อ.ศรีศักร หวั่นวธ.เจอคำถาม ขึ้นทะเบียน ‘นิทานพระรถ-เมรี’ เป็นมรดกภูมิปัญญาฯ
นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา หวั่นกระทรวงวัฒนธรรมประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ โดยเฉพาะ นิทานพระรถ-เมรี จะเจอคำถาม หลังพบนิทาน หรือตำนวน เป็นเรื่องที่แชร์มากันทั้งภูมิภาค ไม่ได้เป็นของชาติใดชาติหนึ่ง
จากกรณีกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ พ.ศ.2558 มี 7 สาขา 32 รายการ หนึ่งใน 7 สาขา มีสาขาวรรณกรรมพื้นบ้าน 5 รายการ ประกอบด้วย นิทานพระรถ-เมรี นิทานท้าวปาจิตต์-อรพิมพ์ ตำนานสงกรานต์
ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา กล่าวว่า การที่กระทรวงวัฒนธรรมประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ โดยเฉพาะ นิทานพระรถ-เมรี นั้นไม่ใช่ของไทย แต่มาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นนิทานที่แชร์มากันทั้งภูมิภาค ดังนั้น การประกาศขึ้นทะเบียนอะไรควรระมัดระวัง
“ประเทศอื่นก็มีนิทานพระรถเมรีเช่นกัน ขณะที่ตำนวนสงกรานต์ ที่ประเทศเมียนมาร์ก็เล่นเช่นเดียวกับไทย ส่วนนิทานท้าวปาจิต-อรพิมพ์ อยู่ในปัญญาสชาดก การขึ้นทะเบียนอาจมีคำถามตามมาได้ เพราะตำนานหรือนิทานกระจายไปทั่วภูมิภาค ไม่ได้เป็นของชาติใดชาติหนึ่ง”นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ฯ กล่าว และว่า กระทรวงวัฒนธรรม เป็นกระทรวงที่เน้นศิลปะวัฒนธรรม ไม่มีบริบททางสังคมวัฒนธรรมแม้แต่น้อย
สำหรับการประกาศทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ พ.ศ.2558 มี 7 สาขา 32 รายการ ได้แก่
สาขาศิลปะการแสดง 6 รายการ ประกอบด้วย กลองยาว ขับลื้อ บานอ เพลงปรบไก่ ละครพันทาง ฟ้อนเงี้ยว
สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม 5 รายการ ประกอบด้วย โอ่งมังกรราชบุรี เครื่องเงินไทยปราสาทผึ้ง งานช่างสนะ และเครื่องบูชาอย่างไทย
สาขาวรรณกรรมพื้นบ้าน 5 รายการ ประกอบด้วย นิทานพระรถ-เมรี นิทานท้าวปาจิตต์-อรพิมพ์ ตำนานสงกรานต์ ตำนานพระธาตุประจำปีเกิด และตำนานพระพุทธรูปลอยน้ำ
สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย 4 รายการ ประกอบด้วย โคมลอยลอดห่วง ชักเย่อเกวียนพระบาท ลูกข่าง และตาเขย่งหรือตั้งเต
สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล 5 รายการ ประกอบด้วย ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอกในเทศกาลวันมาฆบูชา จังหวัดยโสธร ประเพณีสลากย้อมเมืองลำพูน สวดโอ้เอ้วิหารราย และ เหยา
สาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล 5 รายการ ประกอบด้วย ภูมิปัญญาการทำปลา ดุกร้า ภูมิปัญญาการอยู่ไฟ ภูมิปัญญาการทำเหมืองฝาย ภูมิปัญญาการเลี้ยงควายไทย และภูมิปัญญาการทำเส้นไหมไทย
และสาขาภาษา 2 รายการ ประกอบด้วย ภาษากูย/กวย และภาษาพวน.