นักวิชาการสสค.เผยผลทดลองลดเวลาเรียนในอเมริกา ช่วยเพิ่มพลังสมองเด็ก
นักวิชาการ สสค. เผยผลทดลองในสหรัฐฯ 8 วิธีการปรับโฉมสร้างเด็กเยาวชนมีความสุข ผลวิจัยพบลดการเรียนในห้องเพิ่มความรู้นอกห้องเรียนโดยใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหว ช่วยเพิ่มพลังให้สมองเด็ก
จากกรณีที่พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายการปรับลดเวลาเรียนเพื่อให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้ทักษะชีวิตอื่นๆ นอกเหนือจากตำราในห้องเรียนให้มากยิ่งขึ้นนั้น
นางสาวกนกวรรณ กลินณศักดิ์ นักวิชาการสื่อสาร สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวถึง 8 วิธีการปรับโฉมโรงเรียนให้ดีขึ้นอย่างไร เพื่อให้เด็กเยาวชนมีความสุขมากยิ่งขึ้น ของอเล็กซานดร้า ซิฟเฟอร์ลีน คอลัมนิสต์นิตยสารไทม์ ได้รวบรวมบทเรียนจากโรงเรียนในสหรัฐอเมริกาว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนในสหรัฐอเมริกาพยายาม “ทดลอง” ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนในโรงเรียนเพื่อให้เด็กนักเรียนมีความสุขมากขึ้น สุขภาพดีขึ้น และสามารถเตรียมความพร้อมให้พวกเขาทำงานและอยู่ร่วมกับนักเรียนที่มาจากหลายหลากภูมิหลัง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อถูกจำกัดโดยงบประมาณที่ลดลง
นางสาวกนกวรรณ กล่าวว่า แม้จะมีข้อถกเถียงกันในกลุ่มสมาพันธ์สหภาพครู และมาตรฐานกลางเพื่อดึงความสนใจในระหว่างที่การเลือกตั้งในปี 2016 ที่ใกล้จะมาถึง นักนวัตกรรมจึงพยายามหยิบแง่มุมใหม่ๆขึ้น เพื่อเริ่มตามติด หรือยกระดับการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนในอเมริกา ซึ่งประกอบด้วย8ประเด็นที่น่าจับตามอง ได้แก่
1) การปรับโฉม “การบ้าน” ยุคใหม่ ซึ่งวิจัยล่าสุดพบว่า นักเรียนในระดับประถมศึกษาไม่ได้รับประโยชน์จากการทำการบ้านหลังเลิกเรียนกับผู้ปกครอง โดยมีโรงเรียนหลายแห่ง เช่นGaithers-burgในรัฐแมรีแลนด์ ปรับเปลี่ยนการบ้านเป็นให้นักเรียนเลือกอ่านหนังสือที่ชอบเป็นเวลา30นาทีทุกวันแทน โดยครูใหญ่ได้กล่าวว่า นักเรียนของเธอดูมีความสนอกสนใจบทเรียนมากขึ้น ตั้งแต่โรงเรียนเริ่มปรับเปลี่ยนการบ้านตั้งแต่ปี2011โดยมีเด็กหลายคนที่มีพัฒนาการที่สูงขึ้นมากกว่าเด็กที่ยังได้รับการบ้านในแบบเดิม
2) การปรับลดการเรียนในห้อง และเพิ่มการเรียนรู้นอกห้อง ในปัจจุบันเด็กวัยรุ่นประสบปัญหา “โรคอ้วน”สูงกว่าเมื่อ30ปีที่ผ่านมา ถึง4เท่า ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ถึงเวลาที่ต้องลดเวลาเรียน ไม่ใช่แค่การหยุดพัก เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กได้ขยับเขยื้อนร่างกายบ้าง ซึ่งจะลงผลดีแก่ร่างกายและจิตใจ โดยนักกุมารเวชศาสตร์ได้ให้คำแนะนำว่า กิจกรรมที่เอื้อให้เกิดการเคลื่อนไหวนั้นจะช่วยเพิ่มพลังให้สมองเด็ก หลังจากต้องเรียนถึง7ชม.ต่อวัน ซึ่งในเวลา2-3ปีที่ผ่านมา มีโรงเรียนในอเมริกาประมาณ40%ที่ลดช่วงเวลาดังกล่าวไปเพื่อเตรียมเด็กให้พร้อมในการสอบ หรือการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามโรงเรียนในย่านBronxเพิ่มชั่วโมงฟิตเนสเข้าเป็นเวลาเรียนในทุกวัน
3) การเฝ้าระวังการป่วยทางจิต แม้ว่านักเรียนในระดับประถมศึกษาเกือบทั้งหมดจะถูกจับตามองและรับฟังเสียงสะท้อนต่างๆอยู่เป็นปกติ แต่ยังขาดเครื่องมือในการตรวจวัดความผิดปกติด้านสภาพจิตใจ เช่น สภาพความหดหู่ หรือความวิตกกังวล เป็นต้น ซึ่งการรักษาที่ล่าช้า จะทำให้อาการแย่ลง โดยโรงเรียนบอสตันมีระบบที่พยายามป้องกันอาการดังกล่าวด้วยการตรวจสภาพทางด้านจิตใจ อารมณ์และพฤติกรรมเด็กปีละ2ครั้ง
4) จัดโรงอาหารให้เอื้อต่อสุขภาพการกินที่ดี แม้ว่าโรงเรียนในอเมริกาจะจัดให้มีอาหารที่ถูกหลักสุขภาพในโรงอาหาร แต่การชักชวนให้เด็กหันมาเลือกรับประทานกลับเป็นเรื่องยากลำบาก โดยมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ บูมเมอร์ สคูล ออฟ พับลิค เฮลธ์ ค้นพบงานวิจัยที่ชี้ว่า มีนักเรียนเพียงครึ่งเดียวที่เลือกซื้อผักและผลไม้เป็นอาหารกลางวัน และเด็กจำนวนน้อยที่เลือกกินผักผลไม้ และเพื่อจะแก้ปัญหาดังกล่าว โรงเรียนบักกิ่งแฮม คันทรี่K-5ในเดลวิลล์ เวอร์จิเนีย ปรับเปลี่ยนห้องครัวในโรงอาหารใหม่ เพื่อให้นักเรียนได้เห็นอาหารสดใหม่ที่กำลังถูกเตรียมพร้อม และโรงเรียนยังสนับสนุนให้นักเรียนผลิตวัตถุดิบเองในสวนของโรงเรียน เพื่อที่จะทำให้โรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นและส่งต่อการส่งเสริมการกินอย่างมีคุณภาพ
5) การให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในความแตกต่างผลวิจัยพบว่า การเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ร่วมกันทั้งคนผิวขาว และผิวสีนั้นจะนำไปสู่ความสำเร็จที่สูงกว่า และเป็นการเตรียมความพร้อมเด็กสู่โลกแห่งการทำงานจริง โดยมีโรงเรียนในหลายรัฐที่พยายามสร้างให้เกิดสภาพการเรียนรู้ของเด็กที่มาจากพื้นฐานทางครอบครัวที่ต่างกัน และหลากชาติพันธุ์ร่วมกัน โดยในปี2012-2013พบว่า ในห้องเรียนประกอบด้วย เด็กผิวขาว30.2 %เด็กผิวดำ31.4%เด็กละติน30.5%และเด็กเอเชีย4.4%ซึ่งมีค่าเฉลี่ยด้านความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในระดับประเทศ
6) เปลี่ยนการจัดระเบียบ‘วินัย’ให้เป็น‘ข้อตกลงร่วม’ การลงโทษ จำพวก‘กักบริเวณ’หรือ‘การพบครูใหญ่’เพื่อแก้ปัญหา แทนที่จะให้นักเรียนเรียนรู้ว่าทำผิดนั้น คุณครูในโรงเรียนเดอแรม คอมมูนิตี้ ในรัฐเมนกลับเลือกใช้ “ข้อตกลงร่วม” แทน “ระเบียบวินัย” เช่น ถ้านักเรียนกระโดดโลดเต้นระหว่างชั่วโมงเรียน ครูจะถามนักเรียนว่า เขามีความคิดอย่างไรในการทำแก้พฤติกรรมที่รบกวนระหว่างเรียน อาทิ ยืนนั่ง10นาทีในห้องเรียน ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยพัฒนาพฤติกรรม โดยรอสส์ กรีนี นักจิตวิทยาในปี2011พบกว่า ระหว่างปี2012-2013มีการก่อกวนชั้นเรียนเพียง8ครั้งเท่านั้น ซึ่งลดลงจากเดิม103ครั้งหลังจากที่นำวิธีการนี้มาปรับใช้
7) ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการจัดตารางการเรียนรู้เด็กเรียนรู้ได้ดีเมื่อพวกเขาสนใจ ซึ่งปัจจุบันคอมพิวเตอร์กลายเป็นความสนใจร่วม ซึ่งสร้างให้เกิดผลการเรียนรู้ที่ดี โดยหนึ่งในเครื่องมือที่ประสบผลสำเร็จในอเมริกาขณะนี้คือ อุปกรณ์ที่เรียกว่า “Knewton” ซึ่งเป็นช่องทางการเรียนรู้เสมือนจริงที่สามารถปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน เช่น ใครที่ติดขัดในการคำนวณKnewtonจะให้คำแนะนำการแก้ปัญหา เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจ และเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ได้ตรงจุด เป็นต้น
8) เริ่มชั้นเรียนหลัง8.30น.วัยรุ่นต้องการการพักผ่อนอย่างน้อย8ชม.เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง และหากพักผ่อนไม่เพียงพอก็จะเป็นสาเหตุนำไปสู่น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ขาดสมาธิ ศักยภาพการเรียนรู้ที่ลดลง ซึ่งขัดแย้งกับสภาพร่างกายของวัยรุ่นที่สามารถตื่นได้ถึงเที่ยงคืน จึงเป็นสาเหตุให้รัฐบาลกลางและผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์เรียกร้องให้โรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเริ่มเรียนหลังจาก8.30น.(แม้ว่าจะมีโรงเรียนน้อยกว่า1ใน5ในอเมริกาที่ให้ความร่วมมือ) โดยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมินิโซตาพบว่า นักเรียน60%จะได้พักผ่อนอย่างน้อย8ชม.ซึ่งถือเป็นความพยายามในการปรับเปลี่ยนตารางชีวิตของวัยรุ่นที่เห็นได้ชัด
ขอบคุณภาพจากไบร์ททีวี