‘สะพานมหาดไทยอุทิศ’ เพชรล้ำค่ามรดกทางวัฒนธรรม
ย้อนกลับไปเมื่อวันศุกร์ ที่ 23 ตุลาคม 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง เพื่อทรงเปิดสะพานแห่งใหม่ ซึ่งได้พระราชทานนามว่า ‘มหาดไทยอุทิศ’ นับเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก Hennebique System ซึ่งเป็นเทคนิคสมัยใหม่ และยาวที่สุดในไทยขณะนั้น
สะพานแห่งนี้เดิมรัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริจะสร้างขึ้นอยู่แล้ว โดยเป็นสะพานข้ามคลองมหานาคเชื่อมจากปลายถนนบริพัตรฝั่งวัดสระเกศ (ภูเขาทอง) มายังจุดตัดถนนหลายสายบริเวณตีนสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เพื่อเชื่อมเส้นทางแก่ประชาชนสัญจรสะดวก แต่ยังไม่ทันเริ่มก่อสร้าง พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน
ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับข้าราชการในกระทรวงมหาดไทยบริจาคเงิน 41,241.61 บาท และรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศุขาภิบาลก่อสร้าง พร้อมสมทบค่าก่อสร้างเพิ่มเติม รวมเป็นเงิน 57,053.29 บาท ทั้งนี้ ยังได้ทำโมเดลจำลองตั้งในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ด้วย
โดยจุดเด่นของสะพานแห่งนี้อยู่ที่ประติมากรรมนูนต่ำรูปชายจูงมือเด็ก และหญิงอุ้มเด็กในอาการโศกเศร้า หน้าจั่วด้านหัวป้ายมีอักษรย่อ จปร. อีกซุ้มหนึ่งมีเลข ๕ เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นว่า สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 5 ด้วยเหตุนี้ คนทั่วไปจึงเรียกขานว่า ‘สะพานร้องไห้’
(ประติมากรรมนูนต่ำราชสีห์ หล่อปลาสเตอร์ จากเเม่พิมพ์ซิลิโคน)
(อุบะโฟม ขึ้นรูปด้วย CNC)
(ประติมากรรมพวงหรีด หล่อปลาสเตอร์ จากเเม่พิมพ์ซิลิโคน)
นอกจากนี้ราวสะพานแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยม ภายในบรรจุรูปปั้นหล่อรูปพวงหรีดวงกลมพันด้วยใบลอเรล คั่นกลางด้วยแถบริบบิ้นห้อย และยังมีซุ้มย่อยข้างละ 4 ซุ้ม แต่ละซุ้มแบ่งเป็น 2 ตอน โดยตอนบนประดับรูป ‘ราชสีห์’ นูนต่ำ ยืนบนแท่นหันหน้าทิศกลางสะพาน อันแสดงให้เห็นว่าข้าราชการกระทรวงมหาดไทยร่วมใจกันบริจาคเงินก่อสร้าง
ปัจจุบันสะพานมหาดไทยอุทิศได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2518 และประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานขนาด 2 งาน 60 ตารางวา เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2548 จึงนับว่าเป็นสะพานที่มีคุณค่าทางสุนทรีย์และประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้รับความเสื่อมโทรมไปมาก
ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักผังเมือง กรุงเทพฯ และภาคเอกชน จัดโครงการอนุรักษ์ประติมากรรมและลวดลายประดับสะพานข้ามคลองในกรุงเทพฯ โดยเลือกสะพานมหาดไทยอุทิศเป็นกรณีศึกษาแรก เนื่องจากมีอายุครบ 100 ปี ในปี 2557
‘อาจารย์จักรพันธ์ วิลาสินีกุล’ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ยืนยันว่า ‘มหาดไทยอุทิศ’ เป็นสะพานในกรุงเทพฯ แห่งเดียว ในอดีตที่รถแล่นผ่านได้ และเป็นของแท้ ไม่ได้ถูกขยายออก จึงยังคงสภาพเดิมราว 80-90% ได้รับการออกแบบและก่อสร้างโดยบริษัท ยูไนเต็ด เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด และมีกระทรวงนครบาลควบคุม
ส่วนประติมากรผู้ปั้นลวดลายนั้นสันนิษฐานว่า เป็นฝีมือของ ‘วิตโตริโอ โนวี’ (Vittorio Novi) ชาวอิตาเลี่ยน ที่เชื่อเช่นนั้น เพราะเขาเข้ามารับราชการตั้งแต่ปี 2455 และเป็นผู้ปั้นลวดลายประดับพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยมีเอกลักษณ์โดดเด่นแบบศิลปะทางเหนือของอิตาลี ซึ่งคล้ายคลึงกับสะพานมหาดไทยอุทิศ
ที่สำคัญ ขณะนั้นราชสำนักไทยมีประติมากรรมเพียง 2 คนเท่านั้น อีกคนหนึ่ง คือ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) หรือ ศ.ศิลป์ พีระศรี ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่ประติมากรสะพานแห่งนี้ เนื่องจากงานศิลปะของเขามีเอกลักษณ์ทางใต้ของอิตาลีมากกว่า ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากที่โนวีทำ
นักวิชาการ ม.ศิลปากร บอกต่อว่า ไม่เคยมีบันทึกว่า โนวีจะต้องออกแบบประติมากรรมอย่างไร แต่งานที่สื่อออกมานั้นแสดงให้เห็นว่า เขาเป็นศิลปิน เพราะการที่จะรับรู้ประสบการณ์โดยตรงว่า ชาวไทยมีความเคารพและอาลัยต่อรัชกาลที่ 5 มากเพียงใด ต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้น จึงสามารถจัดองค์ประกอบปูนปั้นชายหญิงและเด็กอยู่ในอาการโศกเศร้าได้อย่างแนบเนียน ลึกซึ้ง ในการถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมา
อีกประการหนึ่ง คือ ประติมากรรายนี้สามารถนำรายละเอียดแบบตะวันตก ซึ่งปรากฏในซุ้ม ได้แก่ มาลัย พวงหรีด และอุบะ มาประกอบกับภาพเหมือนได้ ซึ่งนับเป็นฝีมือหาตัวจับยาก ในแง่ความละเอียดลึกซึ้ง
สำหรับการดำเนินโครงการนั้น อาจารย์จักรพันธ์ อธิบายว่า ความยากลำบากอยู่ที่พื้นที่ เพราะสะพานแห่งนี้ค่อนข้างแคบ เนื่องจากอดีตสร้างรองรับสำหรับรถเจ๊กข้ามทีละคัน ไม่ใช่วิ่งสวนเลนเหมือนปัจจุบัน แต่ได้รับความร่วมมือจากเขตในการอำนวยความสะดวกเรื่องการจราจร
ทั้งนี้ การบูรณะครั้งล่าสุด มีบันทึกเพียงว่า ให้ซ่อมเเซมตามโครงสร้างเดิม และทาสี แต่ไม่ระบุชัดเจนว่า ควรบูรณะอย่างไร โดยจุดบกพร่องสำคัญ คือ การแก้ไขอย่างจงใจ โดยการปั้นกางเกงในแทนจับปิ้งของเด็กชาย ซึ่งผู้นำบางสมัยอาจรำคาญ แต่โชคดีที่ภายนอกสะพานอีกด้านหนึ่งไม่มีการแก้ไขเหมือนด้านใน
(ป้ายสะพานมหาดไทยอุทิศ)
(พวงมาลัยเเละริบบิ้นประดับเหนือซุ้มราชสีห์ หล่อปลาสเตอร์จากเเม่พิมพ์ซิลิโคน)
“ปี 2520 มีจดหมายจากส่วนงานโยธา กรุงเทพฯ ถึงกรมศิลปากร ขออนุญาตขยายสะพานมหาดไทยอุทิศ และจะปรับให้เหมือนสะพานหัวช้างและช้างโรงสี ซึ่งจะทำให้สะพานเสียโครงสร้างไป” เขาบอกเล่า และว่ากรมศิลปากรได้อนุมัติ แต่ไม่มีหลักฐานหลังจากนั้นว่า เพราะเหตุใดโครงการนี้จึงถูกยับยั้ง อย่างไรก็ตาม นับเป็นความโชคดีของคนไทย
นักวิชาการ ม.ศิลปากร กล่าวทิ้งท้ายว่า สะพานมหาดไทยอุทิศไม่ใช่อยู่ภายใต้ความดูแลของกรุงเทพฯ ฝ่ายเดียว แต่ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลด้วย ไม่ว่าจะเป็น ชาวบ้าน ผู้สัญจร นักวิชาการ เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้สะพานแห่งนี้อยู่คู่กับคนไทยไปอีกนาน
ด้านขั้นตอนการดำเนินการในโครงการ คณะทำงานแบ่งออกเป็น 7 ส่วน ได้แก่ การสืบค้นและรวบรวมเอกสาร ภาพถ่าย หลักฐานเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา, การสำรวจสภาพ ลวดลายปูนปั้นประดับสะพาน, การบันทึกแบบลวดลายประดับสะพานด้วยเทคนิควาดเส้น, การทำแม่พิมพ์และหล่อปลาสเตอร์ลวดลายประดับสะพาน, การบันทึกข้อมูลลวดลายประดับสะพานแบบสามมิติโดยใช้เทคโนโลยี 3D Scanning, การสำรวจความเห็นชุมชนต่อความเป็นมรดกเมือง และการเขียนแบบสะพานด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ความพิเศษของโครงการนี้ที่สำคัญ นั่นคือ การทำ 3D Scanning ซึ่งเป็นวิธีการเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยี ซึ่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะในต่างประเทศนิยมใช้ เนื่องจากสามารถเก็บรักษาสำเนา 3 มิติไว้ได้จำนวนมาก โดยไม่ต้องใช้พื้นที่จริงในการเก็บ ทำให้รักษาได้ยาวนาน ซึ่งเมื่อคณะทำงานสแกนผ่านชั้นสี กลับพบว่า หลายจุดมีการทาชั้นสีหนามากเกินไป จนกลบรายละเอียดบางจุด เเละเเทบทุกจุดมีรอยชำรุด
(บันทึกลวดลายด้วยเทคนิคการวาดเส้น)
ส่วนการสำรวจความคิดเห็นของคนในชุมชน แม้จะไม่ใช่เป้าหมายหลักในการทำงาน แต่คณะทำงานยอมรับว่า มีส่วนสำคัญเช่นกัน ‘อาจารย์พิเชฐ เขียวประเสริฐ’ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พบว่า ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่ไม่ทราบประวัติของสะพาน แต่ทราบว่าสถานที่แห่งนี้เป็นโบราณสถาน และคิดว่ามีความสวยงามแตกต่างจากที่เคยเห็นมา โดยเฉพาะประติมากรรมปูนปั้นรูปคน
ทั้งนี้ เมื่อสำรวจสภาพแวดล้อมในปัจจุบันกลับพบว่า ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่คิดว่าสายไฟและป้ายต่าง ๆ ที่ติดตั้งบนสะพานรบกวนทัศนียภาพ และเชื่อว่า สะพานมีความสำคัญต่อชุมชนด้วย อย่างไรก็ตาม ในอนาคตมีการบูรณะสะพานจริงจะส่งผลต่อชีวิตประจำวันของผู้คน และส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับมรดกเมืองอื่น ตลอดจนผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของเมืองบริเวณนี้
“หากในอนาคตถนนเส้นนี้กลายเป็นถนนคนเดิน สะพานจะกลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยอนุรักษ์มรดกเมือง และการอนุรักษ์สะพานแห่งนี้ไว้จะส่งเสริมด้านเศรษฐกิจของชุมชน” เขาระบุถึงข้อเสนอแนะที่ได้จากการลงพื้นที่ชุมชน
(สะพานมหาดไทยอุทิศในปัจจุบัน)
(สะพานมหาดไทยอุทิศในอดีต)
ขณะที่ ‘วันชัย ถนอมศักดิ์’ ผอ.สำนักผังเมือง กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมศิลปากรมอบหมายให้กรุงเทพฯ ดูแลโบราณสถานในพื้นที่จำนวน 39 แห่ง และจะมอบให้อีก 130 แห่ง เพราะฉะนั้นโครงการนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะร่วมกับม.ศิลปากร และม.เกษตรศาสตร์ ในการศึกษาว่าทั้งหมดนี้ควรวางผังแม่บทในการดูแลโบราณสถานเหล่านี้อย่างไร ซึ่งยอมรับว่า ขณะนี้จับต้นชนปลายไม่ถูกว่า ควรเริ่มต้นจากจุดไหนดี
กรุงเทพฯ ไม่รู้ทุกอย่าง ต้องพึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นผู้รู้ด้านศิลปวัฒนธรรมทางโบราณคดี ประกอบกับสามารถประสานกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผสมกัน และทำให้เกิดการพัฒนาเชิงการดูแลและอนุรักษ์ได้อย่างดี
จุดนี้อยากให้ทั้งสองมหาวิทยาลัยพิจารณาว่า ทำอย่างไรช่วยกรุงเทพฯ ให้มีผังแม่บทในการดูแลโบราณสถานทั้ง 39 แห่งในอนาคตอย่างครบวงจร และนำไปสู่การสร้างมูลค่า
(วิตโตริโอ โนวี ประติมากรสะพานมหาดไทยอุทิศ อยู่ในไทย ปี 1910-1916)
เขาจึงเห็นว่ากรณีศึกษาสะพานมหาดไทยนับเป็นจุดเริ่มต้นทำให้กรุงเทพฯ ถูกมองข้ามไป ได้กลับมาให้คนในเมืองหันกลับมาสนใจช่วยกันอนุรักษ์ หากช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทั้งนี้ คิดว่ามีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เรายังไม่รู้ ไม่เข้าใจ เช่น โบราณสถานที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้มีจำนวนมากจริง
ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายชิ้นที่ยังไม่รับการขึ้นทะเบียน โดยเป็นอาคารตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-5 ใน 17 เขตชั้นในกรุงเทพฯ อีกกว่า 5,000 แห่ง กรุงเทพฯ ทำได้เพียงถ่ายภาพอาคารที่ควรอนุรักษ์ไว้ แต่ดำเนินการต่อไม่เป็น จึงต้องพึ่งม.ศิลปากรและม.เกษตรศาสตร์ในการจะมีเป็นพี่เลี้ยง ช่วยดำเนินการ ร่วมกับพี่น้องในชุมชนต่อไป
‘สะพานมหาดไทยอุทิศ’ ในปัจจุบันได้รับความเสียหายมาก และมีความเสี่ยงสูงทำให้คุณค่าทางสุนทรีย์ลดลง ดังนั้นการเก็บข้อมูลด้านต่าง ๆ จากประติมากรรมและลวดลายประดับที่สร้างขึ้นจึงมีความสำคัญ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการอนุรักษ์ต่อไป เพราะสะพานแห่งนี้ คือ เพชรทางมรดกวัฒนธรรม ซึ่งหลงเหลืออยู่กว่า 100 ปี .