คลี่ปัญหาตั้ง“ซูเปอร์โฮลดิ้ง” ท้าทายฝีมือปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ รบ.ประยุทธ์?
“…การมี “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” เปรียบเสมือน “เกราะ” ป้องกันไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงได้ แต่บางส่วนก็ยังมองว่า รัฐวิสาหกิจมีทรัพย์สินเกือบเท่า GDP ของประเทศ คือประมาณ 12 ล้านล้านบาท ดังนั้นการห้ามรัฐบาลเข้าไปเป็นตัวแทน แล้วหากมีการบริหารจัดการผิดพลาด ใครจะรับผิดชอบ…”
เส้นทางการปฏิรูปประเทศ ในรัฐบาล นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
ในหลายด้านด้วยกัน ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยังไม่มีเค้าลางอะไรออกมา เช่น การปฏิรูปตำรวจ ที่ยังมืดมน ?
อย่างไรก็ดีการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญดั่ง “ไฟลนก้น” รัฐบาลชุดนี้ เริ่มมีอะไรออกมาเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น ตั้งแต่ปลายปี 2557-ต้นปี 2558
โดยเฉพาะการจัดตั้ง “ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ” หรือ คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจนั่งเก้าอี้กรรมการ รวมถึงกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากผู้เชี่ยวชาญ-คร่ำหวอดในด้านธุรกิจสายตลาดเงินและตลาดทุน เป็นต้น คอยออกนโยบายกำกับรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปในทางเดียวกันกับรัฐบาล
นอกจากนี้ยังมีการตั้ง “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” หรือ บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เป็นองค์กรคอย “ไล่บี้” ผลงานรัฐวิสาหกิจอีกด้วย
คำถามที่น่าสนใจคือ “ซูเปอร์บอร์ด” และ “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” มีโครงสร้างเป็นอย่างไร และสามารถแก้ไขปัญหาในรัฐวิสาหกิจได้จริงหรือ ?
เมื่อเร็ว ๆ นี้ แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. หนึ่งในองค์กรสำคัญในการกำกับตลาดทุน อธิบายเบื้องลึกเบื้องหลังถึงความจำเป็นที่ต้องมี “ซูเปอร์บอร์ด” และ “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” ไว้น่าสนใจ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงให้เข้าใจชัดขึ้น ดังนี้
แหล่งข่าว อธิบายให้เห็นถึงปัญหาของรัฐวิสาหกิจในไทยก่อนหน้านี้ว่า รัฐเล่น “หลายหน้า” มีหลายบทบาททับซ้อนกันอยู่ คือ รัฐเป็นทั้งเจ้าของเอง (กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่) เป็นผู้กำหนดนโยบาย เป็นผู้บริหาร และกำกับดูแลตรวจสอบเอง
ชี้ให้เห็นว่า การจัดการดังกล่าวไร้การ “ถ่วงดุล” เนื่องจากต้องบริหารจัดการตามที่รัฐบาลเสนอทั้งหมด ทำให้เมื่อเกิดปัญหา “ทุจริต” ย่อมตรวจสอบยาก และกว่าจะพบก็สายไปเสียแล้ว
รวมถึงปัญหานักการเมืองคัด “คนของตัวเอง” เข้าไปนั่งเป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ทำให้คนในบอร์ดฟังแต่นักการเมือง เป็นต้น
จากเดิมมีแค่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ทำหน้าที่กำกับดูแลอยู่ จากนี้ให้มี “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” หรือ บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เป็นองค์กรนำร่องก่อนที่จะเข้ามาคุมรัฐวิสาหกิจแบบเบ็ดเสร็จ
สำหรับ “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” นี้ “ซูเปอร์บอร์ด” มอบหมายให้ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธาน ศึกษารายละเอียดและยกร่างกฎหมายในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทุกแห่งในภาพรวม ทั้งการจัดทำแผนกลยุทธรัฐวิสาหกิจ การสรรหา แต่งตั้ง ถอดถอน การตรวจสอบ รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
และหากร่างเสร็จ ต่อไปนี้ “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” จะคอยขับเคลื่อนร่วมกันกับ สคร. โดยมี “ซูเปอร์บอร์ด” เป็นผู้ป้อนนโยบายให้
สำหรับ “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” จะทำหน้าที่เป็นเจ้าของ บริหารงาน และถือหุ้นรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจที่แปลงเป็นบริษัทมหาชน เช่น บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และรัฐวิสาหกิจที่แปลงเป็นบริษัทจำกัด เช่น บริษัท ขนส่ง จำกัด เป็นต้น รวมทั้งสิ้น 14 แห่ง จากรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 56 แห่ง
ส่วนรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นด้วยกฎหมายเฉพาะให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สคร. เหมือนเดิม เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หรือการประปา เป็นต้น รวมทั้งสิ้น 42 แห่ง
ทั้งนี้แนวคิดในการปฏิรูปมีอยู่ 3 ข้อใหญ่
1.ภาครัฐควรกำหนดความคาดหวังที่ชัดเจนต่อรัฐวิสาหกิจ ทั้งในภาพรวมและรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง
2.รัฐวิสาหกิจต้องหาแนวทางและผูกพันที่จะตอบสนองความคาดหวังของภาครัฐ
3.หากมีความขัดแย้งระหว่างการปฏิบัติตามนโยบายรัฐ กับเป้าหมายทางธุรกิจ ต้องเปิดเผย พร้อมระบุผลกระทบ โดยรัฐควรชดเชยให้รัฐวิสาหกิจนั้นด้วย
แหล่งข่าว ระบุว่า รัฐบาลต้องกำหนดลงลึกในหลายเรื่องให้ชัดเจน เช่น หากรัฐต้องการจะ “อุ้ม” รัฐวิสาหกิจบางแห่งไว้ ต้องอธิบายต่อรัฐสภาว่า จะอุ้มไว้เพราะสาเหตุอะไร หากอุ้มไว้จะเกิดกำไรหรือขาดทุนเท่าไหร่
หากฝ่ายค้านเห็นว่า “ไม่เข้าท่า” ก็สามารถอภิปรายโต้แย้ง และโหวตลงมติไม่รับรองก็ย่อมได้
สะท้อนให้เห็นการถ่วงดุลมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ต้องกำหนดนโยบายต่อรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งให้ชัด เช่น คาดหวังอะไรบ้าง จะป้องกันการทุจริตในองค์กรอย่างไร ก่อนที่จะให้ “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” ไปคอยไล่บี้ผลงาน
“ต่อไปนี้รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจจะเป็นผู้ผลักดันนโยบาย แต่ไม่ใช่เข้าไปแทรกแซง เพราะเป็นหน้าที่ของซูเปอร์โฮลดิ้งแล้ว และรัฐวิสาหกิจจะต้องตอบสนองและดำเนินการตามนโยบายรัฐ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นหน้าที่ใหม่ของรัฐมนตรี เพราะในอดีตไม่เคยมีหน้าที่นี้มาก่อน”
หากรัฐวิสาหกิจทำผลงานไม่ได้ตามเป้า หรือเกิดการทุจริตขึ้น รัฐวิสาหกิจแห่งนั้น ๆ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ !
ขณะเดียวกันในส่วนของการแข่งขันกับภาคเอกชน ควรกำหนดโครงสร้างกฎหมาย กฏเกณฑ์ต่าง ๆ เอื้อต่อการเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบกับธุรกิจเอกชน
เช่น เมื่อก่อนรัฐจะเป็นผู้ผูกขาดเวลาบินไปที่ไหนจะต้องใช้บริการของการบินไทย ซึ่งตรงนี้ทำให้การบินไทยได้เปรียบ หรือ ปตท. จะต้องอุดหนุนธุรกิจบางอย่าง เช่น การขาดทุนของก๊าซหุงต้ม LPG ซึ่งตรงนี้ทำให้ ปตท. เสียเปรียบ ต่อไปนี้จะทำไม่ได้อีก
ถ้ารัฐบาลชุดนี้ทำไม่เสร็จ แล้วไปหวังกับรัฐบาลเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้น ?
แหล่งข่าว ยืนยันว่า ในช่วงรัฐบาลเฉพาะกิจนี้ ต้องดำเนินกลไกดังกล่าวให้เข้าที่โดยเร็วที่สุด เพราะหากไม่วางกลไกให้ดี ต่อไปอาจมีนักการเมืองเข้ามารื้อให้กลายเป็นระบบเก่าอีก
“เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อย่างยิ่ง จะทำอย่างไรถึงจะแก้ไขปัญหานี้ได้”
ประเด็นที่ยังถกเถียงกันอยู่คือ หากเป็นเช่นนี้เท่ากับว่าไม่เปิดช่องให้ “รัฐบาล” ซึ่งประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งมาได้ทำหน้าที่กำกับดูแล จะเกิดข้อครหาขึ้นได้
แหล่งข่าว อธิบายว่า ประเด็นนี้มีหลายคนมองว่า การมี “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” เปรียบเสมือน “เกราะ” ป้องกันไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงได้ แต่บางส่วนก็ยังมองว่า รัฐวิสาหกิจมีทรัพย์สินเกือบเท่า GDP ของประเทศ คือประมาณ 12 ล้านล้านบาท ดังนั้นการห้ามรัฐบาลเข้าไปเป็นตัวแทน แล้วหากมีการบริหารจัดการผิดพลาด ใครจะรับผิดชอบ ซึ่งตรงนี้ก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร ต้องรอร่างกฎหมายที่จะออกมาในอนาคตก่อน
อย่างไรก็ดี ในประเด็นการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจตามองค์กรดังกล่าวข้างต้น มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ไม่ดำเนินการปรับเปลี่ยนให้เป็นสากล นั่นคือ ยังให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีรัฐวิสาหกิจอยู่ แทนที่จะให้เป็นหน้าที่ของผู้สอบบัญชีเหมือนบริษัทในตลาดทุนอื่น ๆ
“ประเด็นนี้เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีผู้ลงทุนหลายรายสอบถามถึงความสามารถในการสอบบัญชีของ สตง. แต่เราก็ไม่สามารถตอบหรือประเมินได้ เพราะเขาเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่นักบัญชีที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต.” แหล่งข่าว ระบุ
ทั้งหมดคือที่มาที่ไป ปัญหา-ความจำเป็น ในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ยังคงไม่ลงตัว และมีข้อถกเถียงกันหลากฝ่ายหลายสี
ถือเป็นปัญหาที่ “ท้าทาย” ฝีมือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะทำอย่างไรถึงจะปรับทุกอย่างให้ลงตัวเป็นที่ยอมรับจาก "ทุกฝ่าย" ?
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จาก smmonline.net, ภาพรัฐวิสาหกิจจาก sanook.com