พอช.กลั่น 11 จว.นำร่องปฏิรูป เสนอ คปร.ต้น มี.ค.
พอช.เลือก 22 จังหวัดนำร่องเคลื่อนไหวภาคประชาชนกับท้องถิ่น เตรียมกลั่นกรองเหลือ 11 เน้นคุณภาพ-รูปธรรม เสนอ คปร. ต้น มี.ค. พร้อมเตรียมจัดเวทีชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง เสนอประเด็นที่ดิน ภาษี กระจายอำนาจ ก่อนสมัชชาปฏิรูปครั้งแรกปลาย มี.ค.
นายพลากรวงศ์กองแก้วผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนถึงการคัดเลือกจังหวัดนำร่องเคลื่อนไหวภาคประชาชนกับท้องถิ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางปฏิรูปประเทศของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ว่า พอช.ได้เข้าไปมีส่วนร่วมคัดเลือกพื้นที่และสนับสนุนงบประมาณ ในฐานะที่มีต้นทุนเดิมในการทำงานร่วมกับชุมชน และมองว่าชุมชนเองก็มีต้นทุนในการจัดการตนเองอยู่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะเป็นการปฏิรูปเชิงพื้นที่เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
ทั้งนี้เบื้องต้น พอช.ได้คัดเลือกไว้ 22 จังหวัด และจะมีการกลั่นกรองให้เหลือ 11 จังหวัดเพื่อให้ได้คุณภาพจริงและเห็นผลรูปธรรมชัดเจนจากการนำร่อง และคาดว่าประมาณต้นเดือน มี.ค.น่าจะแล้วเสร็จและนำเสนอต่อ ค.ป.ร.ได้
“ทาง คปร.ก็รอฟังว่าจะเสนอจังหวัดใดด้วยเหตุผลใดบ้าง จริงๆอยากเสนอทั้ง 76 จังหวัด แต่ต้องดูความน่าจะเป็นไปได้ในเชิงปฏิรูปที่มีแนวโน้มชัดเจน เช่น อำนาจเจริญ ซึ่งมีสภาองค์กรชุมชนจดแจ้งทุกตำบล มุกดาหารซึ่งสวัสดิการชุมชนเต็มจังหวัด หรือขอนแก่นที่มีขบวนองค์กรชุมชนอาสาปฏิรูปทุกตำบล”
ผู้ช่วย ผอ.พอช.ยังกล่าวว่าหลักในการพิจารณาความพร้อมของแต่ละพื้นที่ คือดูที่ศักยภาพของขบวนองค์กรชุมชน โดยเฉพาะที่มีการเคลื่ออนไหวแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ ส่วนปัจจัยอื่นๆ อาทิ ประชาสังคมเข้มแข็ง เช่น จังหวัดน่านหรือเชียงใหม่ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นจังหวัดใหญ่ อาจจะเป็นจังหวัดเล็กๆที่มีการเคลื่อนตัวด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น แม่ฮ่องสอน สรุปง่ายๆคือวิเคราะห์จากต้นทุนเดิมที่แต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่มีอยู่ ทั้งนี้บทบาทหลักของจังหวัดนำร่องคือการขึ้นรูปขบวน มีการสร้างทีมทำงานเพื่อเดินเครื่องปฏิรูป และมีการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาและทิศทางโดยให้น้ำหนักแตกต่างกันไปตามบริบทพื้นที่ เช่น ระยองเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเคมี ขณะที่นครปฐมเป็นอุตสาหกรรมเกษตร แล้วมาดูว่าหากปฏิรูปเชิงพื้นที่แล้วจะนำไปสู่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างได้อย่างไร
นายพลากร ยังกล่าวถึงบทบาทของ พอช.ในการร่วมปฏิรูปประเทศว่ายังทำหน้าที่รวบรวมข้อเสนอต่างๆ เช่น เครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป ที่มีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นประธาน 1 ใน 14 เครือข่ายของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ก็เกิดขึ้นจากการขอจัดตั้งและจัดการขบวนของชุมชนเอง
“ล่าสุด พอช.จะร่วมเตรียมจัดทำข้อเสนอเพื่อไปเพิ่มเติมกับเครือข่ายอื่น โดยเตรียมจัดเวที 8-10มี.ค. เพื่อระดมความเห็นภายใต้กรอบชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง 3 ประเด็นใหญ่คือการปฏิรูปที่ดินและทรัพยากร, ระบบภาษีและการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง นำเสนอเพื่อหาฉันทามติร่วมในงานสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยครั้งที่ 1 ในวันที่ 24-27 มี.ค.นี้” ผู้ช่วย ผอ.พอช.กล่าว.