นักวิชาการชี้เสี่ยงโชคลุ้นรางวัลในสินค้าเป็นสิ่งมอมเมา เข้าข่ายการพนัน
นักวิชาการแนะปรับกฎหมายการพนัน ต้องตีความ-กำหนดกรอบให้แคบขึ้น ชี้เสี่ยงโชคลุ้นรางวัลในสินค้าเป็นสิ่งมอมเมาเข้าข่ายการพนัน
เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ.ศรัณยพงศ์ เที่ยงธรรม อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลการศึกษาเบื้องต้นเรื่องแนวทางการกำกับการส่งเสริมการขายด้วยวิธีการเสี่ยงโชค สนับสนุนโดย ศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ว่า เส้นแบ่งการตลาดกับการพนันส่งเสริมการขายของเมืองไทย โดยเฉพาะการเสี่ยงโชคลุ้นรางวัลในสินค้าประเภทต่างๆอย่างเอิกเกริกในปัจจุบัน มักถูกมองจากสังคมไทยว่า ไม่ใช่การพนัน แม้แต่การตีความในกฏหมายส่วน พ.ร.บ.การพนันปี 2478 ก็ไม่ได้กำหนดว่า การเสี่ยงโชคนี้คือการพนัน ทั้งที่ในต่างประเทศจะระบุชัดว่า การโฆษณาเสี่ยงโชค ที่ส่งผลให้ผู้บริโภคเสียทรัพย์ล้วนเข้าข่ายการพนันแทบทั้งสิ้น รวมไปถึงการจดทะเบียนขออนุญาตเพื่อให้มีการจัดกิจกรรมเสี่ยงโชคผ่านสินค้าไปยังหน่วยงานรัฐ ก็สามารถทำได้อย่างง่ายดาย เพราะถูกมองว่าไม่เข้าข่ายของการพนัน ทั้งที่ความเป็นจริงเป็นกิจกรรมที่เข้าข่ายการพนันอย่างชัดเจน
“ในพ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 ที่มีการใช้กันมาอย่างยาวนาน จึงถึงเวลาแล้ว ที่ทางภาครัฐรวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องหันมาตีความในส่วนของการเสี่ยงโชคลุ้นรางวัลในสินค้าประเภทต่างๆ เข้าข่ายการพนันด้วยหรือไม่ เข้าใจว่า การจะบัญญัติห้ามในกฎหมายอาจเป็นไปได้ยาก แต่ช่องทางในการปรับเปลี่ยนตีความในส่วนมาตรา 7ใน พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 ก็ได้เปิดช่องให้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขเพิ่มเติมได้ เช่น สามารถระบุช่วงระยะเวลาในการโฆษณาการเสี่ยงโชคจับรางวัล การกำหนดมูลค่าการเสี่ยงโชคที่ไม่ให้มากจนโอเวอร์ล่อตาล่อใจมากเกินไป เป็นต้น ตรงนี้ถือเป็นการกำหนดกรอบ ป้องปราม ไม่ใช่การปล่อยให้มีกันอย่างอย่างเอิกเกริก มอมเมาอย่างเช่นทุกวันนี้”ผศ.ศรัณยพงศ์ กล่าว
ผศ.ศรัณยพงศ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการใช้ ว่าจ้างตัวแทน หรือนอมินี เป็นผู้ทำการจดทะเบียนขออนุญาตกับ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้มีการจัดให้มีกิจกรรมและโฆษณา การให้รางวัลด้วยวิธีการเสี่ยงโชค ลุ้นรางวัลในสินค้า ก็ควรมีการปรับเพิ่มเติมในกฎหมายการพนันเช่นกัน เพราะปัจจุบัน จะเห็นว่า เจ้าของกิจการมักใช้วิธีการว่าจ้างบริษัท ไปทำการจดทะเบียนขออนุญาตแทน จึงเกิดการดำเนินการส่งเสริมให้มีกิจกรรมการเสี่ยงโชคลุ้นรางวัลในสินค้าอย่างกว้างขวาง และหากนอมินีที่เจ้าของจ้างไปจดทะเบียนเกิดการทำผิด หรือถูกเพ่งเล็งจากหน่วยงานรัฐ เจ้าของกิจการก็จะไปว่าจ้างบริษัทอื่นดำเนินการไปเรื่อยๆ แบบไม่มีความผิด
สำหรับการกระทำความผิดตามข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทย และตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 นั้น มีโทษไม่สูงมาก เช่น การนำผู้ที่ไม่ถูกรางวัลจริงมารับรางวัลที่ การจัดกิจกรรมให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค โดยไม่ได้ขออนุญาต เป็นต้น จะมีโทษทางกฎหมายพนัน สูงสุดปรับ 5,000 บาทจำคุก 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับเท่านั้น จึงไม่ค่อยมีการเกรงกลัวกัน ฉะนั้นควรมีการเพิ่มโทษให้หนักขึ้น และควรมีการปรับแก้ให้เฉพาะเจ้าของกิจการเป็นผู้จดทะเบียนขออนุญาตเท่านั้น เพราะหากผู้ขออนุญาตทีเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ ทำผิด ก็ควรขึ้นแบล็กลิสต์ ไม่ให้ขออนุญาตจัดกิจกรรมได้อีก และที่สำคัญควรกำหนดให้ผู้ประกอบการ ได้มีสามัญสำนึกเกี่ยวกับการรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการกำหนดอายุผู้เล่นไม่ควรต่ำกว่า 18 ปีไว้ด้วยจะดีที่สุด