“คนไทยจะสู้ชีวิตอย่างไร?” ช่วงน้ำท่วม-หลังน้ำลด- ข้าวยากหมากเเพง
ใช้ชีวิตอย่างไรในสถานการณ์น้ำท่วม? น้ำลดอนาคตจะเปลี่ยนไปแค่ไหน?... ข้าวของขาดตลาด-ราคาพุ่ง โรคระบาดคืบคลานเข้าใกล้ ฟื้นฟูบ้านเรือนที่สร้างด้วยน้ำพักน้ำแรง ตกงานจะอยู่อย่างไร?...เป็นคำถามที่ถ้าไม่เปล่งเสียงออกมาก็อยู่ในใจคนจำนวนมากวันนี้ที่กลายเป็น “ผู้ประสบอุทกภัย” กันถ้วนทั่ว ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารรายวันที่ไหล่บ่าทั้งจากรัฐบาลและสื่อที่อาจยิ่งสร้างภาวะบีบคั้นสับสน
.........................................
ไม่เพียงความตื่นตระหนกวิตกตะลีตะลานจากภาวะน้ำท่วม ที่กลายเป็นภาพเจนตาไปแล้วในหลายพื้นที่ประสบภัยหลายจังหวัด ชั้นวางสินค้าที่ว่างเปล่าภายในร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า กระทั่งตลาดสดโดยเฉพาะมาม่า ปลากระป๋อง อาหารแห้งที่กลายเป็นสินค้าหายากราคาแพงในพริบตา… ภาวะเหล่านี้ล้วนบอกเราว่ากองทัพน้ำที่บุกเข้าจู่โจมพื้นที่ภาคกลางอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมืองไข่แดงศูนย์รวมอำนาจและเศรษฐกิจอย่างกรุงเทพฯ จะทำให้คนไทยกินไม่อิ่ม-นอนไม่หลับไปอีกไม่น้อยกว่าแรมเดือน
นักกู้ภัย-สสส.แนะเตรียมพร้อม “ก่อนและขณะอพยพ”
นายชาติชาย ไทยกล้า ผู้อำนวยการสถาบันฝึกดับเพลิงและกู้ภัยชั้นสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ กล่าวในรายการสถานีร่วมใจช่วยภัยน้ำท่วม ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง11 ว่าข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับประชาชนที่ต้องอพยพหรือประสบภัย สิ่งของที่ต้องเก็บคือของใช้ส่วนตัว แบบ Personal pack ประกอบด้วยเสื้อผ้าทำงาน ชูชีพ กระเป๋ายา มีดพก ไฟฉายพร้อมแบตเตอร์รี่สำรอง เครื่องมือซ่อมของชำรุดจำพวกปะแจ คีม สำคัญที่สุดอย่าลืมอาหารกระป๋องให้อยู่ได้สองถึงสามวันกับอุปกรณ์หนึ่งกระเป๋า จนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง กระเป๋าใบนี้ควรเตรียมพร้อมสามารถคว้าได้ทันทีเมื่อต้องอพยพ
“หากเป็นครอบครัวก็กระเป๋า Family pack โดยเฉพาะวิทยุทรานซิสเตอร์ฟังข่าวความเคลื่อนไหวและการช่วยเหลือของหน่วยเคลื่อนที่ต่างๆ จากประสบการณ์แนะนำว่ากระบวนการอพยพต้องมีระบบ ทั้งครอบครัว องค์กร ชุมชน ส่วนคนที่ไม่ยอมย้ายควรดูแลเรื่องไฟฟ้าให้ดี เบอร์ 1111 กด 5 ,1669 ,191 ควรจำให้แม่น ส่วนเรื่องอุปกรณ์สื่อสารเมื่อบกพร่องไม่สามารถใช้ได้ ต้องย้อนวิธีอดีต เช่น ตีฆ้องร้องป่าว หากใครไปจอดรถทางด่วนควรเว้นทางไว้ 2 ช่องจราจรอย่างน้อย” ผู้อำนวยการสถาบันฝึกดับเพลิงและกู้ภัยฯ กล่าว
ด้านสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. แนะนำการใช้ชีวิตในช่วงน้ำท่วม ว่าควรเตรียมถุงยังชีพซึ่งประกอบด้วย ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ยารักษาโรค และอุปกรณ์ทำความสะอาดต่างๆใส่รวมกันมาในถุงเดียว กระป๋องควรอยู่ในสภาพดี ไม่บุบหรือบวม พอง และสังเกตลักษณะของอาหารในกระป๋อง ดูวันหมดอายุก่อนรับประทาน สำหรับอาหารกล่องควรรับให้พอดีเฉพาะคนในครอบครัว ไม่ควรเก็บไว้เผื่อมื้อต่อไปหรือเผื่อคนอื่นๆ เพราะอาจเกิดการเน่าเสียไม่ควรเก็บนานเกิน 4–6 ชั่วโมง หากไม่แน่ใจอย่ารับประทานเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารได้ กินเข้าไปแล้วอาจทำให้ท้องเสียได้
หมอเตือนระวังสุขภาพ-ป้องกัน “โรคระบาดน้ำท่วม”
ดร.นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในรายการสถานีร่วมใจช่วยภัยน้ำท่วมว่า ผู้อพยพต้องดูแลเรื่องสุขอนามัยด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวข้องกับการกินอาหาร การดื่มน้ำ การขับถ่าย รวมทั้งสิ่งปฏิกูล ขยะ ถ้าควบคุมไม่ดีจะมีการระบาดของโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น บิด อหิวาห์ ไข้ไทฟอยด์ โรคฉี่หนู ยังจะมีโรคตาแดง โรคเชื้อรา หรือโรคน้ำกัดเท้า สำหรับอาหารควรกินที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ ถ้าเป็นอาหารกระป๋องก็ต้องดูว่าหมดอายุหรือยัง มีรอยบุบหรือสนิมหรือไม่ ส่วนน้ำดื่มต้องสะอาด หากเป็นน้ำขวดต้องดูว่ามีรอยแตกรอยแกะหรือไม่ ส่วนน้ำที่ยังไม่ผ่านกระบวนการ เช่น น้ำประปา น้ำคลอง ควรต้มสุกก่อนหรือใช้สารส้มทำให้ตกตะกอนแล้วจึงผ่านกระบวนการคลอรีน นอกจากนี้ไม่ควรขับถ่ายลงน้ำ
“และเมื่อไปอยู่ศูนย์อพยพควรระวังเรื่องโรคติดต่อจากการสัมผัส อาทิ ไข้หวัด ควรล้างมือบ่อยๆทั้งก่อนและหลังกินอาหารและเข้าห้องน้ำ เวลาไอจามควรใช้ผ้าปิดปาก ที่สำคัญไม่ควรทิ้งขยะลงพื้นแต่ทิ้งในถุง เพราะจะเป็นที่หมักหมมของหนูและแมลงสาบทำให้เกิดโรคตามมาได้” นพ.สมยศ กล่าว
ด้าน สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร แนะนำหลักปฏิบัติดูแลสุขภาพช่วงสถานการณ์น้ำท่วม 10 ประการ 1.หมั่นดูแลความสะอาดร่างกาย โดยเฉพาะเท้า ต้องล้างด้วยสบู่และเช็ดให้แห้ง หลังการเดินลุยน้ำ และล้างมือบ่อยๆ หรือใช้เจลล้างมือแทน 2.กรณีต้องเดินลุยน้ำควรใส่รองเท้าบูทและทายาป้องกันน้ำกัดเท้าทุกครั้งก่อนลงน้ำและมีไม้ตีน้ำเป็นระยะเพื่อไล่สัตว์มีพิษที่อาจอยู่บริเวณทางเดิน 3.ระมัดระวังไม่ให้น้ำเข้าตา เพื่อป้องกันโรคตาแดง 4. การดูแลภาชนะใส่อาหารและช้อนส้อมให้สะอาดป้องกันโรคทางเดินอาหาร
5. เลือกรับประทานอาหารถ้ามีกลิ่นไม่ดีและใกล้บูดไม่ควรรับประทาน 6. ระวังบุตรหลานไม่ให้เล่นน้ำ หรืออยู่ใกล้น้ำ 7. กรณีเจ็บป่วยเช่นเป็นหวัดตาแดงควรเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้อื่นเพื่อป้องกันการติดต่อ ล้างมือบ่อยๆ และใส่หน้ากากอนามัย 8. ป้องกันกรณีไฟฟ้ารั่วและไฟชอร์ต กรณีน้ำท่วมถึงปลั๊กไฟต้องตัดสะพานไฟทุกครั้ง 9. ใช้ถุงทรายอุดโถส้วมป้องกันการไหลย้อนใช้สุขาชั้น 2 หรือใช้ถุงดำเป็นส้วมสนามแล้วมัดปิดเก็บไว้กำจัดภายหลังน้ำลด ขณะเดียวกันอาจใส่ปูนขาวหรือ EM กำจัดกลิ่น 10. ฝึกการคลายเครียดด้วยตนเอง เช่น การพูดระบายความเครียด ฟังเพลงคลายเครียด ฝึกการหายใจคลายเครียด
“สินค้าขาดตลาด ข้าวของแพง” สัญญาณข้าวยากหมากแพง 1-3 เดือน
“ช่วงน้ำท่วมราคาสินค้าที่เพิ่มสูงเหมือนเป็นการซ้ำเติม ข้าวของแพงทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนหนักเข้าไปอีก ที่นี่ท่วมมา 2 เดือนกว่าแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่ได้ประกอบอาชีพอะไรเพราะบ้านถูกน้ำท่วมทั้งหมด รายได้ก็ไม่ค่อยมี อยากให้หน่วยงานไหนก็ได้จัดการพวกฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าแบบจริงๆจังๆเสียที”
จ.ส.อ.ประกอบ ใจตรง ประธานชุมชนเขียวไข่กา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร กล่าวกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา และบอกด้วยว่าเขียวไข่กา เป็นชุมชนเก่าแก่มา มีสมาชิก 264 คน 70 หลังคาเรือน 80 ครอบครัว อาชีพหลักคือค้าขาย ชุมชนถูกน้ำท่วมทุกปี แต่ปีนี้หนักที่สุด เพราะท่วมเร็วท่วมนาน ยังไม่มีทีท่าจะลดลงง่ายๆ เขาบอกว่าไม่เพียงแต่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาสินค้าขาดตลาด สินค้าราคาแพงที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนซ้ำสอง แต่รัฐบาลต้องแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากด้วย
ผู้สื่อข่าวได้สำรวจตลาด เช่นที่ นนทบุรี พบว่าสินค้าประเภทอาหารสดราคาพุ่งสูงขึ้นมาก ขณะที่ข้าวสารตกประมาณกิโลกรัมละ 50 - 60 ไข่ไก่ สินค้าอาหารกระป๋อง นมข้นหวานขาดตลาด ขณะที่ราคาพืชผักในตลาดสดหลายแห่งพบว่าราคาสินค้าไม่เท่ากัน แต่ล้วนแพงขึ้นมาก เช่น ต้นหอมที่เคยขายกำละ 5 บาท เป็นกำละ 10 บาท กะหล่ำปีกิโลกรัมละ 50 บาท หัวไชเท้ากิโลกรัมละ 40 บาท มะเขือ/แตงกวา กิโลกรัมละ 50 บาท ถั่วฝักยาวกำละ 10 บาทเป็น 20 บาท กระเพรา จากกำละ 5 บาทเป็น 10บาท มะละกอสุกกิโลกรัมละ 35 บาท ปลาทูแพงขึ้นตามขนาดคือเข่งละ 40 -35-20 บาท ผักบุ้งขายเป็นกำๆละ 10 บาท บางแห่งขายเป็นกิโลกรัมๆละ 60 บาท มะนาวจากผลละ 2 บาทเป็น 3 บาท ส่วนไข่ไก่จากเดิมเบอร์ใหญ่ฟองละ 4 บาท ขึ้นเป็น 6-8 บาท เป็นแผงๆละ 180-200 บาท
“เหตุผลสำคัญคือคมนาคมขนส่งลำบาก ผลิตไม่ทัน บางคนพร้อมผลิตแต่ขนไม่ได้ เรือขนส่งไม่มี บางจุดหารถใหญ่ไม่ได้ ของจำนวนน้อย คนต้องการใช้มีมาก เลยเกิดเป็นปัญหาใหญ่ตามมา” คือมุมมองนักพยากรณ์เศรษฐกิจ อ.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ที่ขยายความต่อว่าปัญหาสินค้าราคาแพงในช่วงวิกฤติน้ำท่วมนี้ มาจากการคมนาคมที่ลำบาก ทำให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น แหล่งผลิตหลายแห่งถูกน้ำท่วมจึงผลิตสินค้าได้น้อยลง อีกประเด็นคือจิตวิทยาของคน คือเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมขังทุกพื้นที่ ทำให้ตื่นตระหนกออกมาหาซื้อสินค้ากักตุนไว้อย่างมาก ทำให้ขาดตลาด สรุปคือขณะที่ของมีน้อยกว่าปกติแต่คนซื้อมากกว่าปกติ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าถือโอกาสขึ้นราคา
“กระทรวงพาณิชย์ต้องขยับเข้ามาแก้ไขเพื่อกันเหนียวไว้ก่อน ด้วยการเปิดช่องนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค จำพวกน้ำดื่ม สบู่ ยาสีฟัน อาหารสำเร็จรูป หาวิธีขนส่งที่ไม่เกิดอุปสรรคต่อการกระจายสินค้า ซึ่งคาดว่านับจากนี้ไปจนถึงกลาง พ.ย. หรือต้นเดือน ธ.ค.ปัญหาการขนส่งจะเบาบางลง” นายธนวรรธน์ กล่าว
ทั้งนี้ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาวิจัยระดับโลก ทำ “โมเดลภาวะข้าวยากหมากแพงของคนกรุงในสถานการณ์น้ำท่วม” โดยจำลองการกักตุนเสบียง ยกสมมติฐานจากหนึ่งร้านค้าซึ่งมีเสบียง 100 ชุด แต่ละชุดสำหรับ 1 คน ใช้บริโภคต่อ 1 วัน ตอบสนองอุปสงค์หรือความต้องการผู้บริโภคที่ 100 เปอร์เซ็นต์ใน 100 คน
กรณีที่หนึ่ง--หากผู้ซื้อทุกคนพร้อมใจกันสำรองเสบียงสำหรับ 2 วัน จะเกิดการขาดแคลนเสบียง 2-5 วัน แต่เนื่องจากอุทกภัยทำให้การขนส่งบางเส้นทางติดขัด ภาวะขาดแคลนอาจมีได้ถึง 10 วัน กรณีที่สอง--หากผู้ซื้อทุกคนพร้อมใจกันสำรองเสบียงสำหรับ 10 วัน ภาวะขาดแคลนอาจถึง 30วันหรือ 1 เดือน ส่วนกรณีสุดท้าย--เลวร้ายที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในหลายแห่ง คือผู้ซื้อทุกคนพร้อมใจกันสำรองเสบียงสำหรับ 1 เดือน ภาวะขาดแคลนอาจยาวนาถึง 3 เดือน
มากกว่าเสียงกึกก้องของเครื่องสูบน้ำ คือ “มาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจน”
การแก้ปัญหาสินค้าขาดตลาด-ราคาแพง คณะรัฐมนตรีให้กระทรวงพาณิย์เพิ่มเติมรายการสินค้าควบคุม(ราคา)อีก 16 รายการ ได้แก่ น้ำดื่ม กระดาษชำระ ไฟฉาย ถ่านไฟฉาย ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ทรายและถุงบรรจุ อิฐบล็อก เสื้อชูชีพ เรือขนาดเล็กไม่เกิน 15 ที่นั่ง รองเท้าบูธยาง เครื่องนอน ถังน้ำ เครื่องสูบน้ำ ผลิตภัณฑ์ยาแนวกันน้ำ เทียนไข ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประกาศสินค้าควบคุมไปแล้ว 41 รายการ รัฐบาลยังจะขอให้ผู้ผลิตเร่งเพิ่มการผลิตสินค้า รวมทั้งจะนำเข้าสินค้าจากจังหวัดอื่นๆที่มีโรงงานตั้งอยู่เข้ามาบรรเทาปัญหาการขาดแคลนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม โดยเปิดศูนย์ขนถ่ายสินค้า เช่น ชลบุรี นครราชสีมา โดยกระทรวงพาณิชย์จะจัดทำแผนและแนวทางการกำกับดูแลและการกระจายสิค้าให้พอเพียงและทั่วถึง อีกทั้งประสานงานกับกระทรวงคมนาคมในเรื่องเส้นทางการขนส่งและการกระจาย
ทั้งนี้ สินค้าบางส่วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งล่าสุดมติ ครม.1 พ.ย. ให้กระทรวงพาณิชย์เปิดนำเข้าไข่ไก่จากต่างประเทศ 7 ล้านฟองต่อสัปดาห์ ปลากระป๋อง 4 แสนกระป๋องต่อสัปดาห์ พร้อมจัดหาสถานที่ขายสินค้าแบบร้านขายของชำตามชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ที่ร้านขายสินค้าสะดวกซื้อไม่ สามารถเปิดขายได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนด้วย
ส่วนความช่วยเหลืออื่นๆ มติ ครม. 25 ต.ค.จะมีมาตรการเยียวยาทั้งนายจ้างและลูกจ้าง โดยให้ผู้ประกอบการกู้ได้รายละ 1 ล้านบาท ผู้ประกันตนกู้ได้ 5 หมื่น อีกทั้งให้รัฐบาลช่วยจ่ายเงินเดือนลูกจ้าง 6.4 แสนคนๆละ 3,000 บาทในช่วง 3 เดือน พร้อมทั้งจัดหางานชั่วคราว 1.8 หมื่นอัตรา ระยะยาว 9.9 หมื่นอัตรา ขณะที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินให้คนตกงาน 50% ของค่าจ้างเป็นเวลา 6 เดือน แต่ก็ยังไม่มีการพูดถึงแรงงานนอกระบบว่ารัฐจะมีมาตรการชัดเจนในการให้ความ ช่วยเหลืออย่างไร
มติ ครม.ล่าสุด 1 พ.ย.ให้กระทรวงมหาดไทย เร่งสำรวจบ้านผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายเพื่อจัดงบประมาณช่วยเหลือครอบครัวละไม่เกิน 3 หมื่นบาท หากประสบภัยร้ายแรงและถึงชีวิต จะมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการพักชำระหนี้ 3 ปีให้กับเกษตรกร โดย กระทรวงการคลังรับผิดชอบ ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ให้ปล่อย สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพเกษตรกร วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ 3%ต่อปี และสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ปัจจุบันอยู่ที่ 7%เป็นเวลา 3-5 ปี หรือยาวกว่านั้น โดยเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธกส.ก็สามารถขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าได้
.....................................................
อุทกภัยวันนี้ไม่ใช่เพียงฝันร้าย แต่เป็นเรื่องร้ายๆในชีวิตจริงไปแล้ว ซึ่งแม้รัฐบาลจะมีมาตรการต่างๆออกมา แต่โดยรวมยังไม่ครอบคลุมชัดเจนในหลายเรื่อง ไม่นับรวมการออกมาแถลงข่าวรายวันที่คนส่วนมากรู้สึกว่าไม่ได้สร้างความชัดเจน แต่ “ยิ่งทำให้สับสนและเครียด”
เสียงที่ดังลอดความกึกก้องของเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ที่โหมทำงานทั้งวันทั้งคืน คือผู้ประสบภัยที่ร้องขอให้ผู้มีอำนาจหันมาจริงจังกับความทุกข์ที่มีแนวโน้มว่าคนไทยต้องเผชิญไปอีกไม่ต่ำกว่า 1-2 เดือน .
ที่มาภาพ : ภาพที่ 1 ไทยโพสต์, ภาพที่ 2 ผู้จัดการออนไลน์, ภาพที่ 3 www.xn--12ca4dsscc8ayd2f.com