ปริศนา "ระบบจุดระเบิด" ที่ราชประสงค์
ข่าวที่อ้างคำให้การของ นายเมอไรลี่ ยูซูฟู ผู้ต้องหาครอบครองยุทธภัณฑ์ที่เกี่ยวโยงกับเหตุระเบิดบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ซึ่งระบุว่าเขาเป็นคนกดระเบิดที่ชายเสื้อเหลืองนำไปวางไว้บริเวณม้านั่งลานท้าวมหาพรหมนั้น ทำให้ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับ “ระบบการจุดระเบิด” และ “ชนิดของระเบิด” ที่คนร้ายใช้ เปลี่ยนไปเกือบจะสิ้นเชิง
จนถึงวันนี้ยังไม่มีคำยืนยันอย่างเป็นทางการทั้งจากตำรวจและฝ่ายความมั่นคงว่า เหตุระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์นั้น คนร้ายใช้ “ระบบจุดระเบิด” แบบใด โดยสาเหตุสำคัญมาจากระเบิดทำงานสมบูรณ์ 100% จนแทบไม่เหลือเศษซากหลักฐานใดๆ ไว้ให้ตรวจสอบ ซึ่งระเบิดที่ทำงานได้สมบูรณ์ขนาดนี้ เคยเกิดในประเทศไทยน้อยมาก แม้แต่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ตาม
ต่อมาเมื่อเกิดระเบิดที่ท่าเรือสาทร ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นเหตุการณ์เชื่อมโยงกับเหตุระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ ปรากฏว่าระเบิดที่สาทรพบหลักฐานว่าใช้ระบบจุดระเบิดแบบ “ตั้งเวลา” ทำให้มีการสันนิษฐานว่าระเบิดที่ราชประสงค์ก็น่าจะใช้ “ระบบจุดระเบิด” แบบเดียวกัน
แต่แล้วข้อสันนิษฐานดังกล่าวก็ต้องเปลี่ยนไป เมื่อมีการอ้างคำให้การของนายยูซูฟูว่า เขาเป็นคนกดระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์
“การกดระเบิด” แสดงว่าระเบิดไม่ได้ใช้ระบบจุดระเบิดแบบตั้งเวลา ซึ่งก็สอดคล้องกับพฤติกรรมการวางระเบิดของชายเสื้อเหลือง ที่ระเบิดทำงานหลังจากนำเป้ไปวางบริเวณศาลท้าวมหาพรหมเพียงไม่กี่นาที ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นเวลาที่กระชั้นเกินไป และอาจเป็นอันตรายกับมือระเบิดเอง จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่ระเบิดดังกล่าวจะจุดระเบิดด้วยการตั้งเวลา
ประเด็นที่ต้องคิดต่อก็คือ นายยูซูฟูเป็นคนกดจุดระเบิดจริงหรือไม่ โดยวิธีการมีความเป็นไปได้หลายแนวทาง ทั้งการใช้โทรศัพท์มือถือโทรเข้าไปจุดระเบิด ซึ่งในตัวระเบิดต้องต่อเชื่อมวงจรกับโทรศัพท์มือถืออีกเครื่องหนึ่งเพื่อเป็นภาครับ หรืออาจใช้รีโมทคอนโทรลเหมือนกับรีโมทรถยนต์เป็นตัวจุดระเบิด ซึ่งก็ต้องมีภาครับอยู่ในตัวระเบิดเช่นเดียวกัน กับอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ระยะหลัง คือ ใช้วิทยุสื่อสารในการจุดระเบิด
ตามข่าวยังไม่มีการระบุว่านายยูซูฟูจุดระเบิดด้วยวิธีใด ได้แต่เปิดเผยว่านายยูซูฟูยืนกดระเบิดอยู่บนสกายวอล์ค สี่แยกราชประสงค์ แค่มีข้อสังเกตก็คือ จุดที่ยืนกดระเบิดใกล้กับบริเวณที่ระเบิดทำงานเกินไปหรือไม่
ขณะที่ข้อมูลการข่าวอีกด้านหนึ่งระบุว่า มีภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดยืนยันว่า นายยูซูฟูเดินวนเวียนอยู่แถวลานหน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งบริเวณสี่แยกราชประสงค์ และอาจใช้เป็นสถานที่กดจุดระเบิด
แต่คำถามก็คือ เขารู้ได้อย่างไรว่าชายเสื้อเหลืองวางระเบิดเรียบร้อยแล้ว เพราะมองจากลานหน้าห้างสรรพสินค้าชื่อดังก็เป็นพื้นราบเช่นเดียวกับบริเวณลานศาลท้าวมหาพรหม น่าจะสังเกตได้ยาก ฉะนั้นหากนายยูซูฟูกดจุดระเบิดจากตรงนั้นจริง ก็ต้องมีคนคอยส่งสัญญาณให้จุดระเบิด เช่น ชายเสื้อเหลืองเอง หรือบุคคลที่สาม
แต่คำถามที่แหลมคมไม่น้อยก็คือ ทำไมชายเสื้อเหลืองจึงไม่กดจุดระเบิดด้วยตัวเอง ทั้งเพื่อความปลอดภัยของเขา และป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งมวล เพราะการก่อวินาศกรรมด้วยการลอบวางระเบิดในที่ชุมนุมของคนจำนวนมาก ไม่จำเป็นต้องล็อคเป้าหมายเหมือนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้องมีคนกดจุดระเบิดอีกคนหนึ่งเพื่อรอล็อคเป้าหมาย คือ เจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจที่เคลื่อนกำลังผ่านบริเวณที่วางระเบิด
ส่วนระบบการจุดระเบิดโดยใช้ “รีโมทคอนโทรล” ก็น่าสนใจ เพราะรีโมทฯรถยนต์นั้น ระยะความแม่นยำอาจไม่ถึง 100 เมตร ทั้งยังใช้ในพื้นที่ที่มีสัญญาณอื่นรบกวนมากๆ ไม่ได้ ลองหลับตานึกความจอแจที่สี่แยกราชประสงค์ซึ่งมีสัญญาณต่างๆ มากมาย และเมื่อพลิกดูสถิติการก่อเหตุระเบิดที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าไม่มีการใช้ระบบจุดระเบิดด้วยรีโมทคอนโทรลมาตั้งแต่ปี 2556 แล้ว
แม้ด้านหนึ่งจะเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่มีเครื่องตัดสัญญาณ หรือกวนสัญญาณรีโมทคอนโทรลใช้เกือบทุกหน่วย แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นความยากในการกดจุดระเบิด เพราะคนกดต้องอยู่ไม่ห่างจากจุดที่วางระเบิดไม่มากนัก
แต่ นายยูซูฟู และทีมระเบิดราชประสงค์อาจมีเทคโนโลยีล้ำสมัยกว่าที่มีใช้ในประเทศไทยหรือในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นได้
ทั้งหมดคือคำถามที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงต้องช่วยกันคลี่คลายต่อไป เพราะการรู้ระบบจุดระเบิดที่ถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริง จะเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยมัดตัวกลุ่มผู้ต้องหาทั้งหมด และชี้ชัดว่ามีความเชื่อมโยงกับวัตถุพยานอื่นๆ โดยปราศจากข้อสงสัย อีกทั้งยังจะสร้างความเชื่อมั่นในการคลี่คลายคดีในสายตาของประชาชน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพชายเสื้อเหลืองกำลังเดินเข้าไปวางระเบิดบริเวณศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ จากนั้นเพียงไม่กี่นาที ระเบิดก็ทำงาน