(INFO) ชัด ๆ โรดแม็พ 6-4-6-4 คสช. นานเพราะอะไร-ทำไมต้องใช้สูตรนี้?
ดูชัด ๆ โรดแม็พ 6-4-6-4 คสช. 6 แรกตั้ง กรธ. ร่าง รธน. 6 เดือน 4 ต่อมา ทำประชามติ ถ้าไม่ผ่าน ต้องตั้งคนร่างใหม่อีก 6 ต่อมา ทำกฎหมายประกอบฯ-ให้ สนช.-ศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบ 4 สุดท้าย รณรงค์หาเสียง-เลือกตั้ง-มีรัฐบาลใหม่
ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ในสังคม !
สำหรับปัญหาใน “โร้ดแม็พ” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในสูตร 6-4-6-4 หรือ 20 เดือน นับตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญ (รอบที่ 2) กระทั่งมีการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีรัฐบาลได้ในช่วงกลางปี 2560
ท่ามกลางบางฝ่ายในสังคมที่ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ และออกมาให้สัมภาษณ์แก้ไขสูตรกันจ้าละหวั่น ต้องการให้ลดลงอย่างน้อยให้มีการเลือกตั้งในปี 2559 ก็ยังดี หรือบางกลุ่มไม่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกแล้ว แต่ให้หยิบเอาฉบับปี 2540 ขึ้นมาประกาศใช้ในทันที
อย่างไรก็ดีเมื่อเร็ว ๆ นี้ “วิษณุ เครืองาม” เนติบริกร รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ได้นำเสนอสูตรนี้ต่อทูตานุทูตของประเทศต่าง ๆ เพื่อให้รับทราบ-เข้าใจ การบริหารแผ่นดินของ คสช.
สูตรนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมถึงนานขนาดนั้น ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงมาให้เห็นภาพดังนี้
6 แรก หมายความว่า ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ดำเนินการร่างให้เสร็จไม่เกิน 6 เดือน แต่สั้นกว่านั้นได้
โดยใน 6 เดือนนี้ กรธ. จะต้องดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญ (วิษณุคาดว่าใช้เวลา 3 เดือน) หลังจากนั้นจะต้องรอความเห็นจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนนำความเห็นไปปรับแก้ เมื่อแก้เสร็จแล้วต้องกลับมาเสนออีกครั้งว่า ตรงไหนแก้ให้ได้ ตรงไหนไม่ได้ (วิษณุคาดว่าใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน)
4 ต่อมา หมายความว่า จะต้องทำประชามติไม่เกิน 4 เดือน แต่สั้นกว่านั้นได้ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นส่วนสำคัญ
โดยใน 4 เดือนนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องดำเนินการทำประชามติให้เสร็จ ตั้งแต่การแจกร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง การรณรงค์ จนกระทั่งถึงวันลงประชามติ (วิษณุคาดว่าใช้เวลาประมาณ 3 เดือน)
ส่วนสาเหตุที่การทำประชามติต้องใช้เวลาถึง 3 เดือน “วิษณุ” อธิบายว่า การหาซื้อกระดาษมาพิมพ์มันไม่ง่าย ?
“ต้องหากระดาษมาพิมพ์แจกร่างรัฐธรรมนูญ 19 ล้านเล่ม แจกให้ 19 ล้านครัวเรือน ไม่ใช่เรื่องง่าย ปัจจุบันคนมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งประมาณ 40 ล้านคนเศษ ไม่มีโรงพิมพ์ไหนกักตุนมากขนาดนั้น ก่อนหน้านี้มีคนถามว่าทำไมไม่กักตุนไว้ก่อน ถ้ากักตุนไว้แล้วร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติก็เจ๊ง แล้วใครจะรับผิดชอบ ผมบอกว่าไม่เจ๊งหรอก ซึ่งโชคดีที่เขาไม่เชื่อผม (หัวเราะ) นอกจากนี้กระดาษยังต้องซื้อจากเมืองนอก ใช้เวลากี่วัน เอามาแล้วต้องหาสถานที่กักตุนอีก และกระดาษมากขนาดนั้นต้องใช้โรงพิมพ์กี่โรง เวลาพิมพ์ต้องแจกสรุปร่างรัฐธรรมนูญให้คนอ่านเข้าใจง่ายด้วย และถ้ามีประเด็นฝากประชามติอีก ก็ต้องพิมพ์ด้วย รวมแล้ว 3 เล่ม 19 ล้านฉบับ”
ขณะเดียวกันงบในการทำประชามติคำนวณแล้วประมาณ 3.3 พันล้านบาท เกินจากตอนแรกที่ตั้งไว้ 3 พันล้านบาท โดย กกต. ระบุสาเหตุที่เกินว่า เพราะมีประเด็นฝากในการทำประชามติ ดังนั้นต้องมีหีบบัตรเพิ่ม บัตรก็ต้องพิมพ์เพิ่ม การจัดการต่าง ๆ ก็ต้องเพิ่ม ทำให้ต้องใช้เงินเพิ่มอีก 3 ร้อยล้านบาท
สำหรับการทำประชามติจะมีผลออกมา 2 แนวทาง
หนึ่ง หากประชามติผ่าน จะต้องทูลเกล้าฯถวายร่างรัฐธรรมนูญให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งตรงนี้คาดว่าใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ก่อนจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
สอง หากประชามติไม่ผ่าน ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ระบุไว้ว่า จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ใช้ระยะเวลาร่าง 6 เดือน ก่อนจะส่งให้ กกต. ทำประชามติอีกครั้ง
ซึ่งในส่วนที่สองนี้ “วิษณุ” เปรยว่า อาจจะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อให้การทำประชามติได้ง่ายขึ้น เพราะหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็จะวนกันอยู่อย่างนี้ไม่รู้จบ ?
“ในไม่ช้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อรับมือทำประชามติแล้วไม่ผ่าน วันนี้ยังได้แต่คิด ยังไม่ต้องทำอะไร ก็เงี่ยหูฟังไปเรื่อย ๆ ว่า คนเขาคิดว่าถ้าไม่ผ่านอีกให้ทำอย่างไร มีคนมาถามเหมือนกันว่า อย่าว่าแต่ครั้งที่ 2 เลย ครั้งแรก (หากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน) ช่วงเดือน เม.ย.-ส.ค. 2559 ทำไมต้องทำ แล้วถ้าไม่ทำไม่ได้เหรอ จะได้เร็วขึ้น ถ้าจะเอาอย่างนั้นก็ได้ แต่เขาต้องการให้ทำประชามติ เห็นร่ำร้องนักหนาว่าอยากให้ทำ วันนี้ยังไม่มีเสียง อย่าไปพูด แต่คราวนี้ถ้าลงแล้วไม่ผ่านต้องคิดว่า จะทำอย่างไรกันต่อจะเอาร่างรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับมาเรียงไว้จับฉลากหรืออย่างไร ก็ต้องคิดต่อ”
6 ต่อมา หมายความว่า จะต้องมีการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และส่งให้ สนช. ให้ความเห็นชอบ และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจ ภายใน 6 เดือน
โดยใน 6 เดือนนี้ กรธ. จะต้องยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญคาดว่าใช้เวลา 2 เดือน หลังจากนั้นจะเสนอให้ สนช. ให้ความเห็นชอบกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อย 6 ฉบับ ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ก่อนที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบ ภายใน 1 เดือน หากศาลรัฐธรรมนูญไม่ดำเนินการอะไรภายใน 1 เดือน ให้ถือว่าผ่าน แต่หากศาลรัฐธรรมนูญให้ปรับแก้ไข ก็ต้องดำเนินการยกร่างกฎหมายประกอบฯฉบับนั้น ๆ ใหม่
4 สุดท้าย หมายความว่า เริ่มประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เปิดให้รณรงค์หาเสียง และมีการเลือกตั้ง ภายใน 4 เดือน
โดยใน 4 เดือนนี้ หลังประกาศใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ จะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสมัครลงเลือกตั้ง และรณรงค์หาเสียง ก่อนที่จะเลือกตั้ง ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน และเมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่ เลือกนายกรัฐมนตรี ภายในเวลา 1 เดือน
ทั้งหมดคือ “โร้ดแม็พ” ใหม่ตามสูตร 6-4-6-4 ของ “เนติบริกร” ที่ยืนยันว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “บวรศักดิ์” ผ่าน สปช. ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-6-4 รวม 14 เดือนอยู่ดี กว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่เมื่อร่างฯดังกล่าวถูกคว่ำ ทำให้ต้องเพิ่มเลข 6 ไปอีกตัวเท่านั้น
ท้ายสุดจะมีการร่นเวลาได้แค่ไหน ประชามติคราวนี้จะผ่านหรือไม่ ?
ต้องจับตาต่อไปอย่างใกล้ชิด !
(ดูตารางประกอบ)
หมายเหตุ : ภาพประกอบทั้งหมดจาก lib.ru.ac.th, wiwat.net, tnews, sanook.com, cityvariety.com, siangtai.com, radioparliament.net, kapook.com