ป่วนหนักยะลา-นราฯ...ทหารบอกสร้างข่าว แล้วชาวบ้านบอกว่าอะไร?
เหตุรุนแรงที่ชายแดนใต้ซึ่งมีการสร้างสถานการณ์จนกระเพื่อมหนักตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว โดยเฉพาะไม่กี่วันก่อนวาระครบรอบ 7 ปีตากใบ (25 ต.ค.) กระทั่งถึงวันนี้ (4 พ.ย.) ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติความร้อนแรงลง สร้างความฉงนสนเท่ห์ไปทั่วว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะภาพรวมของสถานการณ์ช่วงก่อนหน้านั้นก็อยู่ในภาวะทรงๆ
ที่สำคัญกระแสในสังคมไทยยังคงให้น้ำหนักไปที่ "มหาอุทกภัย" ที่ทะยอยถล่มพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานครตามลำดับ โดยเฉพาะภาพแต่ละภาพที่ขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์รายวัน เช่น น้ำท่วมสูงถึงท้องเครื่องบินในท่าอากาศยานดอนเมือง ก็สร้างความฮือฮาไปทั่วทั้งโลก ไม่เฉพาะในประเทศไทย
แต่ขบวนการก่อความรุนแรงที่ชายแดนใต้ดูจะไม่สนกระแสใดๆ หนำซ้ำยังคงเดินหน้าสร้างสถานการณ์ที่ก่อความสูญเสียขนาดใหญ่ แม้บางเหตุการณ์จะมีผลเพียงทางด้าน "จิตวิทยา" คือไม่ได้สร้างความสูญเสียในทางลึก (ชีวิตและทรัพย์สิน) มากมายนัก แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการสร้างผลกระทบในทางกว้าง (จิตวิทยามวลชน) ย่อมย้อนมาส่งผลในทางลึกด้วยเหมือนกัน (อพยพย้ายถิ่น เศรษฐกิจชะงักงัน)
โดยเฉพาะเหตุการณ์ "บึ้มป่วนเมืองยะลา" ด้วยการลอบวางระเบิดและยิงลูกระเบิดในเขต อ.เมืองยะลา มากถึงกว่า 30 จุดในช่วงค่ำถึงเที่ยงคืนของวันที่ 25 ต.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 7 ปีตากใบ กับเหตุการณ์บึ้มป่วนนราฯ ด้วยการลอบวางระเบิด 18 จุดในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน ครอบคลุมพื้นที่ 8 อำเภอของ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ซึ่งฝ่ายความมั่นคงพยายามบอกว่าระเบิดที่คนร้ายใช้เกือบทั้งหมดเป็นระเบิด "แรงต่ำ" ลูกเล็กๆ ประกอบใส่ในกระป๋องน้ำอัดลมเท่านั้น จึงน่าจะหวังผลสร้างข่าวเพื่อสู้กับข่าว "น้ำท่วม" ซึ่งยึดพื้นที่สื่อกระแสหลักมานานร่วมเดือนมากกว่า
แต่ต้องไม่ลืมว่า 7 วันก่อนหน้าเหตุป่วน 18 จุดที่นราธิวาส ก็เพิ่งเกิดเหตุบุกโจมตีป้อมจุดตรวจในเขตเมืองนราฯ และวางระเบิดเพลิงเผาทำลายร้านค้าของชำกลางเมืองเสียหายยับอีก 2 ร้าน มีผู้เสียชีวิตมากถึง 7 คน และบาดเจ็บอีก 8 คน
นอกจากนั้น แต่ละวันในห้วง 2 สัปดาห์มานี้ ยังเกิดเหตุรุนแรงขึ้นแทบทุกวัน และสร้างความสูญเสียรายวันอย่างน่าตกใจ สวนทางกับข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงที่ว่า สมาชิกขบวนการก่อความไม่สงบเหลือน้อยลงทุกที จนต้องระดมคนมาก่อเหตุใหญ่นานๆ ครั้งในลักษณะ "รวมการเฉพาะกิจ" แต่การสร้างสถานการณ์กระจายไปในหลายพื้นที่ หรือพื้นที่เดียวแต่มากด้วยจำนวน ย่อมทำให้ข้อสันนิษฐานนี้มีน้ำหนักน้อยลงไป
ยิ่งกว่านั้น จากสถานการณ์ชายแดนใต้ที่มีความขัดแย้งผสมปนเปกันไปหมดทั้งเรื่องแบ่งแยกดินแดน ผลประโยชน์ ธุรกิจผิดกฎหมาย การเมืองท้องถิ่น แย่งชิงพื้นที่ทำกินทั้งบนบกและในทะเล หรือแม้กระทั่งชู้สาว ทำให้การประเมินเบื้องหลังของสถานการณ์ในแต่ละช่วงทำได้ยากลำบากยิ่งขึ้น (ยกเว้นพวกวิเคราะห์มั่ว หรือวิเคราะห์ไปเรื่อย หรือวิเคราะห์เพื่อหวังผลทางใดทางหนึ่ง)
รัฐชำแหละ 6 ปัจจัยกลุ่มป่วนใต้ "จัดหนัก"
แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานด้านความมั่นคง ยอมรับว่า ไม่สามารถฟันธงได้เหมือนกันว่ากลุ่มที่ก่อเหตุรุนแรงในช่วงนี้มีเป้าหมายอะไร เพราะกลุ่มผู้ก่อเหตุไม่เคยออกแถลงการณ์หรือประกาศความต้องการอย่างชัดเจน แต่ฝ่ายความมั่นคงก็มีข้อสันนิษฐานที่มีน้ำหนักความเป็นไปได้หลายข้อ (ซึ่งการก่อเหตุครั้งหนึ่งอาจมีเป้าหมายหรือมูลเหตุจูงใจหลายประการ) ได้แก่
1.ต้องการสร้างข่าว เพราะช่วงนี้ประเทศไทยกำลังได้รับความสนใจจากนานาชาติจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ จึงต้องเร่งก่อเหตุเพื่อแย่งชิงพื้นที่สื่อให้สังคมโลกได้รับรู้ว่ามีกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวหรือยังคงเคลื่อนไหวอยู่ที่ชายแดนใต้ ซึ่งข้อสันนิษฐานนี้ทางฝ่ายความมั่นคงให้น้ำหนักมากที่สุด
2.ต้องการกดดันให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เพราะเป็นช่วงที่องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกฎหมาย และองค์กรนิสิตนักศึกษาในพื้นที่กำลังเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคักพอดี การเร่งก่อเหตุยิ่งทำให้เกิดภาพเสมือนว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไร้ผลต่อการควบคุมความรุนแรงอย่างแท้จริง
3.ต้องการประกาศศักดาแนวร่วมรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการฝึกมา ทั้งยังสื่อสารให้คนในพื้นที่ (และนอกพื้นที่) ได้รู้ว่ากลุ่มขบวนการยังคุมสถานการณ์ได้ สร้างสถานการณ์ได้ มีความเคลื่อนไหว และยังมีสมาชิกใหม่เข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง
4.เป็นช่วงที่มักมีการนัดประชุมกันระหว่างแกนนำขบวนการกับผู้สนับสนุน (ทั้งด้านนโยบายและการเงิน)( ที่ประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง จึงต้องเร่งก่อเหตุเพื่อแสดงผลงาน ขณะเดียวกันก็เพื่อส่งสัญญาณให้รัฐไทยยอมเจรจา ซึ่งข่าวบางกระแสระบุว่ามีการส่งข้อเรียกร้องผ่านคนกลางมายังรัฐบาลไทยชุดใหม่แล้วด้วย
5.กำลังจะมีการเลือกตั้งผู้นำบางสาขาในพื้นที่ จึงมีการก่อเหตุรุนแรงในลักษณะประทุษร้ายต่อชีวิต หรือข่มขู่คู่แข่ง หรือสร้างสถานการณ์เพื่อใส่ร้ายป้ายสีอีกฝ่าย
6.เป็นการก่อเหตุเพื่อสะกิดแผลเหตุการณ์ตากใบ หรือการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 85 ราย
ชาวบ้านชี้ปม "ตากใบ" จี้รัฐเร่งให้ความเป็นธรรม
6 ข้อข้างบนเป็นข้อสันนิษฐานของฝ่ายความมั่นคง ส่วนข้อใดจะตรงกับความจริงมากน้อยแค่ไหนเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องใช้วิจารณญาณ แต่สำหรับชาวบ้านและคนทำงานรากหญ้าที่ชายแดนใต้คิดอย่างไร เป็นอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
นายบูดีมัน สะเตาะ ครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาแห่งหนึ่งใน จ.ยะลา กล่าวว่า เหตุระเบิดในเขตเทศบาลนครยะลาเมื่อวันที่ 25 ต.ค. หลายคนเห็นตรงกันว่าน่าจะเป็นฝีมือกลุ่มแนวร่วมที่ต้องการตอกย้ำและส่งสัญญาณให้รู้ถึงความเจ็บปวดของผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ เพื่อไม่ให้ลืมเรื่องที่เกิดขึ้นว่ารัฐบาลในสมัยนั้นดำเนินการอะไรไว้จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และจนถึงวันนี้รัฐบาลก็ยังไม่ได้ให้ความเป็นธรรม
"จริงอยู่ที่มีการก่อเหตุจากหลายกลุ่ม แต่ประเด็นสำคัญเท่าที่ฟังจากคนในพื้นที่คือเรื่องตากใบ ฉะนั้นวิธีการแก้ไขปัญหา รัฐต้องเร่งสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นให้ได้เสียก่อนจึงจะสามารถดึงมวลชนมาเป็นพวกได้จริง แต่ที่ผ่านมารัฐแก้มั่ว ไหลตามน้ำไปเรื่อย"
"ปกครองพิเศษ"แก้ไม่ได้ – แนะปรับการใช้ พ.ร.ก.
ส่วนที่มีองค์กรภาคประชาสังคมและนักวิชาการบางกลุ่มสร้างกระแสให้จัดรูปการปกครองแบบพิเศษ เช่น นครปัตตานี หรือปัตตานีมหานคร เพื่อแก้ปัญหานั้น นายบูดีมัน กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการปลดชนวนปัญหา เนื่องจากความไม่สงบที่เกิดขึ้นมามีความซับซ้อนมากกว่าที่คิด
"สิ่งแรกคือรัฐบาลต้องดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้ได้ และต้องเลิกพฤติกรรมเลือกปฏิบัติ เช่น เจ้าหน้าที่ตามด่านต่างๆ เรียกตรวจเด็กวัยรุ่นที่เป็นมุสลิมมากกว่าเด็กวัยรุ่นที่นับถือศาสนาพุทธ ทั้งๆ ที่มีเด็กไทยพุทธเคยออกมาก่อเหตุไล่ฟันเด็กมุสลิมหลายครั้งแต่ไม่เป็นข่าว ที่สำคัญการคัดเลือกบุคคลไปเป็นอาสาสมัครทำงานให้รัฐ ต้องตรวจสอบประวัติอย่างถี่ถ้วนเป็นพิเศษ อย่าปล่อยให้พวกติดยาเสพติดเข้าไป โดยเฉพาะ อส.(อาสารักษาดินแดน) และทหารพราน ไม่อย่างนั้นจะสร้างปัญหามากขึ้น"
สำหรับกระแสที่มีการรณรงค์เรียกร้องให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น นายบูดีมัน กล่าวว่า มีการสร้างกระแสในพื้นที่จริงๆ แต่ต้องเข้าใจว่าในสามจังหวัดยังมีความไม่สงบเกิดขึ้น และไม่รู้ว่าจะยุติลงเมื่อใด ฉะนั้นเจ้าหน้าที่รัฐควรมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไว้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา แต่ควรปรับใช้ไม่ให้กระทบกับผู้บริสุทธิ์ และกำหนดรูปแบบการใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีปัญหาแตกต่างกัน
หลายปัญหาผสมโรง แต่อยุติธรรมสำคัญที่สุด
นางแยนะ สะแลแม ครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ กล่าวว่า ทุกวันนี้รัฐยังไม่ได้สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นจริง หนำซ้ำหลายๆ ครั้งยังพูดเหมือนเป็นการตอกย้ำความรู้สึกของผู้สูญเสียอีก จึงทำให้บาดแผลยังมีอยู่ แม้หลายคนจะพูดว่า ลืมไปแล้ว แต่ลึกๆ ยังฝังใจ จึงเชื่อว่าเหตุการณ์ระเบิดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีส่วนเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ตากใบด้วย แต่เป็นเพียงส่วนเดียว เพราะยังมีอีกหลายส่วนที่เกิดจากยาเสพติด คนมีสี การเมือง ผลประโยชน์
"ทุกอย่างมีการสร้างสถานการณ์แบบผสมโรงกัน เราจะไปพูดว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนทำทั้งหมดคงไม่ใช่แล้วในขณะนี้ เพราะปัญหามันซับซ้อนขึ้นกว่าอดีตมาก ปัจจุบันเราจะมองปัญหาแบบเหมารวมอย่างเมื่อก่อนไม่ได้ ต้องมองดีๆ และมองให้ลึกจึงจะทำให้คลายปมได้" นางแยนะ กล่าว
อย่างไรก็ดี ในทัศนะของแยนะ นางเห็นว่าการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง เป็นตัวชี้วัดว่ารัฐล้มเหลวในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะงานด้านมวลชน
"อย่าลืมว่าการก่อเหตุแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้คนมาก และใช้อุปกรณ์ต่างๆ แต่ทำไมพวกเขายังสามารถทำลายระบบที่รัฐสร้างขึ้นมาได้ การแก้ปัญหาง่ายนิดเดียว คือรัฐแค่สร้างความเป็นธรรม ทุกอย่างก็จบแล้ว หากความเป็นธรรมเกิดขึ้น กลุ่มวัยรุ่นที่มีแนวคิดต่างจากรัฐเขาจะเห็นเองและเลิกล้มการกระทำไปเองในที่สุด" นางแยนะ กล่าว
ไทยพุทธผวาพื้นที่น่ากลัว-วอนอย่าเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
นายฉัตรชัย วิทยสุนทร ผู้นำทางธรรมชาติในเขตเทศบาลตำบลรือเสาะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า ตอนนี้รือเสาะกลายเป็นพื้นที่น่ากลัวไปแล้ว เพราะกลุ่มก่อความไม่สงบอาละวาดหนักขึ้นทุกวัน ทั้งยังมีจำนวนมากขึ้น ขนาดก่อนเกิดเหตุระเบิดนับสิบจุดครั้งล่าสุด กลุ่มก่อความไม่สงบจำนวนหนึ่งรวมตัวประชุมวางแผนกัน แต่รัฐก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้ คนร้ายสามารถก่อเหตุได้ตามเป้าหมาย นี่คือสาเหตุที่มองว่า อ.รือเสาะ กลายเป็นพื้นที่น่ากลัวไปแล้ว
"คนนอกพื้นที่อาจจะไม่รู้ว่ารือเสาะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ มีพี่น้องไทยพุทธอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก กลุ่มคนร้ายจึงต้องการขับไล่พี่น้องไทยพุทธและทำลายระบบเศรษฐ์กิจในพื้นที่ ประกอบกับมียาเสพติดระบาดหนัก ปัญหาการเมืองก็แรง มันก็เลยเกิดการผสมโรงกันไปด้วย"
นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ทางออกของปัญหาภาคใต้ไม่ควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะยังมีความจำเป็น และไม่ใช่การใช้เขตปกครองพิเศษตามที่มีบางกลุ่มเรียกร้อง แต่รัฐต้องสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น เพราะทุกวันนี้รัฐยังไม่ได้ทำเลย บางครั้งจึงยังมีการสร้างเงือนไขกันอยู่ จนทำให้ชาวบ้านรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ที่จะร่วมมือกับรัฐ
ผู้นำ อปท.บอกต้องเพิ่มสัดส่วนมุสลิมเป็น จนท.รัฐ
นายอาแว สารู นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กาเยาะมาตี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า เหตุการณ์ระเบิดหลายสิบจุดที่เกิดขึ้นทั้ง 2 จังหวัด (จ.ยะลา และนราธิวาส) ที่ผ่านมา เป็นการสร้างสถานการณ์แบบรวมเหตุการณ์เพื่อแสดงอำนาจว่ากลุ่มผู้ก่อการยังมีอยู่ ทั้งที่มีกำลังเจ้าหน้าที่เต็มบ้านเต็มเมืองขนาดนี้ก็ยังมีศักยภาพพอที่จะก่อเหตุรุนแรงได้
"ผมยอมรับว่ามันยากที่จะสกัด เพราะรัฐเองก็ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับพวกเขา โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูญเสีย ทำให้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งมีความคิดเข้าข้างพวกนี้อยู่ การวางตัวของรัฐยังเหมือนในอดีต ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ปัญหาแบบนี้ถึงจะเอาเขตปกครองพิเศษมา หรือยกเลิก พ.ร.ก.ก็ไม่ได้ผล เว้นแต่รัฐจะปรับเปลี่ยนบุคลากรในการทำงาน โดยการเอาคนในพื้นที่มาทำงานให้มากขึ้น ก็น่าจะลดความเงื่อนไขได้ระดับหนึ่ง"
นายอาแว ยังชี้ด้วยว่า การที่รัฐปรับตัวช้า ทำให้ปัญหาชายแดนใต้ยืดเยื้อ
"ผมพูดเท่าไหร่ บอกอย่างไรก็ไม่เคยเกิดการเปลี่ยนแปลง ตามเวทีต่างๆ หรือในการสัมมนาโครงการทุกๆ ครั้งที่ไปร่วม ผมก็พยายามพูด เพราะการใช้คนนอกพื้นที่มาทำงานมันสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นได้ยาก ขนาดคำว่า ‘อิสลาม’ เจ้าหน้าที่บางหน่วยที่ลงมาทำงานยังไม่รู้จัก มันก็ยากที่จะแก้ปัญหาได้ ความไม่รู้วัฒนธรรม ไม่รู้ประเพณี ไม่รู้เรื่องในสิ่งที่กำลังทำอยู่ มันก็เท่ากับไม่รู้ปัญหาที่แท้จริง แล้วก็แก้ไปมั่วๆ ตามที่นายสั่ง แล้วก็สร้างเงื่อนไขบ้างในบางครั้ง เมื่อเกิดปัญหาก็กล่าวขอโทษ จากนั้นก็กลับไป ปัญหาก็ไม่จบ” นายอาแว ระบุ
ทั้งหมดนี้คือข้อสันนิษฐานและทัศนะจากหลากหลายมุมมองที่อธิบายสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ ณ ปัจจุบัน!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ความสูญเสียจากเหตุการณ์ระเบิดป่วนยะลาจุดหนึ่งในหลายสิบจุด เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2554 (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)