บาดแผลจากตากใบ(1) เหยื่อที่ยังมีลมหายใจ กับเป้าหมายซ้ำซากของฝ่ายความมั่นคง
"แม้ว่าเหตุการณ์จะล่วงเลยมานานหลายปีแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกว่ามันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง" เป็นความรู้สึกของเหยื่อและผู้สูญเสียส่วนใหญ่จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ซึ่งเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ได้ยินได้ฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงที่ลงไปเยี่ยมเยียนครอบครัวเหยื่อผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บในวาระครบรอบ 7 ปีตากใบ
เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าโรงพักตากใบเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่างการใช้กำลังสลาย 7 ราย และเสียชีวิตระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ด้วยวิธีให้ถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง และนำไปเรียงซ้อนกันบนรถบรรทุกของทหารอีกถึง 78 ราย
นอกจากนั้นยังมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสและพิการมากกว่าร้อยคน...
ขณะที่อีก 58 คนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีในฐานะแกนนำและมีส่วนร่วมในการยุยงปลุกปั่นให้เกิดการชุมนุม แต่อัยการสูงสุดสั่งถอนฟ้องเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2549
แม้ภายหลังเหตุการณ์วิปโยคในครั้งนั้น ภาครัฐจะยอมจ่ายค่าชดเชยจำนวน 47 ล้านบาทจากการเจรจาไกล่เกลี่ยในคดีแพ่งที่ครอบครัวผู้สูญเสียรวมตัวยื่นฟ้องฐานละเมิด แต่นั่นก็เป็นเงินเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับเกือบร้อยชีวิตที่สูญเสียไป
และสิ่งที่ครอบครัวผู้สูญเสียดูจะยอมรับไม่ได้เอาเสียเลย ก็คือคำสั่งของศาลในสำนวนไต่สวนการตาย 78 ราย (ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เมื่อมีการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าพนักงานหรือระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ อัยการต้องทำคำร้องให้ศาลไต่สวนการตาย เพื่อถ่วงดุลการทำหน้างานของพนักงานสอบสวน) ซึ่งศาลมีคำสั่งว่าทั้ง 78 คนเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ใดทำให้ตาย
และพนักงานอัยการก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด...
ตลอด 7 ปีของเหยื่อและครอบครัวที่ยังมีชีวิตอยู่ หลายคนยังตกอยู่ห้วงแห่งความทุกข์ หลายครอบครัวต้องตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรงและการถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคงครั้งแล้วครั้งเล่า คล้ายเป็นตราบาปที่พวกเขาเชื่อว่าไม่ได้เป็นคนก่อ
เคราะห์กรรมซ้ำๆ ในชีวิต
ตลอดระยะเวลา 7 ปีหลังเหตุการณ์ตากใบ ตีเมาะ กาบากอ หรือ "มะดอ" มารดาของลูกชายที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ยังต้องเผชิญกับเรื่องราวร้ายๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทั้งกับลูกชายและญาติสนิท ทั้งเสียชีวิตและถูกดำเนินคดี
“เรื่องมันก็หลายปีแล้ว ครั้งแรกก็สูญเสียลูกชาย” เสียงของนางขาดหายไปเฉยๆ พร้อมๆ กับน้ำตาที่ไหลรินออกมา “หลังจากที่ช็อคกับเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งลูกชายของฉัน อาบีดี กาบากอ เป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิต และ มะมิง อายุ 38 ปีต้องถูกดำเนินคดี ต่อจากนั้นไม่นาน (14 พ.ย.2548) เจ๊ะรอฮิง ลูกชายอีกคน กับ ซู หะมะ ซึ่งเป็นญาติกัน ก็ถูกจับในคดีก่อเหตุร้ายรายวัน แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้อง”
เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อเดือน ก.ย.ปีนี้เอง “รูดิง” ลูกเขยอีกคนของนางก็เพิ่งถูกทหารเชิญตัวไปอบรมและออกดะวะห์ (ดะวะห์ หมายถึงการเผยแผ่ศาสนา แต่ในที่นี้หมายถึงการขัดเกลาจิตใจของเยาวชนและชายฉกรรจ์กลุ่มเสี่ยงตามโครงการของฝ่ายความมั่นคง) เนื่องจากเจ้าหน้าที่สงสัยว่าเขาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โจมตีค่ายทหารที่บ้านไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
“เขาเพิ่งกลับจากดะวะห์ มาอยู่ที่บ้านได้สักพัก ขณะที่กำลังเตรียมตัวไปออกดะวะห์อีกครั้ง ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมารออยู่ที่หน้าบ้านเพื่อรับตัวไปโรงพัก แต่รูดิงและครอบครัวของเขาไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ จึงหนีไปอยู่ที่อื่น ทำให้ถูกออกหมายจับ”
ความสูญเสียยังคงรุมเร้ามะดอ เพราะเมื่อไม่นานมานี้เอง ลูกสาวคนเล็กของนางที่อายุแค่ 16 ปีก็เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ และขณะนี้นางเองก็กลายเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจไปแล้ว ซึ่งน่าจะเกิดจากอาการช็อคที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งจากเรื่องราวร้ายๆ ที่ผ่านเข้ามาไม่หยุด
การสูญเสียลูกสาวอันเป็นที่รัก และต้องอยู่อย่างวิตกกังวลเพราะคนในครอบครัวตกเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง หนำซ้ำลูกเขยยังหนีออกจากบ้าน ทิ้งภรรยาและลูกเล็กๆ สองคนเอาไว้ ทำให้ภาระดูแลหลานวัย 4 ขวบกับ 5 ขวบตกเป็นของนางผู้เป็นยาย
“ฉันก็ไปรับหลานมาอยู่ด้วย ดูแลเรื่องอาหารการกินรวมทั้งค่าเล่าเรียนให้เขา ตอนนี้ฉันป่วย ทำงานไม่ไหว อายุก็มากถึง 60 ปีแล้ว สามีจึงต้องทำงานคนเดียว ส่วนไร่นาก็จ้างให้เพื่อนบ้านทำ ผลผลิตที่ได้ก็ต้องแบ่งกัน” มะดอ กล่าวอย่างปลงๆ
ถึงกระนั้น แม้นางจะต้องสูญเสียลูกชาย และหมดทรัพย์สินนับแสนไปกับการวิ่งเต้นประกันตัวให้กับคนในครอบครัวที่ถูกดำเนินคดี แต่ มะดอ ก็ไม่ได้รู้สึกโกรธเคืองใคร นางบอกว่าปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งองค์อัลลอฮ์ เพราะนางเชื่อว่านี่คือบททดสอบที่นางต้องเผชิญ
และวันหนึ่ง...ไม่ว่าจะเป็นโลกนี้หรือโลกหน้า นางหวังว่าจะได้รับการตอบแทนที่ดีจากพระองค์
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 มะดอ (ฮิญาบสีแดง) ปิดหน้าร้องไห้เมื่อเล่าถึงความหลังเมื่อครั้งสูญเสียลูกชายในเหตุการณ์ตากใบ
2 รอยยิ้มของมะดอที่ยังคงมีกำลังใจสู้ชีวิตต่อ
หมายเหตุ : รอฮานี จือนารา เป็นหนึ่งในเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้