นักวิชาการสสค.ชี้รับมืออาเซียนไม่ควรมองแค่ 10 ประเทศ เหตุเกี่ยวข้องคนครึ่งโลก
นักวิชาการสสค.ชี้รับมืออาเซียนไม่ควรมองแค่ 10 ประเทศ เหตุเกี่ยวข้องคนครึ่งโลก เปิดอาชีพในอนาคต 65% ยังไม่ถูกสอนในปัจจุบัน เตรียมพร้อมรับมือต้องมีทักษะที่จำเป็น ดึงไตรมิตรโมเดล “ชุมชน-โรงเรียน” ร่วมปรับตัว
เมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่โรงแรมแม่โขงรอยัล จ.หนองคาย มีงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการโรงเรียนประชาคมอาเซียนศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยมีพล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวถึงการจัดการศึกษากับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในประชาคมอาเซียนว่า การรวมตัวของกลุ่มประเทศอาเซียนไม่ได้มีเพียงแค่ 10 ประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความร่วมมือของอาเซียนบวก3 ประเทศ และบวก6 ประเทศ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ 50% ของประชากรโลก และระบบเศรษฐกิจถึง 1 ใน 5 ของมูลค่าทางเศรษฐกิจโลก ดังนั้นการเตรียมความพร้อมจึงไม่ใช่แค่เพียง 10 ประเทศอีกต่อไป
ดร.ไกรยส กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ของเวทีเศรษฐกิจโลกพบว่า อาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต มีอยู่ 65% ที่ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดสอนหรือการเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กเยาวชน ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเด็กเยาวชนและประชากรวัยแรงงานจึงไม่ใช่แค่การสอนทักษะอาชีพที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ต้องเป็นการฝึกทักษะในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย ทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นต้น เพราะความรู้และนวัตกรรมเกิดขึ้นใหม่อย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญคือการรู้จักปรับตัวและมีทักษะที่จำเป็นในอนาคต ดังนั้นการทำงานจึงไม่ใช่เพียงแค่โรงเรียนเข้ามามีบทบาทเตรียมคนเท่านั้น แต่ต้องเกิดการทำงานร่วมกันของทั้งชุมชน สถานประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจังหวัดหน้าด่านที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งถือเป็นกลุ่มจังหวัดที่ได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงโดยตรง
ดร.ไกรยส ตัวอย่างนวัตกรรมการเตรียมความพร้อมของชุมชนในการรับมือการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เช่น ไตรมิตรโมเดลของชุมชนเยาวราช ที่ดึงจุดแข็งทางการค้าและการท่องเที่ยวจึงมีการเตรียมความพร้อมด้วยการปรับภูมิทัศน์เยาวราชให้มีป้ายแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว 4 ภาษา และมีร.ร.มหาวีรานุวัตร เป็นศูนย์ศึกษาอาเซียน ที่นอกจากให้ความรู้เรื่องอาเซียนแล้วยังเปิดอบรมภาษาพม่าให้กับผู้ประกอบการในชุมชน เพราะพบว่ามีลูกจ้างแรงงานพม่าจำนวนมาก และมีการขยายผลไปยัง 4 ภูมิภาค ได้แก่ ศูนย์ศึกษาอาเซียนภาคเหนือ ร.ร.บ้านแม่จัน จ.เชียงราย เปิดอบรมภาษาพม่าให้แก่ผู้ประกอบการและตำรวจตระเวนชายแดน , ศูนย์ศึกษาอาเซียนภาคอีสาน ร.ร.เทศบาล2 พิบูลวิทยาคาร จ.อุบลราชธานี อบรมภาษาเวียดนามเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวเวียดนาม , ศูนย์ศึกษาอาเซียนภาคกลาง ร.ร.เอกชัย จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานพม่าสูงสุดถึง 90% ในโรงงานอุตสาหกรรมจึงเปิดอบรมภาษาพม่าให้กับผู้ประกอบการและมีการรณรงค์ให้นักเรียนจัดทำป้ายจราจรเป็นภาษาพม่าเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุในชุมชน และศูนย์ศึกษาอาเซียนภาคใต้ ร.ร.บ้านน้ำกระจาย จ.สงขลา เปิดอบรมภาษามลายูให้กับผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยจากจังหวัดชายแดนใกล้เคียง ซึ่งการสอนความรู้ในอาเซียนต้องเป็นการสอนจากประสบการณ์จริง เป็นต้น