เปิด “มาตรการภาครัฐ” อุ้มแรงงาน-เกษตร-อุตฯ เยียวยาผู้ประสบภัย
ผลกระทบจากมหาอุทกภัย 2554 ทำให้ทางหลวง 535 สายจมน้ำ พื้นที่ปลูกข้าวถูกทำลาย 12% ปริมาณส่งออกข้าว พ.ย.จะหายไป 5 แสนตัน โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมากกว่า 1.48 หมื่นแห่งได้รับผลกระทบแล้ว ส่วนเงินเฟ้อ ต.ค.สูงขึ้น 4.19% เป็นผลจากราคาอาหารที่สูงขึ้น 9.86% นักเศรษฐศาสตร์ต่างประเทศประเมินผลกระทบน้ำท่วมไทยจะเสียหายหนักมากกว่า 3 แสนล้านบาท
............................
วิกฤตน้ำท่วมที่ครอบคลุมหลายพื้นที่ทั่วประเทศ สร้างความเดือดร้อนให้คนไทยสาหัส การให้ความช่วยเหลือจากรัฐระยะแรกเป็นไปแบบเฉพาะหน้า กระทั่ง 11 ต.ค. คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติตั้งคณะกรรมการฟื้นฟู 3 คณะ 1.คณะกรรมการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการโยธา ถนน สาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปา สถานศึกษา โบราณสถาน โดย พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รับผิดชอบ 2.คณะกรรมการด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ดูแล 3.คณะกรรมการด้านสังคมและคุณภาพชีวิต คนด้อยโอกาส การสร้างงาน สุขภาพจิตใจ โดย พล.ต.อ.โกวิทย์ วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบ
และมีอีกหลายมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัย ทยอยออกมาจากรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา พยายามรวบรวมมาตรการต่างๆมานำเสนอ
มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย
ศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย รายงานว่ามีพื้นที่ประสบอุทกภัย 26 จังหวัด 162 อำเภอ 1,297 ตำบล 9,937 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 807,865 ครัวเรือน 2,428,907 คน มีผู้เสียชีวิต 373 ราย สูญหาย 2 คน
ด้านมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน ครม.มีมติให้ความช่วยเหลือค่าเสียหายด้านที่พักอาศัยไม่เกินหลังละ 30,000 บาท และทรัพย์สินที่ประสบอุทกภัยครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(อุทกภัย) ครัวเรือนละ 5,000 บาท พร้อมกันนี้ยังมีการออกสินเชื่อเพื่อการเคหะวงเงิน 30,000 ล้านบาท ดำเนินการโดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน
มาตรการป้องกันโรคระบาด
รายงานจากศูนย์พักพิงขนาดใหญ่ 12 จังหวัด พบผู้ป่วย เช่น โรคตาแดงร้อยละ 2-3 ส่วนใหญ่เกิดจากน้ำสกปรกเข้าตา พบผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ 147 ราย โรคอุจจาระร่วงเฉลี่ยวันละ 170-200 ราย กรมควบคุมโรคได้ส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อสอบสวนควบคุมและหยุดยั้งโรค แต่ไม่พบการแพร่ระบาด
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แนะนำชุดป้องกันโรคง่ายๆที่จำเป็น ได้แก่ 1.ครีมทารักษาโรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา 1 หลอด 2.ครีมรักษาโรคน้ำกัดเท้า 1 หลอด 3.ยาแก้แพ้ 10 เม็ด 4.ยาแก้ปวดลดไข้ 20 เม็ด 5.ผงน้ำตาลเกลือแร่ 2 ซอง 6.พลาสเตอร์ปิดแผล 3 ชิ้น 7.หน้ากากอนามัย 5 ชิ้น 8.ถุงดำ 2 ใบ 9.ยาทากันยุงซอง 2 ซอง 10.เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ 1 หลอดเพื่อฆ่าเชื้อโรค กรณีที่ขาดแคลนน้ำสะอาดล้างมือ ซึ่งรายการเวชภัณฑ์ ยา ดังกล่าวนี้ใช้ได้ง่าย ขณะนี้ได้ผลิตแล้ว 50,000 ชุด เร่งทยอยแจกผู้ประสบภัย
มาตรการช่วยเหลือภาคเกษตร
ครม.เห็นชอบหลักการมาตรการฟื้นฟูเกษตรกรและประชาชนทั่วไปหลังภาวะน้ำลด แบ่งเป็น ด้านพืชช่วยเหลือร้อยละ 55 ของต้นทุนการผลิตรวม โดยช่วยตามพื้นที่เสียหายจริงร้อยละ100 กรณีพืชเสียหาย ช่วยเหลือข้าวไร่ละ 2,098 บาท พืชไร่ไร่ละ 2,921 บาท พืชสวนและอื่นๆไร่ละ 4,908 บาท กรณีพืชสวนและไม้ยืนต้นที่ยังไม่ตายและฟื้นฟูได้ ช่วยเหลือไร่ละ 2,454 บาท
ประมงและปศุสัตว์ ช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติการช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2552 ส่วนเกินจากการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ฯ ให้ช่วยครึ่งหนึ่งของความเสียหายที่เกินจากเกณฑ์ปกติ ประมง ปลา ช่วยเหลือไร่ละ 3,406 บาท รายละไม่เกิน 5 ไร่ กุ้ง ปู หอย ช่วยเหลือไร่ละ 9,098 บาท รายละไม่เกิน 5 ไร่ สัตว์น้ำเลี้ยงในกระชัง/บ่อ ช่วยเหลือตารางเมตรละ 257 บาท รายละไม่เกิน 80 ตารางเมตร หากความช่วยเหลือต่างๆคำนวณแล้วต่ำกว่า 257 บาท ก็ให้ปรับเป็นรายละ 257 บาท
ปศุสัตว์กรณีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์เสียหายแปลงหญ้าสาธารณะ ช่วยเป็นเมล็ดพืชอาหารสัตว์ไม่เกินไร่ละ 2 กก. และหรือใช้หน่อพันธุ์ไม่เกินไร่ละ 250 กก. แปลงหญ้าส่วนตัวเกษตรกรให้รายละไม่เกิน 20 ไร่ และใช้เมล็ดพืชอาหารสัตว์ไม่เกินไร่ละ 2 กก. และหรือใช้หน่อพันธุ์ไม่เกินไร่ละ 250 กก. กรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย ให้ความช่วยเหลือสัตว์ เช่น โคไม่เกิน 2 ตัว กระบือไม่เกิน 2 ตัว สุกร ไม่เกินรายละ 10 ตัว เป็ดพันธุ์ไข่และพันธุ์เนื้อ ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว ไก่พื้นเมือง ไม่เกินรายละ 300 ตัว ไก่ไข่ ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว
ธกส.ยังมี 2 โครงการ 1.สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพเกษตรฯวงเงินรวม 30,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติร้อยละ 3 ต่อปี 2.สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร 30,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบันร้อยละ 7 ต่อปี) ไม่น้อยกว่า 3-5 ปี ซึ่งเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.ก็ สามารถขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าได้ สำหรับสมาชิกสหกรณ์การเกษตรและเกษตรกรที่เป็นลูกค้าธนาคารพาณิชย์ มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลังประสานให้ได้รับความช่วยเหลือในลักษณะเดียวกัน คือกรณีลูกค้าประสบภัยและเสียชีวิตให้ธ.ก.ส. ปลดหนี้ให้กับทายาทหรือคู่สมรสและรับเป็นลูกค้าเพื่อให้สินเชื่อฟื้นฟูการผลิต กรณีประสบภัยร้ายแรงจะปรับปรุงโครงสร้างหนี้และพักชำระหนี้ ซึ่งกระทรวงการคลังเตรียมเสนอ ครม.อนุมัติงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยช่วงพักชำระหนี้ 3 ปีแทนเกษตรกร
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความเสียหายเบื้องต้น มีสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ได้รับความเสียหาย 52 จังหวัด สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร 271 แห่ง 49,304 ราย ต้นทุนเงินกู้ที่มีผลกระทบต่อการชำระหนี้ 3,246.148 ล้านบาท ประมาณการที่จะขอชดเชยปีละ 306.594 ล้านบาท 3 ปี เป็นเงิน 919.782 ล้านบาท
มาตรการช่วยเหลือแรงงาน
ข้อมูลจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัยในกรุงเทพฯ 5 เขต โรงงานได้รับผลกระทบกว่า 1,855 แห่ง ลูกจ้างต้องหยุดงาน 23,166 คน ทั้งนี้ทั่วประเทศมีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 752,439 คน ในสถานประกอบการ 19,251 แห่ง และมีลูกจ้างกว่า 3,000 คนที่ถูกเลิกจ้างใน 2 จังหวัด คือปทุมธานี 4 แห่ง พระนครศรีอยุธยา 6 แห่ง
ทั้งนี้มีสถานประกอบการ 320 แห่ง 38 จังหวัด แจ้งความประสงค์รับผู้ใช้แรงงานที่ประสบอุทกภัยเป็นการชั่วคราว 42,090 อัตรา ส่วนใหญ่อยู่ในนครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ และชลบุรี
ขณะที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ โดยขณะที่สถานประกอบการหยุดหรือชะลอการผลิต ได้จัดอบรมเพิ่มทักษะหรือหลักสูตรที่จำเป็นให้แรงงานในศูนย์พักพิงผู้อพยพ รัฐสนับสนุนค่าอาหาร-เบี้ยเลี้ยง 120 บาทต่อวัน ตลอดจนจัดส่งแรงงานที่หยุดงานไปเป็นกำลังการผลิตในโรงงานที่ขาดแรงงาน และดำเนินโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง โดยสนับสนุนเงินให้กับลูกจ้างรายละ 3,000 บาทต่อเดือน 3 เดือน มีเงื่อนไขให้นายจ้างทำ MOU ว่าจะไม่เลิกจ้างและนายจ้างต้องจ่ายเงินเดือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างเดิม
ทั้งนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระบุว่าพนักงานชั่วคราวในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อยุธยา ได้ร้องทุกข์ที่ศูนย์แรงงานช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่านายจ้างบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 2,000 คน แทนประกาศปิดโรงงาน เพื่อจะไม่ต้องจ่ายค่าจ้างร้อยละ 75 ตามมาตรา 75 กฎหมายคุ้มครองแรงงาน นอกจากนี้ยังมีแรงงานเหมาค่าแรง เหมาช่วงมาร้องทุกข์ว่า ขาดการติดต่อกับนายจ้าง จึงวิตกกังวลว่านายจ้างอาจฉวยโอกาสในวิกฤตครั้งนี้ลอยแพคนงานได้
มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย
ครม.อนุมัติมาตรการผู้ประกอบการรายย่อยรวมถึงพ่อค้า-แม่ค้ารายย่อย โดยประสานสมาคมธนาคารไทยเรื่องปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ 120,000 ล้านบาท บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมค้ำประกันเป็นกรณีพิเศษจาก 15% เป็น 30% ยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3 ปี ขณะที่ธนาคารที่จะปล่อยกู้คิดดอกเบี้ย 3% ต่อปี 3 ปี ด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ธนาคารพาณิชย์จะร่วมให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำด้วยแหล่งละ 20,000 ล้านบาท ด้านสำนักงานประกันสังคมจะนำเงิน 10,000 ล้านบาทฝากธนาคารพาณิชย์เพื่อให้นำไปปล่อยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง
มาตรการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม
ครม.อนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมถึงนักลงทุนต่างประเทศ 65,000 ล้านบาท พร้อมเห็นชอบให้ช่วยเหลือการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงเขตอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องเร่งรัดสร้างเขื่อนให้ได้มาตรฐานเพื่อทันฤดูฝนปี 55 ซึ่งจัดเตรียมสินเชื่อให้นิคม 15,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำพิเศษ มีธนาคารออมสินเป็นแหล่งสินเชื่อ อีกทั้งจัดสินเชื่อเพื่อให้การดำเนินธุรกิจต่อเนื่องโดยเจรจากับธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(เจบิก) ซึ่งจะช่วยนำเงินมาฝากกับธนาคารพาณิชย์ไทย 50,000 ล้านบาท เพื่อให้นำมาปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ นอกจากนี้ยังจะขยายสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน รวมถึงออกวีซ่าและใบอนุญาตทำงานแก่ชาวต่างชาติที่จะเดินทางมาช่วยฟื้นฟูโรงงานด้วย
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่าได้ตั้งคณะกรรมการ 8 ชุด โดย 7 ชุดดูแล 7 นิคมที่ได้รับผลกระทบ และอีก 1 ชุดจะดูแลให้การทำงานประสานงานกันอย่างราบรื่น ขณะที่แรงงานที่ได้รับผลกระทบร้อยละ 90 ทางภาคเอกชนยังสามารถดูแลได้ใน ส่วนที่เหลือรัฐบาลจะดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่
“การฟื้นฟูหลังน้ำลด รัฐบาลจะเริ่มที่พระนครศรีอยุธยา โดยวางแผนร่วมกับผู้ว่าราชการและผู้ประกอบการใน 7 นิคมที่ถูกน้ำท่วม โดยเริ่มใน 3 นิคมฯคือโรจนะ สหรัตนนคร และไฮเทค อุปกรณ์ฟื้นฟูบางส่วนอาจจะต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ”
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่านิคมฯ แต่ละแห่งจะใช้เวลาฟื้นฟูที่ไม่เท่ากันเพราะต้องสูบน้ำออก ตรวจสอบความเสียหาย ตรวจสอบระบบไฟฟ้าภายใน คาดใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ส่วนโรงงานใดจะกลับมาเริ่มผลิตสินค้าได้เร็วช้าขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดขึ้น
ด้าน นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการบริษัท นวนคร กล่าวว่าเม็ดเงินที่จะต้องใช้ฟื้นฟู 7 นิคมน่าจะอยู่ที่ 5 - 6 พันล้านบาท และคาดว่ากระบวนการฟื้นฟูจะใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน
..................................
นั่นคือนโยบาย-มาตรการต่างๆที่คลอดออกมาในห้วงภาวะวิกฤติน้ำท่วม ซึ่งต้องติดตามจับตากันต่อไปว่ามาตรการให้ความช่วยเหลือจะเข้าถึงประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนตัวจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงมาตรการลมและนโยบายขายฝัน ที่ไม่ได้เกิดผลจริงจังในทางปฏิบัติ!!
ที่มาภาพ : http://yoddiary.wordpress.com/2011/10/18/อมตะ-เหมราช-ส้มหล่น-ลุ้น/
http://www.rakbankerd.com/agriculture/print.php?id=1332&s=tblrice