เก็บตกสัมมนา“พลเมืองปฏิรูปประเทศ” ถกปัญหา“ไทย”มีอนาคตด้วยหรือ?
“…ประชาชนต้องมีความเชื่อมั่นในความเท่าเทียม เพราะที่ผ่านมามันเท่าไม่จริง เป็นไปได้ไหมว่ารัฐจะไม่คิดแทนประชาชน อย่าคิดว่าจะคิดแทนประชาชนได้ 70 ล้านคนก็เท่ากับ 70 ล้านความคิด … ทำอย่างไรให้การเมืองสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงก่อน พรรคการเมืองทำเพื่อประชาชน นักการเมืองทำเพื่อประชาชน…”
“ประเทศไทยมีด้วยเหรออนาคต ?”
เป็นคำกล่าวติดตลกของ “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่หล่นกลางวงสัมมนา “พลเมืองร่วมปฏิรูปประเทศ” จัดโดยหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) รุ่นที่ 5
ท่ามกลางวิทยากรจากหลายภาคส่วน นอกเหนือจากนายจตุพร เช่น นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (กปปส.) และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์, นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการ,นักเขียนอิสระ และผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองเน็ต
คำพูดดังกล่าว เสมือนระเบิดโยนกลับไปยังทุกภาคส่วนในสังคมว่า ท้ายสุดเส้นทางการ “ปฏิรูปประเทศ” จะเป็นไปได้จริง อย่างที่หวังกันหรือไม่ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เก็บตกบรรยากาศในวงสัมมนาดังกล่าว มาเรียบเรียงให้เห็นภาพชัดขึ้น ดังนี้
การสัมมนาเปิดฉากพูดคุยถึงเหตุการณ์ในอดีตสะท้อนถึงปัจจุบันอย่างไร โดย “บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์” ระบุว่า เคยเข้าร่วมกับสมัชชาคนจน (ปี 2543) โดยเล็งเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการปฏิรูป คือ โครงสร้างทางการเมือง
“ต้องไม่ทำให้อำนาจอธิปไตยของประชาชนหยุดลง และการมีส่วนร่วมที่ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญต้องทำให้ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเกิดขึ้นจริง”
ขณะที่ “สฤณี อาชวานันทกุล” ยืนยันว่า “วัฒนธรรมไทยเป็นชาติที่รักสบาย” ?
เธอขยายความว่า หากไม่มีปัญหาจริง ๆ คงไม่มีใครออกมาเดินบนถนน ประชาชนเพียงต้องการเรียกร้องสิทธิที่ตนพึงจะมี โดยการปฏิรูปนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และการออกกฎหมายมาเยอะ ๆ ก็ไม่ได้แปลว่าเป็น ‘การปฏิรูป’ นอกจากนี้ยังยืนยันว่า “ไม่มีประชาชนคนใดต้องการที่จะมีอำนาจ”
ส่วนไฮไลต์ของงาน อยู่ที่ตัวแทนของคู่ขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง นปช. กับ กปปส.
“จตุพร” เปิดฉากพูดกลั้วหัวเราะว่า “ประเทศไทยมีด้วยเหรออนาคต ?”
ก่อนจะเผยต่อว่า ประชาชนต้องมีความเชื่อมั่นในความเท่าเทียม เพราะที่ผ่านมามันเท่าไม่จริง เป็นไปได้ไหมว่ารัฐจะไม่คิดแทนประชาชน อย่าคิดว่าจะคิดแทนประชาชนได้ 70 ล้านคนก็เท่ากับ 70 ล้านความคิด วันนี้คนจำนวนหนึ่งตัดสินใจแทนประชาชน แต่ถ้าเราสร้างให้ทุกเรื่องกลายเป็นเรื่องของประชาชน ก็จะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นให้เห็น ไม่ใช่ว่าใช้มาตรา 44 (อำนาจของหัวหน้า คสช.) มาสั่งให้เชื่อ
“มติมันต้องมาจากจิตใจ พูดง่าย ๆ ว่า ประชามติมันต้องดีกว่ามาสเตอร์โพลล์ จงเห็นแก่ชาติมากกว่าเห็นแก่ตัว เรานำหน้าจนประเทศอื่นเขาแซงหน้ากันไปหมดแล้ว”
พร้อมเน้นย้ำถึงจุดสำคัญที่ทำลายระบบของมหาวิทยาลัยว่า เป็นความผิดของ “ฝ่ายความมั่นคง”
“สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คือ การเข้าไปทำลายในกระบวนการนักศึกษา และวิธีการทำลายตั้งแต่การแยกมหาวิทยาลัยเป็นวิทยาเขต วิทยบริการ เพราะถ้านักศึกษาสนใจการเมือง และเข้าไปทำกิจกรรมไม่ว่าจะอาสาพัฒนาชนบทหรือกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ เขาต้องเลือกในปี 1 แต่ถ้าปี 1 ไปเที่ยวห้างฯ ไปโต๊ะบิลเลียดกันเสียแล้ว จะไม่มีวันกลับมาสนใจอีก เพราะฉะนั้น การรับน้องที่ถูกต้องที่เขาเรียกว่า การรับเพื่อนใหม่ ที่เขาหาคนมาสืบทอดกันแต่ละรุ่น ก็เป็นเรื่องยากมากกับสิ่งที่มันเย้ายวนในโลกสมัยปัจจุบัน”
“ผมไม่เคยเห็นว่ามีนักศึกษาจำนวนมากตั้งแต่ยุค 14 ตุลา ถึงพฤษภาทมิฬ มีเพียงนักศึกษาจำนวนน้อย แต่เป็นจำนวนน้อยที่มีจุดยืนชัดเจน ประชาชนก็เข้าร่วม เวลานี้แต่ละมหาวิทยาลัยถูกการควบคุมกิจกรรม เพราะเป็นวัยเดียวที่เราเรียกว่า ‘พลังบริสุทธิ์’ เพราะว่าสามารถทำในสิ่งที่อยากทำได้ ทำในสิ่งที่ผิดหวังได้ ถ้าเกินวัยนี้ก็จะทำอะไรไม่ได้แล้ว ผมก็เสียดายว่าระบบมหาวิทยาลัยปัจจุบันไปทำลายกิจกรรมนักศึกษาเสียอย่างย่อยยับ” ประธาน นปช. ยืนยัน
ขณะที่ “เอกนัฏ” ระบุว่า ทั้งหมดต้องเริ่มจากค่านิยมของประชาชนทุกคนก่อนว่า ทุจริตคอรัปชั่น ‘เราไม่รับ เราไม่เอา’ เมื่อเกิดค่านิยมแบบนี้ ต่อไปก็ออกกลไกที่สามารถป้องกันและปราบปรามเรื่องการทุจริตได้ ส่วนเรื่องกลไกป้องกันต้องมองภาพรวมทั้งหมด เพราะทุจริตมีหลายเรื่อง อาทิ ทุจริตในโรงเรียน, ทุจริตในมหาวิทยาลัย, ฯลฯ
“เอกนัฏ” ขยายความว่า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่สร้างความเสียหายมากที่สุดคือการทุจริตในภาครัฐ !
“แต่ที่สร้างความเสียหายมากที่สุด คือ การทุจริตภาครัฐ เช่น โครงการจำนำข้าว ฯลฯ เสียหายเท่าไหร่ ไม่รู้ แต่มหาศาล เพราะการทุจริต เมื่อผู้ที่มีอำนาจไม่ทำตามเจตนารมณ์ของประชาชน ไม่รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัว เพราะวันที่เข้ามาของนักการเมืองบางคน ไม่ได้มาจากเจตนารมณ์ของประชาชน ถูกซื้อมาบ้าง ซื้อสิทธิ์ขายเสียงมาบ้าง พอเข้ามาถึงแทนที่จะเห็นหัวประชาชน กลับเห็นหัวเจ้านายดีกว่า เพราะอยากได้เงิน ก็เลยเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา”
“เพราะฉะนั้นต้องตัดวงจรอุบาทว์นี้ โดยทำอย่างไรให้การเมืองสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงก่อน พรรคการเมืองทำเพื่อประชาชน นักการเมืองทำเพื่อประชาชน โครงสร้างจะเกิดขึ้นจากตรงนี้ และเมื่อประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เขาก็สามารถเลือกตัวแทนเข้ามาแก้ไขปัญหาหรือตรวจสอบเองได้ พอเกิดระบบแบบนี้ ประชาชนให้ความสนใจมากขึ้น ในที่สุดการทุจริตมันก็จะเกิดขึ้นไม่ง่าย ที่ผ่านมา น่าเสียดายว่าที่มันเกิดขึ้นง่าย เพราะเกิดจากการละเลยระบบที่ไม่ช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ” เลขาฯ มูลนิธิ กปปส. ยืนยัน
ทั้งหมดคือ ถ้อยคำบางส่วนจากผู้ร่วมสัมมนาที่ร่วมกันเปิดอกพูดคุยในประเด็น “พลเมืองร่วมปฏิรูปประเทศ”
โดยเฉพาะ 2 ประเด็นปัญหาใหญ่ ได้แก่ ปัญหาประชาธิปไตย-ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ที่ทุกองคาพยพในสังคมกำลังติดตาม
จะแก้ได้หรือไม่ ต้องจับตาดูต่อไปอย่างใกล้ชิด !
อ่านประกอบ : “จตุพร”ลั่นต่อให้ รบ.มีอำนาจแค่ไหน ถ้าใจแคบอยู่ไม่ได้
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก เดลินิวส์