มุสลิมเตรียมเฉลิมฉลองวันรายอฮัจยี
แม้จะมีข่าวเศร้าเกี่ยวกับพายุพัดเครนถล่มที่มัสยิดอัลหะรอม นครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย จนมีผู้แสวงบุญเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งผู้แสวงบุญชาวไทยด้วย แต่การประกอบพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของพี่น้องมุสลิมยังคงดำเนินต่อไป
การประกอบพิธีฮัจย์ที่นครมักกะห์ มีพี่น้องมุสลิมจากทั่วโลกเดินทางไปร่วมในฐานะ "ผู้แสวงบุญ" หรือที่เรียกว่า "ฮุจญาต" โดยมีมุสลิมจากประเทศไทยปีละกว่า 10,000 คน รวมถึงจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้ประกาศให้วันที่ 1 ของเดือนซุลฮิจยะห์ ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1436 ตรงกับอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ.2558 โดยเดือนซุลฮิจยะห์ คือเดือนที่ 12 ตามปฏิทินอิสลาม และเป็นเดือนที่พี่น้องมุสลิมจะประกอบพิธีฮัจย์อันศักดิ์สิทธิ์ร่วมกัน
ส่วนวันอีฎิ้ลอัดฮา หรือเรียกสั้นๆ ว่า "วันอีด" หรือ "วันตรุษ" ของพี่น้องมุสลิม ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1436 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน จุฬาราชมนตรีจึงออกประกาศและขอให้พี่น้องมุสลิมทั่วประเทศได้ปฏิบัติศาสนกิจในวันดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกัน
ทั้งวันที่ 1 ของเดือนซุลฮิจยะห์ และวันอีฎิ้ลอัดฮาปีนี้ หรือที่คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกว่า "วันรายอฮัจยี" มีการประกาศตรงกันหมดทั้งไทย มาเลเซีย และซาอุดิอาระเบีย
การประกาศวันอีฎิ้ลอัดฮา จะส่งผลต่อวันหยุดราชการสำหรับพี่น้องมุสลิมในประเทศไทยด้วย เพราะหลายปีหลังมานี้ทางการได้ประกาศให้ "วันอีด" ของพี่น้องมุสลิมเป็นวันหยุดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีทางศาสนาและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่
เมื่อเร็วๆ นี้มีประกาศกระทรวงกลาโหม ให้ทหารกองประจำการที่นับถือศาสนาอิสลาม สามารถหยุดเป็นกรณีพิเศษเพื่อไปประกอบศาสนากิจในวันอีฎิ้ลอัดฮาได้ตั้งแต่วันที่ 22 ถึง 26 กันยายน
ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีประกาศคล้ายๆ กัน ให้ข้าราชการตำรวจที่เป็นมุสลิมสามารถลาหยุดเพื่อประกอบศาสนกิจได้ โดยให้ใช้สิทธิ์ "ลาส่วนตัว" ตามระเบียบที่กำหนด
สำหรับ วันอีฎิ้ลอัดฮา หรือ วันรายอฮัจยี เป็นวันที่ประชาชาติอิสลามร่วมเฉลิมฉลองพร้อมกันกับวันที่พี่น้องประชาชาติอิสลามทั่วโลกประกอบพิธีฮัจย์ ณ นครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
ทุกปีในเดือนซุลฮิจยะห์ หรือเดือนที่ 12 ของปฏิทินอิสลาม ใน10 วันแรกของเดือนถือว่าสำคัญมาก นั่นคือการตั้งใจว่าจะทำพิธีฮัจย์ ก่อนการเข้าไปในแผ่นดินหะรอม (แผ่นดินต้องห้าม) โดยจะปฏิบัติตามกฎของฮัจย์ อาทิ การไม่มีเพศสัมพันธ์ การไม่ล่าสัตว์ในแผ่นดินหะรอม การไม่ตัดเล็บหรือผม การไม่เสริมสวยหรือใช้น้ำหอม เป็นต้น ผู้ชายจะเปลี่ยนเครื่องแต่งกายมาสวมผ้าเพียงสองผืน แล้วก็ไปชุมนุมกันที่ทุ่งอะรอฟะห์ ในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 9 ของเดือนซุลฮิจยะห์
เมื่อถึงเวลาค่ำ ซึ่งตามปฏิทินฮิจเราะห์จะเป็นคืนที่ 10 เหล่านักแสวงบุญจะเดินทางผ่านทุ่งมุซดะลิฟะห์ พักชั่วครู่หนึ่งก่อนที่จะมุ่งหน้าสู่ทุ่งมีนา
ผู้แสวงบุญจะพักอยู่ที่ทุ่งมีนาเป็นเวลา 3 วัน เพื่อขอพรและบำเพ็ญตนตามพิธีฮัจย์ หลังจากนั้นจึงเดินทางเข้ากรุงมักกะห์ เพื่อฏอวาฟ (เวียนรอบ) กะอ์บะฮ์ หรือที่เรียกว่า บัยตุลลอฮ์ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางมัสยิดหะรอม หลังจากนั้นผู้แสวงบุญก็จะเดินจากเนินเขาศอฟา สู่เนินเขามัรวะฮ์ไปมาจนครบ 7 รอบ เมื่อเสร็จพิธีนี้แล้วก็จะขลิบผมหรือโกนศีรษะ ถือว่าผู้แสวงบุญได้ฮัจย์ที่สมบูรณ์
ส่วนพี่น้องมุสลิมทั่วโลกที่ไม่ได้ไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ นครมักกะห์ ก็จะเฉลิมฉลองทำบุญเลี้ยงอาหารที่บ้าน เรียกวันนี้ว่า วันอีฎิ้ลอัดฮา ซึ่งเป็นคำภาษาอาหรับมาจากคำว่า "อีด" แปลว่า รื่นเริง เฉลิมฉลอง กับ "อัฎฮา" แปลว่า เชือดสัตว์พลีทาน
ดังนั้น วันอีฎิ้ลอัดฮา จึงหมายถึงวันเฉลิมฉลองการเชือดสัตว์เพื่อพลีทานให้ผู้คนรับประทานในยามดุฮา คือยามสายหลังตะวันขึ้น แต่ก่อนเที่ยง โดยพี่น้องมลายูมุสลิมในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกว่า "วันรายอ"