รู้จัก "TATP - ระเบิดเปอร์ออกไซด์" สงสัยบึ้มราชประสงค์!
เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่จนถึงขณะนี้ทางการไทยยังไม่สรุปชนิดของวัตถุระเบิดที่คนร้ายใช้ในเหตุการณ์ลอบวางระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรม สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม 2558 ว่าเป็นระเบิดชนิดใด นอกจากสรุปกว้างๆ ว่าเป็น "ระเบิดแสวงเครื่อง" หรือ ไออีดี (improvised explosive device) เท่านั้น
"ระเบิดแสวงเครื่อง" หมายถึงวัตถุระเบิดแบบมาตรฐานที่ไม่ได้ใช้ในทางการทหาร แต่เป็นระเบิดที่ผู้ใช้ผลิตขึ้นเองจากวัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ในท้องถิ่น ซึ่งแต่ละพื้นที่ขัดแย้งก็จะมีองค์ประกอบแตกต่างกันไป
เหตุระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์มีการคาดการณ์ตั้งแต่หลังเกิดเหตุว่า ดินระเบิดที่คนร้ายใช้น่าจะเป็น "ทีเอ็นที" หรือ "ซีโฟร์" โดยประกอบใส่ท่อเหล็ก (ไปป์) มีฝาเกลียวปิดหัวท้าย มี "บอล แบริ่ง" หรือลูกเหล็กเป็นสะเก็ดระเบิด และอาจจุดระเบิดด้วยระบบตั้งเวลา โดยเปรียบเทียบกับซากวัตถุระเบิดที่พบจากเหตุการณ์ระเบิดที่ท่าเรือสาทรในวันถัดมา
แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีการสรุปว่า ดินระเบิดที่คนร้ายใช้เป็นชนิดใด โดยอ้างเหตุผลว่าต้องรอผลตรวจจากห้องแล็บ ทว่ากระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่มีการสรุปออกมาให้ชัดเจน
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลคำให้การของ นายเมอไรลี่ ยูซูฟู ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา และทางการไทยเชื่อว่าเขาเป็นมือประกอบระเบิด เพราะเป็นคนไปเลือกซื้อ "สารเคมี" จากร้านเคมีภัณฑ์จำนวน 4 ชนิด ทำให้นักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับ "สารตั้งต้นที่ใช้ประกอบระเบิด" เสนอทฤษฎีใหม่ว่า ระเบิดที่คนร้ายใช้ปฏิบัติการที่สี่แยกราชประสงค์ อาจไม่ได้มี "ดินระเบิด" ประเภททีเอ็นที หรือซีโฟร์ เป็นส่วนประกอบ
แต่อาจเป็นระเบิดที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาทางเคมีของ "สารเคมี" ล้วนๆ ที่รู้จักกันในนาม "ระเบิดเปอร์ออกไซด์" หรือ TATP (Triacetone Triperoxide, Peroxyacetone)
รู้จักระเบิดเปอร์ออกไซด์
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ นักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ระเบิดเปอร์ออกไซด์เป็นระเบิดแรงดันสูง (high explosive) มีรูปแบบการระเบิดและอานุภาพการทำลายล้างคล้าย "ทีเอ็นอี"
ระเบิดเปอร์ออกไซด์มาจากการผสมและทำปฏิกิริยากันของสารเคมี 4 ชนิดที่หาซื้อได้ในชีวิตประจำวัน (สงวนชื่อสารเคมี) ประกอบด้วย สารเคมีในน้ำยาล้างเล็บ, สารเคมีในน้ำยาล้างแผล, สารเคมีที่ใช้ในการล้างผัก และกรดเกลือ
สารเหล่านี้จะถูกนำมาผสมกันและแช่เย็นให้ตกผลึก จากนั้นนำไปตากแห้งแล้วอัดใส่ท่อเหล็ก ปิดฝาเกลียวทั้งสองข้าง และต่อกับระบบจุดระเบิด ก็สามารถใช้เป็นระเบิดที่มีอานุภาพการทำลายล้างสูงได้
"สารตั้งต้น" ไม่ใช่ "ยุทธภัณฑ์"
"ความน่ากลัวของระเบิดชนิดนี้คือ สารเคมีที่นำมาใช้ประกอบเป็นระเบิด ไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นยุทธภัณฑ์ (ตามพระราชบัญญัติยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530) จึงสามารถหาซื้อได้อย่างเสรี และซื้อปริมาณเท่าใดก็ได้ ไม่เหมือนระเบิดแถวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใช้ 'ปุ๋ยยูเรีย' หรือสารจำพวกแอมโมเนียมไนเตรท ซึ่งถูกขึ้นทะเบียนเป็นยุทธภัณฑ์ หากซื้อปริมาณมากๆ ก็จะผิดสังเกต และถูกตรวจสอบได้ง่าย"
"ตามข่าวที่ปรากฏทางสื่อ นายเมอไรลี่ ยูซูฟู เป็นผู้ไปหาซื้อสารเคมี 4 ชนิดนี้ โดยเขาเป็นนักเคมี เรียนจบมาทางนี้ จึงน่าจะประกอบระเบิดชนิดนี้ได้ ผมสันนิษฐานว่าสารเคมีที่ใช้น่าจะมีน้ำหนักหลายกิโลกรัม ก่อนจะทำให้ตกผลึกเป็นผงสีขาว น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม จากนั้นก็นำไปอัดใส่ท่อเหล็ก ทำเป็นระเบิดไปวางที่ราชประสงค์" รศ.ดร.วีรชัย ระบุ
ไขปมไปป์เหล็ก-เผาไหม้สมบูรณ์
นักวิชาการด้านเคมีผู้นี้ ให้ข้อมูลต่อว่า ระเบิดเปอร์ออกไซด์ถ้าผสมสารเคมีด้วยความเข้มข้นที่พอเหมาะ จะเผาไหม้สมบูรณ์มาก การระเบิดจะมีลูกไฟพุ่งออกมาด้วย ระเบิดแล้วทุกอย่างหายไปหมด หาหลักฐานยาก และสาเหตุที่คนร้ายใช้ท่อเหล็ก (ไปป์บอมบ์) ไม่ใช่ท่อพลาสติก เพราะหนึ่งในสารประกอบระเบิดมีฤทธิ์เป็นกรด อาจกัดท่อพลาสติกจนละลาย สารประกอบระเบิดรั่วไหลได้
สำหรับวิธีจุดระเบิดของระเบิดเปอร์ออกไซด์ รศ.ดร.วีรชัย บอกว่า สามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การกระแทกแรงๆ ก็ทำให้เกิดการจุดระเบิด หรือใช้ปืนยิง รวมทั้งตั้งเวลา แล้วใช้ฝักแคหน่วงเวลา ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์น่าจะใช้ระบบตั้งเวลา และหน่วงเวลาด้วยฝักแค แต่เป็นฝักแคขนาดสั้น หน่วงเวลาเพียงชั่วครู่ สะท้อนว่ามือระเบิดใจถึงมาก
"ระเบิดลูกที่ 2 ที่ท่าเรือสาทร ผมคิดว่าเป็นการทำเผื่อลูกแรกพลาด แต่เมื่อลูกแรกสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง จึงนำไปทิ้งแม่น้ำ เพราะอายุของสารที่ตกผลึกแล้วนำมาทำเป็นระเบิดนั้น มีอายุเพียง 10 วัน เมื่อประกอบแล้วจึงต้องรีบใช้ แต่แม้จะนำไปทิ้งน้ำ ระเบิดเปอร์ออกไซด์ก็สามารถระเบิดจากในน้ำได้ อานุภาพแรงกว่าทีเอ็นที 2 เท่า"
เคยถูกใช้โจมตีลอนดอน
รศ.ดร.วีรชัย บอกด้วยว่า ระเบิดเปอร์ออกไซด์นิยมใช้ในหมู่ผู้ก่อการร้ายในตะวันออกกลาง เคยถูกใช้ในอิสราเอล รวมถึงการก่อการร้ายครั้งใหญ่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 โดยผู้ก่อการร้าย 4 คนใช้เปอร์ออกไซด์เป็น "ระเบิดพลีชีพ" ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 52 คน บาดเจ็บกว่า 700 คน
"ที่ผ่านมาทั่วโลกได้เตือนให้เฝ้าระวังระเบิดชนิดนี้ แต่เจ้าหน้าที่ไทยอาจไม่คุ้นชิน เพราะบ้านเรามักใช้ทีเอ็นที หรือซีโฟร์ ซึ่งเป็นระเบิดที่ใช้ทางการทหารเป็นหลัก ส่วนการก่อเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ใช้สารเคมีอีกกลุ่มหนึ่ง"
"ประกอบกับเครื่องตรวจหาสารประกอบระเบิดเปอร์ออกไซด์ บ้านเรายังไม่ได้นำมาใช้ จึงอาจตรวจหาได้ยาก ซ้ำยังเป็นสารที่ระเหยง่าย ผมเห็นภาพ กทม. (กรุงเทพมหานคร) ล้างถนนหลังวันเกิดเหตุเพียง 1-2 วัน อย่างนี้ไอระเหยของสารย่อมหายไปหมด ยิ่งทำให้ตรวจหาไม่เจอ" เขาไขปมที่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ทางการยังสรุปไม่ได้ว่าเหตุระเบิดที่คนร้ายใช้เป็นชนิดใด
หลบหลีกเครื่องตรวจระเบิด
ข้อมูลและข้อสังเกตของ รศ.ดร.วีรชัย สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง "TATP ระเบิดของผู้ก่อการร้าย" ที่ศึกษาโดยกองวิชาเคมี ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
เนื้อหาของงานวิจัยได้อธิบายถึงโครงสร้างทางเคมีของระเบิดชนิดนี้ และระบุว่าเป็นระเบิดที่สามารถทำเองได้ด้วยวัตถุดิบที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป แต่มีผลร้ายแรง เพราะมีความไวสูงมาก ซ้ำยังยังมีจุดเด่นตรงที่เครื่องตรวจวัตถุระเบิดส่วนใหญ่ไม่สามารถตรวจจับได้อีกด้วย ต้องใช้เครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดจำพวกเปอร์ออกไซด์เท่านั้น รวมทั้งเพิ่มมาตรการควบคุมสารเคมีที่นำขึ้นเครื่องบิน
งานวิจัยยังเสนอให้ภาครัฐควบคุมการใช้งานของ "สารตั้งต้น" ที่นำมาผลิตระเบิด TATP เพราะหาซื้อได้ง่าย เป็นสารเคมีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยสารเหล่านี้ถ้ามีความเข้มข้นต่ำ ก็ถูกใช้เป็นน้ำยาล้างเล็บ น้ำยาล้างแผล น้ำยาบ้วนปาก และน้ำยากัดสีผมนั่นเอง
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 3 รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์
2 ผลึกของ อซิโตน เปอร์ออกไซด์ (ขอบคุณภาพจาก วิกิพีเดีย https://en.wikipedia.org/wiki/Acetone_peroxide)
4 สารเคมี 4 ชนิดที่นำมาผสมเป็นเปอร์ออกไซด์ หาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาด