“กรณ์” เผยกองทุนออมแห่งชาติ อยู่ในขั้นตอนวุฒิสภาฯ
กอช.ผ่านสภาผู้แทนราษฎรวาระ 2-3 เข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา กำหนดสมาชิกต้องไม่อยู่ในกองทุนชราภาพอื่นๆ จ่ายสะสมเดือนละ 500-1,100 บาท
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. .... ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 2 และ 3 แล้ว และกำลังเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาต่อไป
โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร มีดังนี้ 1) กองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) เป็นหน่วยงานของรัฐ และมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่ราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการกองทุน และอาจมอบหมายให้บุคคลใดดำเนินการแทนตามความเหมาะสมได้
2) ผู้มีสิทธิเป็นสมาชิก กอช. จะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และไม่เป็นสมาชิกของกองทุนเพื่อการชราภาพใดๆที่มีการสมทบเงินจากรัฐหรือนายจ้าง เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น กองทุนประกันสังคม (ซึ่งส่งเงินเพื่อได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เป็นต้น
ทั้งนี้ได้มีการขยายอายุของผู้มีสิทธิเป็นสมาชิก กอช. ที่อายุ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและสมัครภายใน 1 ปีนับแต่วันที่กองทุนเปิดรับสมาชิก ให้เป็นสมาชิกต่อไปได้อีก 10 ปี ซึ่งผู้สมัครในช่วงเวลาดังกล่าวนี้จะรวมถึงผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ด้วย
3) การจ่ายเงินเข้ากองทุนมาจาก 2 ฝ่าย คือ 3.1) สมาชิกจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 50 บาท แต่ไม่เกินจำนวนที่จะกำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งจะกำหนดไว้ 1,100 บาทต่อเดือน 3.2) รัฐบาลจ่ายเงินสมทบให้แก่สมาชิกตามระดับอายุของสมาชิก และเป็นอัตราส่วนกับจำนวนเงินที่สมาชิกสะสมเข้ากองทุน โดยการจ่ายเงินสมทบในระยะแรกจะกำหนดในกฎกระทรวง ดังนี้
อายุสมาชิก | อัตราเงินสมทบ | เงินสมทบสูงสุด |
ไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี | ร้อยละ 50 ของเงินสะสม | ไม่เกิน 600 บาทต่อปี |
มากกว่า 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี | ร้อยละ 80 ของเงินสะสม | ไม่เกิน 960 บาทต่อปี |
มากกว่า 50 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี | ร้อยละ 100 ของเงินสะสม |
ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี |
4) รัฐบาลรับประกันให้สมาชิกได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการนำเงินสะสมและเงินสมทบไปลงทุนไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 12 เดือน โดยเฉลี่ยของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ 5 แห่ง โดยจะคำนวณเปรียบเทียบผลตอบแทนที่ได้รับกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำดังกล่าวในวันที่สมาชิกสิ้นสมาชิกภาพเพราะอายุครบ 60 ปี หรือเสียชีวิต .