เหตุผลศาลฎีกาฯคดีกรุงไทย ไม่รู้ใคร“บิ๊กบอส”-สาวไม่ถึง“พานทองแท้”ฟอกเงิน?
“…ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินว่า จำเลยที่ 25 มีการโอนเงินให้แก่บุตรและบุคคลใกล้ชิดกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นได้ว่า บุคคลดังกล่าวก็เป็นบุตรและเป็นบุคคลใกล้ชิดกับภริยาของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกัน นอกจากนี้แล้วก็ไม่มีพยานหลักฐานใดที่ส่อแสดงหรือบ่งชี้ว่าจำเลยต่าง ๆ ดังกล่าวได้ร่วมกันหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดส่วนนี้…”
ถือเป็นประเด็นร้อนที่สังคมยังไม่ได้รับความกระจ่างชัด !
สำหรับข้อกล่าวหา “ฟอกเงิน” ในคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษฎามหานครเสียหายกว่าหมื่นล้านบาท ของนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ (อดีตภรรยานายทักษิณ) นายวันชัย หงส์เหิน สามีนางกาญจนาภา และนายมานพ ทิวารี บิดา น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย
เนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยืนยันว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ไม่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษกรณีฟอกเงินในส่วนของ “พานทองแท้-พวก” ทั้ง 4 คน แต่ถ้าผลการสอบเส้นทางการเงินโยงไปถึงก็ต้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
สวนทางกับ “แก้วสรร อติโพธิ” อดีตเลขาธิการ คตส. ที่ระบุว่า ในที่ประชุม คตส. มีมติให้ดำเนินคดีกับนายพานทองแท้ กับพวกใน 2 ข้อกล่าวหาได้แก่ รับของโจร กับฟอกเงิน
โดยเฉพาะข้อกล่าวหาฟอกเงินนั้น ยืนยันชัดถ้อยชัดคำว่า “หลักฐานครบ” !
เพราะปรากฏข้อเท็จจริงว่า เส้นทางการเงินในคดีกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษฎามหานครนั้น มีเงินบางส่วนถูกโอนเข้าบัญชีเครือข่าย “บริวารตระกูลชินวัตร” ชัดเจน ดังนั้นถือว่าเป็นการฟอกเงิน หรือสนับสนุนให้มีการฟอกเงิน
(อ่านประกอบ : ดีเอสไอยันคตส.ไม่กล่าวหา'พานทองแท้' ฟอกเงินคดีกรุงไทย-รับของโจรไม่มีมูล, “แก้วสรร”สวนดีเอสไอ ยัน คตส.ให้เอาผิด “พานทองแท้-พวก”ฟอกเงินคดีกรุงไทย)
กรณีนี้มีความเชื่อมโยงกับคดีกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษฎามหานคร เนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะผู้พิพากษาได้พิเคราะห์ในประเด็นในส่วนของ “บิ๊กบอส” ซึ่งถูกอ้างว่า เป็นตัวการใหญ่ที่สั่งการให้ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ และมีการโอนเงินเข้าบัญชีเครือญาติ “ทักษิณ” ด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำพิพากษาเฉพาะประเด็นดังกล่าว มานำเสนอให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้
“ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2-5 (ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย) และที่ 8-27 (พนักงานธนาคารกรุงไทย-เอกชนเครือกฤษฎามหานคร) ซึ่งได้วินิจฉัยว่าการกระทำความผิดดังที่กล่าวมาข้างต้น ได้ร่วมกันกระทำความผิดหรือสนับสนุนจำเลยที่ 1 (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ ยศและตำแหน่งขณะนั้น) ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการดูแลกิจการธนาคารผู้เสียหาย ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและโดยมิชอบ เข้ามีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และมาตรา 157 หรือไม่
พยานหลักฐานที่ปรากฏตามทางไต่สวน ได้ความจากนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ กรรมการบริหารธนาคารผู้เสียหายพยานโจทก์ว่า ก่อนประชุมพิจารณาอนุมัติสินเชื่อรายของจำเลยที่ 19 (บริษัท โกลเด้นฯ เครือกฤษดามหานคร) จำเลยที่ 2 (ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ์ กรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย ขณะนั้น) โทรศัพท์มาขอร้องพยานว่า อย่าได้คัดค้านสินเชื่อรายนี้ เพราะผู้ใกล้ชิดกับจำเลยที่ 1 แจ้งว่า “บิ๊กบอส” หรือ “ซูเปอร์บอส” ดูดีแล้ว
โดยพยานว่า บิ๊กบอส หรือซูเปอร์บอส หมายถึงจำเลยที่ 1 เห็นว่า พยานปากนี้เบิกความในชั้นพิจารณาว่า บิ๊กบอส หรือซูเปอร์บอส หมายถึงจำเลยที่ 1 แต่ในชั้นคณะอนุกรรมการตรวจสอบ ให้การว่า หมายถึง จำเลยที่ 1 หรือภริยาของจำเลยที่ 1 (คุณหญิงพจมาน)
และในชั้นอนุกรรมการไต่สวน (ของ คตส.) กลับให้การว่า หมายถึงจำเลยที่ 1 ที่พยานว่าบิ๊กบอส หรือซูเปอร์บอส หมายถึงจำเลยที่ 1 ก็ได้ความว่า เป็นเพราะพยานจับความเอาจากที่ได้เคยร่วมประชุมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเห็นว่าความที่ได้จากพยานปากนี้เกิดขึ้นด้วยความคิดและความเข้าใจของพยานเองโดยลำพัง
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาคำให้การของพยานในชั้นคณะกรรมการไต่สวน โดยคำนึงถึงว่าได้ให้การไว้ในเวลาใกล้ชิดกับเหตุที่เกิด น่าจะคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงน้อยกว่าที่เบิกความในชั้นศาลที่มีขึ้นหลังจากนั้นเป็นเวลานานแล้ว ย่อมเห็นได้ว่า บิ๊กบอส หรือซูเปอร์บอส ยังไม่แน่ชัดว่า หมายถึงใครกันแน่
ทั้งที่ได้ความจากนายจิรพงศ์ ปัญจนนท์ (เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อ ซึ่ง คตส. ให้ข้อกล่าวหาตกไป) ก็เพียงว่า ทราบจากจำเลยที่ 13 (นายประพันธ์พงศ์ ปราโมทย์กุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อ) ว่า มีผู้บริหารระดับสูงของธนาคารที่ไม่สามารถระบุชื่อ ได้สั่งการให้จำเลยที่ 12 (นายไพโรจน์ รัตนะโสภา เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อ) ดำเนินการเกี่ยวกับสินเชื่อรายนี้เท่านั้น
ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินว่า จำเลยที่ 25 (นายวิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้บริหารเครือกฤษฎามหานคร) มีการโอนเงินให้แก่บุตรและบุคคลใกล้ชิดกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นได้ว่า บุคคลดังกล่าวก็เป็นบุตรและเป็นบุคคลใกล้ชิดกับภริยาของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้แล้วก็ไม่มีพยานหลักฐานใดที่ส่อแสดงหรือบ่งชี้ว่าจำเลยต่าง ๆ ดังกล่าวได้ร่วมกันหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดส่วนนี้
พยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏ จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2-5 และที่ 5-27 ร่วมกระทำความผิดหรือสนับสนุนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการดูแลกิจการธนาคารผู้เสียหาย ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและโดยมิชอบ เข้ามีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และมาตรา 157”
ทั้งหมดคือคำวินิจฉัยขององค์คณะฯ สำหรับประเด็น "บิ๊กบอส" ตัวการใหญ่ในการสั่งผู้บริหารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษฎามหานคร รวมถึงโอนเงินให้กับ "เครือญาติทักษิณ" เป็นการตอบแทน
ส่วนข้อกล่าวหาฟอกเงิน "พานทองแท้-พวก" ท้ายสุดจะมีบทสรุปอย่างไร ต้องติดตามในสิ้นเดือน ก.ย. นี้
อ่านประกอบ :
แก้วสรร อติโพธิ : คดีทุจริตเงินกู้ธนาคารกรุงไทย ภาค 2
ขยายปม อสส.ไม่ฟ้อง“พานทองแท้-พวก”รับของโจรคดีกรุงไทย ใครรับผิดชอบ?
อัยการยัน“พานทองแท้-พวก”ไม่ใช่ จนท.รัฐ ชนวนไม่ฟ้องปมรับของโจรคดีกรุงไทย
จำแนกจำเลย-โทษเรียงตัวคดีกรุงไทย ไขปริศนา? ไฉนไม่มีชื่อ“พานทองแท้”
ข้อมูลลับความเชื่อผู้บริหาร "เอคิว" ก่อนศาลฯ พิพากษาชดใช้กรุงไทยหมื่นล.!
คำให้การมัดคดีกรุงไทยโผล่เว็บศาลฯ ชื่อ 2 กก.บริหาร "อุตตม-รมว.ไอซีที" รอด!
พิพากษาจำคุก “ร.ท.สุชาย-วิโรจน์” 18 ปี ทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย ชดใช้หมื่นล.