ศูนย์ทนายความฯ จี้ คสช.ยุติคุมตัวบุคคลวิพากษ์วิจารณ์การเมือง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เเถลงการณ์ต่อการควบคุมตัวบุคคลที่เเสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง มีรายละเอียด ดังนี้
จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวนายพิชัย นริพทะพันธุ์ ในวันที่ 9 ก.ย.58 นายการุณ โหสกุล ในวันที่ 10 ก.ย.58 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ให้สัมภาษณ์ว่าการควบคุมตัวนายพิชัยและนายการุณมีสาเหตุจากบุคคลดังกล่าวแสดงความเห็นวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล
และล่าสุดได้มีการควบคุมตัวนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสสำนักข่าว เดอะ เนชั่น เมื่อวันที่ 13 ก.ย.58 ที่ผ่านมา
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความเห็นทางกฎหมายต่อการใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าวดังต่อไปนี้
1. ปัจจุบันมีการยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารไม่มีอำนาจควบคุมบุคคลโดยอาศัยเหตุตามกฎอัยการศึกได้อีก แต่ในวันเดียวกันหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราวแห่งราชอาณาจักรไทยออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 กำหนดให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารหรือบุคคลที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้ง มีอำนาจเรียกตัวบุคคลมาเพื่อสอบถามข้อมูลหรือให้ถ้อยคำและจะควบคุมตัวบุคคลได้แต่ต้องไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาล ซึ่งการใช้อำนาจดังกล่าวต้องเป็นไปเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเท่านั้น ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ด้านการเมืองหรือการบริหารงานของรัฐบาล ถือเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกโดยปกติตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากรัฐบาลทุกรัฐบาลพึงต้องถูกตรวจสอบและถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ กรณีดังกล่าวจึงไม่เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยใช้อำนาจเรียกบุคคลให้ไปให้ถ้อยคำหรือใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลใดๆ ด้วยเหตุดังกล่าวได้
ทั้งนี้ มาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 ซึ่งเป็นฐานที่มาของคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองหัวหน้าคสช. และเจ้าหน้าที่ที่กระทำการตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ให้ไม่ต้องรับผิด ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ที่ไทยเป็นภาคี และเป็นการทำลายหลักการพื้นฐานสำคัญของหลักนิติธรรมโดยเฉพาะหลักความรับผิดภายใต้กฎหมาย การใช้อำนาจและการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 จึงต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายและตรวจสอบได้โดยกลไกอื่นๆ โดยเฉพาะองค์กรตุลาการซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบถ่วงดุลและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
2. แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาปกครองประเทศโดยการยึดอำนาจ แต่คสช.ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 โดยมาตรา 4 ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทยตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ดังนั้นเสรีภาพในการแสดงความเห็นของบุคคลจึงได้รับการคุ้มครองตามข้อ19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง บุคคลที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองหรือการทำงานของรัฐบาลโดยสุจริต จึงได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวเพื่อเรียกบุคคลไปพบโดยอ้างว่าเพื่อพูดคุยหรือปรับทัศนคติ เป็นการนำบุคคลไปซักถามและควบคุมตัวได้เป็นเวลาถึงเจ็ดวันเพียงเพราะเหตุจากการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างนั้น ถือเป็นการใช้มาตรการที่ลิดรอนเสรีภาพของบุคคลที่เกินหลักความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน ในหลายกรณีเจ้าหน้าที่ทหารที่ควบคุมตัวไม่แจ้งชื่อ ตำแหน่ง หรือหน่วยงานต้นสังกัด ไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ไม่อนุญาตผู้ถูกควบคุมตัวติดต่อหรือพบญาติหรือคนที่ไว้วางใจ และไม่ให้สิทธิพบหรือปรึกษาทนายความ ทั้งที่บุคคลดังกล่าวไม่ใช่ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ทำให้ไม่ทราบชะตากรรมของผู้ถูกควบคุมตัว และอาจสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งการทรมานและอุ้มหาย กรณีดังกล่าวจึงเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบ ตามกฎหมาย ขัดกับข้อ 9 ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
บุคคลใดที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ไต่สวนการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้ ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศกำหนดให้บุคคลมีสิทธิยื่นคำร้องให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัว อันเป็นหลักประกันสิทธิผู้ถูกควบคุมตัวที่ไม่อาจลิดรอนได้โดยเด็ดขาด แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือกรณีใดๆ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการเรียกบุคคลซึ่งมีความเห็นแตกต่างกับรัฐบาลไปซักถามและควบคุมตัวโดยปราศจากฐานทางกฎหมายรองรับ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและละเมิดต่อข้อ 9 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จึงเรียกร้องให้รัฐบาลหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
1.ยุติการเรียกบุคคลให้รายงานตัวและควบคุมตัวบุคคลใดๆอันเนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองหรือการทำงานของรัฐบาล อันเป็นการคุกคามผู้ที่เห็นต่างกับรัฐบาลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 เนื่องจากไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องประกาศใช้ และยุติการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 และปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวทันที
3.การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยสุจริต เป็นสิทธิอันพึงกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ทั้งนี้เพราะความยุติธรรมเป็นรากฐานของสังคม ประชาธิปไตยไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากความยุติธรรม
ภาพประกอบ:เว็บไซต์thaienews.blogspot.com