“นักเศรษฐศาสตร์โนเบล” แนะรัฐไทยอุดช่องว่างสังคม ชูสิทธิคนด้อยโอกาส
ศ.ดร.อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล แจงช่องว่างทางสังคม 4 ด้าน ความแตกต่างทางภูมิภาค-ชนชั้น-เพศวิถี-เสียงการเมือง ปัญหาร่วมของโลก ทุกคนต้องร่วมแก้อย่างมีเหตุผล เพื่อสร้างสังคมเสมอภาค แนะผ่าทางตันแก้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยด้วยสานเสวนา
วันที่ 17 ธ.ค.53 ศ.ดร.อมาตยา เซน อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ พ.ศ.2541 ปาฐกถาพิเศษ‘การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม’ ในเวทีประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
ศ.ดร.อมาตยา เซน กล่าวว่า ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้า แต่กลับพบว่ามีปัญหาเรื่องช่องว่างทางสังคมอย่างมากจนกระทั่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน อีกทั้งมีการนำความไม่พอใจไปใช้เป็นประโยชน์ทางการเมือง และนำไปสู่การเอารัฐเอาเปรียบทางการเมือง
“ปัญหาที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ ไม่ใช่เรื่องโดดเด่นกว่าประเทศอื่น หลายประเทศก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาช่องว่างทางสังคมที่ดีที่สุดคือ ใช้กระบวนการสานเสวนา เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากหลากหลายอาชีพ หลายชนชั้นเข้ามามีส่วนร่วมพูดคุยกัน ซึ่งจำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้นจริง เพื่อให้สามารถบรรลุความยุติธรรม”
ดร.อมาตยา เซน กล่าวว่าช่องว่างทางสังคม ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ 1.ช่องว่างเชิงภูมิภาค เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากความได้เปรียบเสียเปรียบของพื้นที่ ความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท จนนำไปสู่ความไม่พอใจทางสังคม แต่ปัญหาดังกล่าวก็เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก 2.ช่องว่างเชิงชนชั้่น ความแตกต่างระหว่างคนจนกับคนรวย เป็นสาเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม ทั้งเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต การเข้าถึงการรักษาพยาบาล ในที่สุดก่อให้เกิดความไม่ลงรอยในสังคม
“3.เพศวิถี ความแตกต่างระหว่างชายกับหญิง ในประเทศไทยจัดว่าเกิดปัญหาไม่มากนัก หากเทียบกับชาติอื่นในภูมิภาค ซึ่งถ้าได้รับการแก้ไขก็จะเป็นการเปิดโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ 4.เสียงทางการเมืองขาดความสมดุล พรรคการเมืองจะต้องเข้ามามีบทบาทอย่างชัดเจนในการถ่วงดุลและตรวจสอบ เพราะหากการเมืองไร้เสถียรภาพ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศชาติโดยตรง นอกจากนี้ยังมีปัญหาช่องว่างอื่นๆ อีกหลายประเด็น เช่น เรื่องเกี่ยวกับศาสนาและชุมชน”
ส่วนเรื่องศาสนา ดร.อมาตยา เซน กล่าวว่าก็สามารถนำไปสู่การแบ่งแยกของคนในชุมชนและก่อเกิดความไม่เท่าเทียมได้เช่นกัน โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อย จึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากที่จะทำให้คนกลุ่มน้อยได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่น ขณะที่คนกลุ่มใหญ่จะต้องเข้าใจและมีส่วนร่วมในการยุติปัญหาด้วย นอกจากนี้ยังมีช่องว่างและการแบ่งแยกระหว่างผู้พิการกับคนปกติ ซึ่งคนพิการทั่วโลกมีประมาณ 6 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 6,000 ล้านคน ประสบปัญหาด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องการหารายได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเข้ามาดูแล เป็นสิ่งที่สังคมต้องให้แก่ผู้ด้อยโอกาส
“ศาสนา ชนชั้นทางสังคม เพศ ชุมชน และคนพิการ เป็นตัวอย่างของปัญหาที่ควรนำมาใส่ใจ แต่ปัญหาเกี่ยวกับช่องว่างทางสังคมยังมีอีกมาก สิ่งที่สำคัญอยู่ที่ว่า เราต้องร่วมกันแก้ปัญหา โดยเริ่มจากคิดว่า เราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง และอะไรบ้างที่เป็นความไม่เสมอภาค”
นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล กล่าว และว่าช่องว่างทางสังคมที่เกิดขึ้นนี้ จะต้องมีการแก้ไขให้จบลงตามวิถีทางอย่างมีเหตุผล.