เปิดพิมพ์เขียวกระทรวงความมั่นคง
เหตุการณ์ลอบวางระเบิดครั้งรุนแรงกลางกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 และ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยน้ำมือของกลุ่มคนร้ายชาวต่างชาติ สะท้อนปัญหาประสิทธิภาพของงานด้านตรวจคนเข้าเมือง การบูรณาการฐานข้อมูลความมั่นคง และงานด้านการข่าวอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้รัฐบาลมีแนวคิดจัดตั้ง "กระทรวงความมั่นคง" ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อไม่นานมานี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานคณะกรรมการบูรณาการฐานข้อมูลความมั่นคง เพื่อให้ข้อมูลจากหน่วยงานที่รับผิดชอบทุกหน่วยเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบและมีความแม่นยำสูง
ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรียังมีแนวคิดจัดตั้ง "กระทรวงความมั่นคง" ที่จะรวมเอาหน่วยงานด้านความมั่นคงมาอยู่ร่วมกัน เพื่อความเป็นเอกภาพ เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ทั้งนี้อาจรวมถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองด้วย
พร้อมกันนั้น นายกรัฐมนตรียั่งสั่งการให้หน่วยงานความมั่นคงทั้งหมด รวมทั้งสำนักข่าวกรองแห่งชาติ จัดทำ "แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี" ของงานด้านความมั่นคง เพื่อรองรับภัยคุกคามด้านต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดประชาคมอาเซียน ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนย้ายคน แรงงาน และเงินผิดกฎหมาย สามารถทำได้ง่ายขึ้น สุ่มเสี่ยงต่อการขยายตัวของกลุ่มก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ โดยการวางยุทธศาสตร์ให้รวมไปถึงภัยทางไซเบอร์ด้วย
หนึ่งในแผนงานที่ทุกหน่วยเห็นพ้องต้องกันก็คือ อาจต้องมี "หน่วยงานกลาง" หรือ "กระทรวง" ที่ดูแลงานด้านความมั่นคงเป็นการเฉพาะอย่างบูรณาการ เนื่องจากปัญหาใหญ่ที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน คือ แต่ละหน่วยแยกทำงาน มีสายบังคับบัญชาและหลักการปฏิบัติงานที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องดึงเอาภารกิจจากหลายหน่วยมารวมอยู่ที่หน่วยเดียว ขึ้นตรงกับสายบังคับบัญชาเดียวกัน คล้ายกระทรวงความมั่นคงภายในของสหรัฐอเมริกา หรือ Homeland Security
แนวทางที่ต้องดำเนินการมี 3 ระดับ คือ
1.ออกแบบหน่วยงานใหม่ที่สามารถรับมือภัยกับคุกคามใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.โอนหน่วยงานที่มีภารกิจรักษาความปลอดภัยชายแดน ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, หน่วยยามฝั่ง มาอยู่ที่หน่วยงานใหม่
3.กำหนดภารกิจที่จำเป็นสำหรับหน่วยงานใหม่อย่างน้อย 5 ด้าน คือ งานข่าวกรอง, งานไซเบอร์, งานบังคับใช้กฎหมาย, งานตรวจเส้นทางการเงิน และงานตรวจสอบทางเทคนิคพิเศษ อาทิ การใช้โทรศัพท์ เป็นต้น พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติแบบบูรณาการ
หน่วยงานใหม่นี้ ซึ่งอาจเรียกว่า "กระทรวงความมั่นคง" จะต้องมีศักยภาพควบคุมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดทั่วประเทศ มีระบบมอนิเตอร์ 24 ชั่วโมง มีระบบเฝ้าตรวจสนามบิน รถไฟฟ้า และย่านชุมชนที่มีประสิทธิภาพ โดยต้องเชื่อมกับระบบของภาคเอกชนด้วย
แนวคิดการตั้งกระทรวงความมั่นคง ได้รับการขยายความจาก นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน 2558
นายอนุสิษฐ บอกว่า โครงสร้างของประเทศในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะต้องมองไปถึงกระทรวงที่มาดูแลด้านความมั่นคง ในลักษณะคล้ายๆ โฮมแลนด์ ดีพาร์ทเมนต์
ทั้งนี้ รัฐบาลควรจะมีที่ปรึกษาด้านความมั่นคง เช่น สมช. เป็นที่ปรึกษาด้านนโยบาย ส่วนการบูรณาการและสั่งการนั้น ขณะนี้ยังกระจายกันอยู่ ทำให้มีแนวคิดจัดตั้งกระทรวงความมั่นคง ซึ่งหลายประเทศก็มีการจัดตั้งแล้ว เช่น เวียดนาม จีน โดยอาจยกระดับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.ขึ้นมาหากงานยังทับซ้อนกันกับ กอ.รมน.
ขณะที่งานอีกส่วนหนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การพัฒนางานด้านข่าวกรองให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น เพื่อดูแลความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ซึ่งทาง สมช.มีข้อเสนอในการกำหนดยุทธศาสตร์เรื่องข่าวกรองแห่งชาติ และผ่านความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน สมช.แล้ว คาดว่าจะมีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า