ถกปัญหารัฐปิดกั้นข้อมูล ชนวน“ทุจริต” กินสังคมไทย-แก้แล้วได้อะไร?
“…เพราะถ้าประชาชนรู้แบบนี้ เท่ากับว่ารู้ดีกว่าสื่อ เพราะก่อนหน้านี้สื่อต้องเหงื่อตกมากกว่าจะไปซอกซอนเอาข้อมูล ด้านประชาชนเองกว่าจะได้ข้อมูลเรียกแล้วเรียกอีกก็ยังไม่ได้ แต่ถ้าเปิดเผยแบบสิงคโปร์จะเป็นการพัฒนาสื่อครั้งสำคัญ เพราะสื่อจะกลายเป็นการทำข่าวแบบเจาะลึก และสืบสวนสอบสวน อย่างเช่น สำนักข่าวอิศรา หรือสำนักข่าวไทยพับลิก้า…”
เป็นหนึ่งในวาระที่ถูก “ขุด” ขึ้นมาพูดในรอบหลายปีที่ผ่านมา สำหรับการ “เปิดเผย” ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ !
เพราะเท่าที่ผ่านมาการจะควานหาเอกสารจากทางราชการมาเปิดเผยต่อสาธารณะ เป็นเรื่องที่ยากเย็นอย่างยิ่ง บางครั้งยื่นขอหน่วยงานราชการไปหลายรอบแล้วไม่ได้ก็มี มักอ้างนู่นอ้างนี่อยู่เป็นประจำ
โดยเฉพาะเอกสารในโครงการขนาดยักษ์ ที่มัก “ดำมืด” แทบจะตลอดมา หากไม่ปรากฏเป็นข่าวดังแล้ว ก็แทบจะไม่มีทางรู้เลยว่า รายละเอียดโครงการดังกล่าวมีอะไร อย่างไรบ้าง ?
อย่างไรก็ดี เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักข่าวออนไลน์ “ไทยพับลิก้า (Thaipublica)” ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดงานเสวนา “พลังการเปิดเผยข้อมูล เพื่อความโปร่งใส-อนาคตประเทศไทย”
โดยเชิญวิทยากรมากความสามารถ และเกี่ยวข้องในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็น “วิชา มหาคุณ” กระบี่มือหนึ่งแห่ง ป.ป.ช. “บรรยง พงษ์พานิช” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) “วิริยะ รามสมภพ” นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) “สฤณี อาชวานันทกุล” ผู้ก่อตั้งไทยพับลิก้า รวมถึงนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นต้น
เพื่อ “หารือ” ถึงข้อจำกัดในการเสาะหาข้อมูล รวมถึงเหตุใดรัฐจึงไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้โดยง่าย ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงความเห็นของแต่ละฝ่ายมานำเสนอกันชัด ๆ ดังนี้
“วิชา” เปิดฉากอธิบายว่า การที่ประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลมีความสำคัญมาก เพราะถ้าประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ จะรู้ว่าอะไรเกี่ยวกับทุจริต รู้ว่าจะแจ้งเบาะแส แจ้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับใคร ได้ประการใดบ้าง
โดยยกกรณีการไต่สวนคดีโครงการรับจำนำข้าว ร่ายเรียงเหตุการณ์ว่า มีม็อบมาปิดสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อไม่ให้ไต่สวน แต่ ป.ป.ช. ก็ใช้วิธีเผยแพร่ข้อมูลบอกความผิดปกติในโครงการนี้ กระทั่งประชาชนเริ่มคล้อยตาม และเห็นว่าโครงการดังกล่าวผิดปกติอย่างไร
ก่อนจะยืนยันว่า ความคิดเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารไม่ได้เพิ่งเริ่มขึ้น แต่มีในยุโรปมาเกือบจะร้อยปีแล้ว !
เขายืนยันว่า ถ้าใครคิดว่าการทุจริตไม่เป็นไร ถือว่าเป็นการทำลายการเปิดเผยข้อมูลตั้งแต่แรก เพราะคุณคิดจะปกปิด จึงเกิดการคอร์รัปชั่นขึ้น วิธีการแก้ไขปัญหาคือต้องเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนต่อการเปิดเผยข้อมูลของรัฐ รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับรู้ทั้งหมด
“ขณะที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติให้คะแนนเราสอบตกตลอดเวลา เราก็ถามว่ามาจากอะไร เขาก็บอกว่ามาจากการที่เราเปิดเผยข้อมูลน้อย ดังนั้นการที่คนเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้จึงมีความสำคัญมาก ถึงมากที่สุด”
พร้อมกับยกตัวอย่าง “สิงคโปร์โมเดล” ที่ว่า หากมีบัตรประชาชนไปเสียบกับคอมพิวเตอร์ไม่ว่าเครื่องไหน จะสามารถดูงบประมาณของภาครัฐได้หมด และหากเป็นแบบนี้ เขายืนยันว่า “สื่อ” ตกงานกันหมดแน่
“เพราะถ้าประชาชนรู้แบบนี้ เท่ากับว่ารู้ดีกว่าสื่อ เพราะก่อนหน้านี้สื่อต้องเหงื่อตกมากกว่าจะไปซอกซอนเอาข้อมูล ด้านประชาชนเองกว่าจะได้ข้อมูลเรียกแล้วเรียกอีกก็ยังไม่ได้ แต่ถ้าเปิดเผยแบบสิงคโปร์จะเป็นการพัฒนาสื่อครั้งสำคัญ เพราะสื่อจะกลายเป็นการทำข่าวแบบเจาะลึก และสืบสวนสอบสวน อย่างเช่น สำนักข่าวอิศรา หรือสำนักข่าวไทยพับลิก้า”
ส่วน “บรรยง” ระบุว่า นอกเหนือจากปัญหาคอร์รัปชั่นแล้ว อีกปัญหาหนึ่งคือประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการทำงานยังไม่พอ ดังนั้นเรื่องข้อมูลข่าวสารจะสามารถช่วยผลักดันภาครัฐให้มีความโปร่งใส นั่นคือไม่มีการทุจริตรั่วไหล และทำให้ประเทศพัฒนาขึ้นได้
สำหรับกลไกที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นนั้นมี 4 อย่าง ได้แก่ 1.ความโปร่งใสของข้อมูลข่าวสาร 2.ความเชี่ยวชาญในการติดตามข้อมูลข่าวสารนั้น ๆ 3.ต้องมีส่วนร่วมกับหลายภาคส่วน และ 4.สื่อต้องเข้าถึงประชาชน
“แต่เดิมคนอยากปราบคอร์รัปชั่นก็เรียกหาคนดีเป็นผู้บริหารจัดการ แต่ที่สุดนิยามคนดียากมาก เพราะจริยธรรมแต่ละคนก็แตกต่างกัน”
นอกจากนี้ “บรรยง” ยืนยันว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารไม่ใช่แค่เปิดเผยอย่างเดียว แต่ต้องเปิดเผยในรูปแบบที่ได้มาตรฐาน หรือภาษชาวบ้านคือ “ดูแล้วรู้เรื่อง” ด้วย
“ผลของมันต้องสื่อถึงประชาชน สุดท้ายแล้วคนควบคุมได้ก็คือประชาชนที่มีข้อมูล ประชาชนที่มีผู้วิเคราะห์ข้อมูลให้ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพ มีความรู้ และพัฒนาตามกันไป”
ด้าน “วิริยะ” ตัวแทนรัฐหนึ่งเดียวในด้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ตั้งข้อสังเกตถึงปัญหาว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้น หากให้ประชาชนไปแล้ว เขาไม่ทำอะไร เช่น เขาไม่มีความรู้ด้านหลักเกณฑ์หรือระเบียบในการจัดซื้อจัดจ้าง แล้วจะเอาไปทำอะไร เอาไปก็ตรวจสอบไม่ได้
“เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง สมมติมีการล็อคสเป็ค ประชาชนรู้หรือไม่ ตรงนี้สื่อมวลชนอาจช่วยได้ แต่ถ้าขอไปแล้วดูไม่ได้ หรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐไม่ได้เชี่ยวชาญ ดูไปก็ไม่รู้ว่าล็อคสเป็คหรือไม่ ดังนั้นเรื่องที่สำคัญมากกว่าคือการให้ความรู้กับประชาชน”
เช่นเดียวกันกับ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ปัญหาอยู่ที่หน่วยงานรัฐไม่พยายามเปิดเผย เพราะกลัวการตรวจสอบ กลัวความผิดของตัวเอง แม้ว่าบางครั้งทำผิดระเบียบนิดเดียว บางครั้งไม่เจตนา แต่ถ้าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เจอ ก็เล่นงาน และถ้าให้ข้อมูลไปก็กลัวความผิดตัวเองปรากฏขึ้น อนาคตราชการก็จะมีปัญหาได้
“ถ้าคนมีความรู้ได้ไปก็เกิดประโยชน์ ถ้าประชาชนที่ไม่รู้เรื่องระเบียบในที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ข้อมูลข่าวสารที่ได้ไปก็ไม่เกิดประโยชน์กับภาครัฐเท่าที่ควร” เขายืนยัน
ปิดท้ายด้วย “สฤณี” ที่ยืนยันหนักแน่นว่า “ถ้าไม่เปิดเผย ก็แก้ปัญหาประเด็นสาธารณะไม่ได้ ไม่มีทาง”
ก่อนอธิบายว่า ไม่มีใครปฏิเสธพลังของข้อมูล ที่เป็นต้นทางของการแก้ปัญหา อย่างไรก็ดีโลกทัศน์ของหน่วยงานรัฐยังมีปัญหาอยู่มาก และโลกทัศน์ของสังคมไทยต้องยอมรับว่า วัฒนธรรมไทยไม่ใช่สังคมข้อมูลข่าวสาร ตอนนี้อาจมีทิศทางนั้น แต่โดยรวมไม่ใช่สังคมที่ว่าหากเกิดอะไรแล้วหาข้อมูล แต่เรายึดติดกับผู้รู้
“บางครั้งเกิดเหตุการณ์อะไร แทนที่จะไปหาข้อมูลที่ต้นธาร แต่กลับไปถามผู้รู้มาอธิบายแทน”
ดังนั้นวิธีการแก้ไขปัญหาคือ รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ต้องมีใครขอ เป็นข้อมูลดิบ ไม่ได้ผ่านการตีความของใครก็ตามเพื่อใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง หน่วยงานนี้ซื้ออะไร ราคาเท่าไหร่ ไม่ใช่ผ่านการตีความว่ามันถูกหรือแพง แล้วให้ประชาชนตัดสินใจเอง
ท้ายสุด เธอเชื่อว่า รัฐที่เปิดรับการตรวจสอบ รัฐที่โปร่งใส Open Data (การเปิดเผยข้อมูล) เป็นหัวใจ ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม การทำประชาพิจารณ์ รวมถึงการเพิ่มพลังของพลเมือง เพราะเราอยู่ในยุคเทคโนโลยีเอื้อให้มีความโปร่งใสของข้อมูล
ทั้งหมดคือความเห็น-การตั้งข้อสังเกตถึงปัญหาในการขอข้อมูลข่าวสารราชการในประเทศไทย ที่ยังมีช่องโหว่หลายจุด และจำเป็นต้องได้รับการ “ปฏิรูป” โดยด่วน !