อีก 8 ปีงบลงทุนมหาศาล รมช.คลัง หวั่นทุจริตจัดซื้อแค่ 10% รัฐสูญเงิน 9 แสนล.
เริ่มใช้จริง ระบบ e-market และ e-bidding 1 ต.ค. รมช.คลังเชื่อระบบเดินหน้าได้อย่างสมบูรณ์ ชี้หากคนไม่ให้ความร่วมมือก็ไร้ประโยชน์
วันที่ 16 กันยายน 2558 กรมบัญชีกลาง ร่วมกับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ จัดงานสัมมา “ปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้าง ภาครัฐ ด้วยระบบ e-market และ e-bidding” โดยมีนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “จัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส เพื่อใคร? ทำไม?” ณ ห้องนภาลัยบอลรูม โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ
นายวิสุทธิ์ กล่าวถึงงบลงทุนของปี 2558 คิดเป็น 20% ของวงเงิน 2.72 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกับงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเงิน 800,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเงินจำนวนนี้มีนัยยะสำคัญในการบริหารประเทศ ตัวเลขดังกล่าว หากรวมกับโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล ที่จะลงทุนในระยาวซึ่งจะต่อเนื่องไปตั้งแต่ปี 2558-2565 ที่จะต้องทยอยออก 3.4 ล้านล้านบาท โดยในระยะ 8 ปีข้างหน้าเงินลงทุนทั้งหมดรวมแล้วอาจจะมากกว่า 9 ล้านล้านบาท ซึ่งหากมีการทุจริตเกิดขึ้นในการจัดซื้อจัดจ้าง 10% ก็จะทำให้รัฐสูญเสียเงินสูงถึง 900,000 ล้านบาท
รมช.คลัง กล่าวถึงการปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างเป็นความพยายามและมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากที่ผ่านมานั้นระบบการจัดซื้อจัดจ้างของแต่ละฝ่ายไม่ได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีการใช้กฎระเบียบที่แตกต่างกัน เราจึงสร้างกติกาขึ้นมาเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องต่อสถานการณ์และนโยบายของประเทศ
ทั้งนี้สำหรับกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า อยู่ในขั้นตอนท้ายๆของกฤษฎีกาและจะนำสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเร็ววันนี้ นอกจากนี้การจัดอันดับความน่าเชื่อถือในปี 2557 ของไทยดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ความน่าเชื่อถือเราอยู่อันดับที่ 85 จาก 175 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ความยากง่ายในการลงทุนอยู่อันดับที่ 26 จาก 100 ประเทศ ดังนั้นการปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างในระบบ e-bidding เรามุ่งหวังจะให้เกิดความสะดวกและง่ายต่อการลงทุน
นายวิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในการปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างยังให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยสร้างเป็นข้อตกลงคุณธรรมขึ้นมา นอกจากนี้ยังให้หน่วยงานภาครัฐอย่างกรมบัญชีกลางจะต้องตั้งหลักด้วยการจัดทำฐานข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นฐานคนที่จะต้องระบุข้อมูอาชีพ ฐานของคือรายละเอียดของสินค้า และฐานราคาซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะต้องถูกบันทึกไว้ ทั้งนี้รูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างด้วระบบ e-market และ e-bidding โดยจะเริ่มใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2558 โดยนำร่องกับกลุ่มราชการก่อน
ส่วนความพร้อมของระบบ e-market และ e-bidding รมช.กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้สร้างความเข้าใจด้วยการอธิบายและให้ความรู้กับหน่วยงานราชการ และอบรมถึงขั้นตอนต่างๆ และเชื่อมั่นว่าระบบจะเดินหน้าไปได้อย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามแม้จะสร้างกฎเกณฑ์ออกมาดีเพียงใด หากปราศจากความร่วมมือหรือสำนึกที่แท้จริงของผู้มีส่วนร่วม การจะผลักดันสิ่งเหล่านี้เป็นวาระแห่งชาติอาจไม่สัมฤทธิ์ผลตามที่หวังไว้