล ไม่ใช่การเป็นน็อตตัวเล็กๆ ในเครื่องจักรโรงงานอุตสาหกรรมเหมือนเหล่ามนุษย์เงินเดือน...สิ้นเดือนแทบสิ้นใจทั้งหลาย
แต่การประกอบธุรกิจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีความพิเศษกว่าพื้นที่อื่นๆ อยู่นิดหน่อย นั่นก็คือการให้น้ำหนักไปที่ "สินค้าฮาลาล" เพราะดินแดนแห่งนี้มีพี่น้องมุสลิมเป็นสัดส่วนประชากรมากกว่า 80%
แม้การ "เก็ตไอเดีย" เกี่ยวกับธุรกิจสินค้าฮาลาลจะไม่ใช่เรื่องง่ายในเมืองไทย แต่ก็คงไม่ยากเกินไปหากเรามองในแง่ของการเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่รับผิดชอบต่อสังคม
ดร.กูมัจดี ยามีรูเด็ง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสิทธิประโยชน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งมีโครงการเกี่ยวกับการพัฒนานักธุรกิจรุ่นใหม่ชายแดนใต้ เล่าให้ฟังว่า อยากให้สังคมเข้าใจว่าการอยากเป็นนักธุรกิจนั้น ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ แต่จต้องมีการสร้างเบ้าหลอม จึงอยากแชร์ประสบการณ์จากที่ไปดูงานในหลายๆประเทศเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้นำไปพินิจพิจารณา
ในส่วนของจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น อย่างที่ทราบเราคือเปรียบเสมือนเป็น "ประตูของอาเซียน" และเป็นประตูของ "สินค้าฮาลาล"
"ผมไม่อยากให้มองในแง่มูลค่ามากนัก แต่อยากให้มองคุณค่าให้มาก เพราะสังคมทุกวันนี้มองแต่มูลค่าถ้าเรามองที่คุณค่าก่อน อะไรๆ ก็จะเป็นมูลค่าในอนาคตไปเอง" ดร.กูมัจดี ให้แง่คิด
ส่วนการพัฒนาศักยภาพนั้น นักวิชาการผู้นี้ มองว่า มีปัจจัยสำคัญอยู่ 2 อย่าง คือ 1.การเป็นผู้ประกอบการ และ 2.ศักยภาพของสินค้าและบริการ
"การจะเป็นนักธุรกิจได้ สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดต้องดูปัจจัยภายในของคนคนนั้นว่าอยากเป็นมากขนาดไหน มีความสนใจขนาดไหน เพราะถ้าเป็นคนไม่สนใจ ต่อให้ปั้นอย่างไรก็คงไม่เกิด ส่วนศักยภาพของสินค้า เราต้องดูว่าสามารถเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าสินค้าไม่มีคุณภาพ นต่อให้นักธุรกิจเก่งเพียงใด ก็ไม่สามารถทำตลาดไปได้"
สำหรับการพัฒนาศักยภาพสู่นักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่เป็น "นักธุรกิจฮาลาล" ดร.กูมัจดี บอกว่า ไม่ได้มองเพียงแค่ตลาดมุสลิมอย่างเดียว แต่ต้องมองทุกศาสนา และต้องเข้าใจว่าธุรกิจฮาลาลนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจอาหารอย่างเดียว แต่มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริการ และอื่นๆ
"ในประเด็นของฮาลาลนั้น เราไม่ได้แยกว่าสินค้าฮาลาลจะต้องเป็นของคนไทยพุทธหรือของคนมุสลิม แต่เราอยากทำให้เห็นถึงการพัฒนา เพราะมันจะมีการรับรองมาตรฐานอยู่แล้ว คุณจะผ่านฮาลาลได้คุณก็ต้องผ่านสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยก่อน วันนี้องค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยมียุทธศาสตร์อยู่แล้ว รวมไปถึงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและโอท็อปฮาลาลด้วย"
"สิ่งที่เห็นและจะต้องรีบทำ นั่นก็คือการยกระดับโอท็อป หรือวิสาหกิจชุมชน ซึ่งถือว่ามีจำนวนมาก เพราะตัวเลขที่ผมมีนั้น อยู่ในระดับ 3,000 วิสาหกิจ อันนี้คือวิสาหกิจชุมชน ส่วนโอท็อปไม่ต่ำว่า 1,000 ซึ่งเราต้องยกระดับให้เป็นเอสเอ็มอี (วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม) ให้ได้ เพราะถ้าอยู่ในส่วนของวิสาหกิจชุมชนหรือโอท็อป มันก็จะอยู่ในวังวนของการช่วยเหลือ มันก็ไม่สามารถบินเองได้สักที"
"ผมคิดว่าท้ายที่สุด การใช้องค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะธุรกิจเดี๋ยวนี้มีเป็นจำนวนมาก แต่ธุรกิจจะยั่งยืนอยู่ได้ อยู่ที่การใช้องค์ความรู้ ไม่ใช่อยู่ที่การทำตามๆ กัน แต่มันต้องใช้องค์ความรู้ในมหาวิทยาลัย เพราะหลายๆ ประเทศ การเติบโตของธุรกิจต้องมีฐานขององค์ความรู้ในการขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวิจัย และรวมไปถึงเรื่องการทำอาหาร มันจะต้องมีมาตรฐานและการดูแลรักษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่ามีประเด็นปลีกย่อยอีกเป็นจำนวนมาก"
"ผมอยากให้หน่วยงานรัฐเข้ามาร่วมมือ และไม่อยากให้แยกว่าคนนี้เป็นพุทธหรือมุสลิม แต่อยากให้เกิดรูปธรรมและสร้างความเชื่อถือให้ได้ นี่ถือเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า และมันจะกลับไปสู่คุณค่าของตัวนักธุรกิจและสินค้านั้นๆ เอง" เขากล่าวทิ้งท้าย
ฮาลาลคืออะไร?
ในเว็บไซต์ของสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คอลัมน์ "ห้องเรียนฮาลาล" ระบุตอนหนึ่งว่า ฮาลาลเป็นคำภาษาอาหรับ มีความหมายทั่วไปว่า "อนุมัติ" เมื่อนำมาใช้ในทางศาสนา จะมีความหมายว่า สิ่งที่ศาสนาอนุมัติ เช่น อนุมัติให้กิน อนุมัติให้ดื่ม อนุมัติให้ทำ อนุมัติให้ใช้สอย เป็นต้น
"ฮาลาล" เป็นคำที่มีความหมายตรงข้ามกับคำว่า "ฮารอม" ที่มีความหมายทั่วไปว่า "ห้าม" และเมื่อนำมาใช้ในทางศาสนาจะมีความหมายว่า สิ่งที่ศาสนาห้าม
จากความหมายดังกล่าว ฮาลาลจึงไม่ใช่แค่เพียงอาหาร แต่หมายถึงสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารด้วย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าและบริการ วันนี้เราจึงได้ยินคำว่า โรงแรมฮาลาล โรงพยาบาลฮาลาล หรือแม้แต่ภาพยนตร์ฮาลาล นั่นหมายความว่าธุรกิจฮาลาลกว้างไกลมาก ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ธุรกิจอาหารดังที่บางคนเข้าใจ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ดร.กูมัจดี ยามีรูเด็ง