SCG Sharing the Dream สานฝันการศึกษาไม่ใช่แค่ไทยแต่ไปไกลถึงเมียนมาร์
“ที่พม่าไม่ค่อยมีทุนเรื่องการศึกษาต่อมากนัก มีเพื่อนหลายคนไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ดังนั้นการมีทุนเข้ามาจึงเป็นเรื่องการคว้าโอกาสที่จะผลักดันตัวเอง โดยเฉพาะคนที่มีข้อจำกัดเรื่องฐานะ และชีวิตความเป็นอยู่”
สำนักข่าวอิศรา มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับบริษัทเอสซีจี ณ เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ เพื่อมอบทุนการศึกษาในโครงการ SCG Sharing the Dream จำนวน 200 ทุน ให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (Grade 10–11) ในย่างกุ้ง และรัฐมอญ
ทุนการศึกษา แบ่งเป็นนักเรียนที่ย่างกุ้ง 100 คน และรัฐมอญ 100 คน โดยผู้ที่ได้รับทุนฯ ต้องมีผลการเรียนดี มีความกระตือรือร้นที่จะศึกษาต่อ เป็นคนดีของสังคม กตัญญูต่อพ่อแม่ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์
"วีนัส อัศวสิทธิถาวร" ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กรเอสซีจี เล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการ SCG Sharing the Dream ว่า เอสซีจีได้จัดโครงการ SCG Sharing the Dreamในภูมิภาคอาเซียน (นอกเหนือประเทศไทย)ที่ประเทศเวียดนามเป็นแห่งแรกเมื่อปี 2550 และได้ขยายไปยังประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา พร้อมกับการจัดกิจกรรมเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้เป็นคนดีของสังคม และมีแนวทางดำเนินงานที่สอดคล้องกับเอสซีจี ทั้งในด้านความยุติธรรมและความโปร่งใส เพื่อปลูกฝังความรู้และพัฒนาการศึกษาของเยาวชนทั้งในประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ผอ.สำนักงานสื่อสารองค์กรเอสซีจี บอกว่า โครงการมอบทุนการศึกษาที่พม่าจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2555 โดยความร่วมมือจาก Myanmar Business Executive Association (MBE) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำความคิด และนักธุรกิจที่รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือสังคม และได้รับความร่วมมือจากสถานทูตไทย และรัฐท้องถิ่นทั้งย่างกุ้งและรัฐมอญ
โครงการ SCG Sharing the Dream ที่เมียนมาร์ จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 แล้ว โดยปีนี้ได้รับเกียรติจาก H.E. U Myint Swe, Chief Minister, Yangon Region นายฉัตรนพดล อักษรสวาสดิ์ กงสุลประจำสถานทูตไทยในเมียนมา นายอารีย์ ชวลิตชีวินกุล Vice President-Regional Business เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และนายชนะ ภูมี Country Director-Myanmar เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เป็นผู้มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนพร้อมอุปกรณ์การศึกษา
ส่วนคุณสมบัติของนักเรียนที่จะรับทุนการศึกษานั้น ต้องเป็นนักเรียนที่ศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (Grade 10 – 11) ในย่างกุ้งและรัฐมอญ มีผลการเรียนดี มีความกระตือรือร้นที่จะศึกษาต่อ เป็นคนดีของสังคม และมีความกตัญญูพ่อแม่ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยในปีนี้ได้เพิ่มมูลค่าทุนเป็นทุนละ 220,000 Kyats หรือประมาณ 7,700 บาท จากเดิม 210,000 Kyats หรือประมาณ 7,100บาท ตามค่าครองชีพในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ที่เพิ่มสูงขึ้น
พร้อมกันนี้มีการปรับปรุงรูปแบบกิจกรรม Team Building เพื่อปลูกฝังทักษะความกล้าแสดงออกและภาวะความเป็นผู้นำด้วย
“สำหรับสาเหตุที่เกณฑ์การคัดเลือกในเมียนมาร์แตกต่างจากในไทยที่คัดเลือกจากเรียงความและดูความยากจนและลำบากเป็นหลัก อาจไม่นำเรื่องการเรียนมาพิจารณามาประกอบเป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากที่เมียนมาร์คนยากจนมีจำนวนมาก ถ้าให้คงให้ไม่พอ ดังนั้นจึงอยากให้เด็กที่นี่รู้จักขวนขวายและอยากให้เด็กที่มีความตั้งใจได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาจริงๆ”
"ฟ้าใส" สาวเมียนมาร์ วัย 21 ปี ผู้ประสานงานในการคัดเลือกทุนของบริษัทเอสซีจีในเมียนมาร์ อธิบายถึงวิธีการ ทั้งประกาศรับสมัครนักเรียนผ่านโรงเรียนต่าง ๆ โดยนักเรียนที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์สามารถส่งใบสมัครพร้อมผลการเรียนและเรียงความภายใต้หัวข้อที่กำหนด โดยเล่าเรื่องราวของชีวิต เกี่ยวกับความเป็นคนเก่ง คนดี มีความกตัญญู และความมุ่งมั่นที่จะศึกษาต่อ
จากนั้น คณะกรรมการจะร่วมกันคัดเลือกผู้สมัครที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ก่อนลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนและสัมภาษณ์นักเรียนที่ผ่านรอบแรก แล้วจึงนำผลมาหารือร่วมกัน เพื่อประกาศผลนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือก
การประเมินของคณะกรรมการหลังจากลงพื้นที่และสัมภาษณ์นักเรียนจะแบ่งคะแนนเป็นสัดส่วน ผลการเรียนให้ 10 คะแนน และคะแนนสภาพความเป็นอยู่เรื่องการขาดแคลนก็ 10 คะแนนเช่นเดียวกัน โดยจะให้คะแนนลดหลั่นกันตามความเหมาะสม เช่น ถ้ายากจนแต่มีพ่อมีแม่ กับยากจนแต่เหลือแม่คนเดียว คนที่เหลือแม่คนเดียวก็จะได้คะแนนในสัดส่วนนี้มากกว่า หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จากตัวแทนกระทรวงศึกษาธิการ เจ้าหน้าที่ตัวแทนจากเขตเทศบาล และพนักงานเอสซีจีจะไปโรงเรียนของเด็กที่ผ่านเกณฑ์จากการเขียนเรียงความและประเมินความยากจน เพื่อที่จะไปลงพื้นที่ตรวจสอบว่ายากจนจริงหรือไม่
เธอ เล่าอีกว่า หลายครั้งที่ลงพื้นที่บางคนเขียนเรียงความมาว่ายากจนมาก แต่พอไปเจอก็พบว่ามีบ้านหลังใหญ่อยู่ หรือบางคนอยู่บ้านหลังใหญ่เราเข้าใจว่าพ่อแม่เขามีเงินมีฐานะ แต่ความจริงแล้วแม่ทำงานเป็นคนใช้ในบ้าน
ส่วนกรณีจะมีการโกงหรือให้ข้อมูลเท็จนั้น ผู้ประสานงานหญิง ยืนยันว่า ไม่มีแน่นอน เพราะหลังจากเข้าไปขอข้อมูลที่อยู่และข้อมูลพื้นฐานของเด็กจากโรงเรียน ตอนลงพื้นที่จะไม่แจ้งเด็กว่าจะไปวันไหน จะสุ่มโดยไม่บอกล่วงหน้าเพื่อที่ให้ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของเด็กที่แท้จริง
"มีทีมลงพื้นที่ประมาณ4-5 ทีม และแต่ละเขตจะใช้เวลาประมาณ1-2 วัน ส่วนการเขียนเรียงความส่งเข้ามาเพื่อพิจารณาจะต้องมีความยาวไม่น้อยกว่า 1 หน้ากระดาษเอ4 และไม่เกิน 4 หน้า"
Thiri Tint สาวน้อยวัย 17 ปี จากเมืองย่างกุ้ง หนึ่งในผู้ที่ได้รับทุน เธอรู้จักโครงการ SCG Sharing the Dream จากครูที่โรงเรียน จึงส่งเรียงความเข้าประกวด เพราะอยากได้ทุนเรียนหนังสือ
Thiri Tint ได้รับทุนจากบริษัทเอสซีจีในขณะที่ศึกษาอยู่เกรด 11 หากเปรียบเทียบกับระบบการศึกษาไทย หมายความว่าเธอเรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว และกำลังจะก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย
สำหรับวันนี้เธอมารับทุนในฐานะผู้สอบได้คะแนน National Test ยอดเยี่ยม (National Test เป็นการสอบประเมินนักเรียนระดับประเทศของเมียนมาร์และจะใช้เพียงคะแนน National Test ในการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย) โดยเธอสามารถฝ่าฝันเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในสาขาเภสัชศาสตร์ได้แล้ว
Thiri Tint มีพี่น้อง 3 คน พ่อซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวเสียชีวิตแล้ว เหลือแต่แม่เท่านั้นซึ่งก็ไม่มีอาชีพเป็นแม่บ้านธรรมดา รายได้จากครอบครัวจะมาจากพี่สาวที่กำลังศึกษาในสาขาทันตแพทย์ โดยจะทำงานเสริมเพื่อส่งเงินให้น้องและแม่ ทั้งนี้เธอจะได้เงินจากพี่สาววันละ 30 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน
สำหรับเรียงความที่ Thiri Tintส่งเข้ามาประกวดเพื่อคัดเลือกในการรับทุนนั้น เธอบอกว่า เธอเล่าประวัติครอบครัวและความฝันของเธอที่อยากจะเป็น โดยในเรียงความสิ่งที่เธอฝันคืออยากเป็นหมอ แต่เพราะคะแนนของเธอไม่ถึงเธอจึงต้องเปลี่ยนมาเรียนเภสัชแทน แต่ก็ยังตั้งใจว่าจะทำให้อาชีพนี้ให้ดีที่สุดเมื่อจบมา
เช่นเดียวกันกับ Eiyatanar Lwin เด็กสาว อายุ 16 ปี จากย่างกุ้ง ซึ่งเข้าร่วมโครงการรับทุนของเอสซีจีตั้งแต่เรียนอยู่เกรด 10 และได้ทุนต่อเนื่องกระทั่งจบการศึกษาในระดับเกรด11 เธอมารับรางวัลเดียวกันกับ Thiri Tint โดยเธอเรียนได้เกรด 6 ทุกรายวิชา และสามารถสอบเข้าคณะแพทย์ศาสตร์ได้ด้วยคะแนน 514 คะแนน จากคะแนนเต็ม 600 คะแนน
ทั้งนี้คะแนนที่ใช้เข้าศึกษาในคณะแพทย์ศาสตร์นั้น คะแนนต่ำสุดของปี 2558 คือ 505 คะแนนสำหรับผู้หญิง และ 486 คะแนนสำหรับผู้ชาย
Eiyatanar Lwin ว่าที่คุณหมอในอนาคต เล่าให้ฟังว่า เธอเป็นลูกคนโตของครอบครัว ดังนั้นจึงหวังว่าการศึกษาและการตั้งใจเรียน จะสามารถทำให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเรียงความของเธอนั้นเขียนและเล่าออกมาจากชีวิตเธอเองโดยตรง ไม่ถูกปั้นแต่งหรือแก้ไขจากครูผู้สอนแต่อย่างใด
ขณะที่ Aungyazar Thein เด็กหนุ่มวัย 16 ปี มณฑลมากุย ในย่างกุ้ง ได้รับทุนเอสซีจีมาตั้งแต่เกรด 10 และรับต่อเนื่องกระทั่งจบเกรด 11 เล่าว่า เขารู้จักทุนนี้จากพี่สาวเพราะพี่สาวเขาก็ได้รับทุนจนกระทั่งจบเกรด 11 ดังนั้นพี่สาวจึงเปรียบเสมือนแรงบันดาลใจให้เขาพยายามและเขียนเรียงความส่งเข้ามา
ส่วนสาเหตุที่เขาต้องการทุนการศึกษานั้น เนื่องจากขณะนี้พ่อแม่เสียชีวิตหมดแล้ว เรียงความของ Aungyazar Thein จึงบอกเล่าถึงความฝันที่อยากเป็นคุณหมอ เพราะในมณฑลมากุยที่เขาอาศัยอยู่ต้องมีคนตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากอยู่ห่างไกลโรงพยาบาล และเป็นป่า ดังนั้นหากเขาเรียนจบหมอเขาก็จะสามารถกลับไปช่วยเหลือคนในมณฑลที่เขาอาศัยอยู่ได้
เมื่อถามว่าเหตุใดการสอบเข้าคณะแพทย์ที่เมียนมาร์ จึงแบ่งสัดส่วนคะแนนของเพศหญิงและชายแตกต่างกัน โดยกำหนดให้ผู้หญิงต้องใช้คะแนนสูงกว่าผู้ชายในการสอบเข้า Aungyazar Thein อธิบายให้คลายสงสัยว่า สาเหตุที่คะแนนผู้หญิงต้องมากกว่าผู้ชาย เพราะต้องการได้หมอที่เป็นผู้ชายมากกว่า เนื่องจากผู้ชายมีความคล่องตัวที่จะไปทำงานให้กับรัฐบาลในสถานที่ทุรกันดารได้ ขณะที่ผู้หญิงจะมีข้อจำกัดในเรื่องสถานที่ บางครั้งยังใช้ทำงานให้รัฐไม่ครบ 2 ปี ก็มีครอบครัวแล้ว การใช้กำหนดเป็นตัวกำหนดจึงเปรียบเสมือนการจำกัดให้ผู้หญิงเข้าเรียนแพทย์ได้ยากและน้อยกว่าผู้ชาย
“ที่เมียนมาร์ไม่ค่อยมีทุนเรื่องการศึกษาต่อมากนัก มีเพื่อนหลายคนไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ดังนั้นการมีทุนเข้ามาจึงเป็นเรื่องการคว้าโอกาสที่จะผลักดันตัวเอง โดยเฉพาะคนที่มีข้อจำกัดเรื่องฐานะ และชีวิตความเป็นอยู่”