‘เกษตรอินทรีย์’ ระบบอาหารปลอดภัย ยั่งยืน เป็นธรรม ของโลกอนาคต
“เราแน่ใจได้อย่างไรว่า ผัก ปลา ไก่ ไข่ นม เนื้อ ที่มาจากการผลิตแบบอุตสาหกรรมเน้นปริมาณ จะมีความปลอดภัยต่อตัวเรา และเป็นระบบการผลิตที่ยั่งยืน...ข้าวปลาอาหารถูกทำให้เป็นเพียงแค่สินค้าที่สร้างรายได้”
คำถามที่ถูกตั้งขึ้นในการประชุมแลกเปลี่ยนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและเอเชีย เรื่อง ตลาดที่มีจิตสำนึกแห่งเอเชีย ครั้งที่ 2 ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)ประสานมิตร เวทีที่มีการรวมตัวของผู้ประกอบการสังคมรุ่นใหม่จากหลายประเทศ เพื่อมุ่งหวังผลิตอาหารอินทรีย์ สร้างเศรษฐกิจที่มีจิตสำนึก
ทั้งนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในอนาคตประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9 พันล้านคน ทำให้ระบบการผลิตอาหารดั้งเดิมไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ ดังนั้น ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารจึงเกิดขึ้น และดูเหมือนเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่มั่นใจได้อย่างไร ภายใต้การผลิตอาหารรูปแบบดังกล่าวจะมีความปลอดภัย ไม่กระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร
ด้วยเหตุนี้ "อาหารอินทรีย์" เป็นหนึ่งในทางเลือก เพราะถือเป็นเศรษฐกิจที่มีจิตสำนึก ‘อองเดร ลิว’ (Andre Leu) ประธานสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ เปิดเผยสถิติผลิตภัณฑ์ภาคอินทรีย์ ปี 2013 มีมูลค่า 72 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี จากเดิมปี 2009 มีมูลค่า 15.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี ซึ่งเห็นได้ชัดว่า มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์ผู้หิวโหยทั่วโลก พบมีมากกว่า 700 ล้านคน ที่มีอาหารไม่พอกินตลอดปี ขณะเดียวกันมีอาหารพอกิน แต่ขาดสารอาหารกว่า 2 พันล้านคน เขาบอกว่า สินค้าเกษตรร้อยละ 70-80 มาจากเกษตรกรรายย่อย แต่ส่วนใหญ่เกษตรกรกลุ่มดังกล่าวกลับเป็นผู้ขาดสารอาหารแทน
เพราะฉะนั้น เราต้องทำงานขับเคลื่อนอาหารอินทรีย์กับเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้พวกเขาได้รับสารอาหารเพียงพอ
“อุตสาหกรรมเกษตรไม่สามารถเลี้ยงอาหารคนทั้งโลกได้ เพราะผู้บริโภคต้องใช้เงินซื้ออาหารเหล่านี้ หากข้อเท็จจริงแล้ว ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่มีเงินเพียงพอสำหรับซื้ออาหาร อย่างไรก็ตาม เกษตรอินทรีย์ช่วยวิกฤตดังกล่าวได้ โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีสภาวะอาหารแปรปรวนอย่างมาก” ปธ.สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ฯ ระบุ
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันดินสากล อองเดร บอกว่า ดินอินทรีย์สามารถรับการซึมซับได้ดีกว่า ดินที่ใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมี ซึ่งไม่สามารถทนต่อการซึมซับของน้ำได้ เพราะสิ่งที่สำคัญ คือ ฮิวมัส มีลักษณะคล้ายฟองน้ำ เหนียวเหมือนกาว คอยทำหน้าที่เกาะกัน และซึมซับน้ำได้ดีถึง 30 เท่า ของน้ำหนัก
หากปีไหนเกิดวิกฤติภัยแล้ง ดินอินทรีย์สามารถผลิตฮิวมัสได้มากกว่าร้อยละ 28-30 ซึ่งทนต่อความแห้งแล้งได้มากกว่า อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่า ดินอินทรีย์สามารถเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่า เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการขยายการทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น
เขากล่าวด้วยว่า การทำเกษตรอินทรีย์ช่วยเพิ่มผลผลิต โดยองค์กรมีโครงการในอัฟริกา 114 โครงการ พบเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 128 ต่อปี พร้อมยกตัวอย่าง ประเทศเอธิโอเปีย ที่ผ่านมามีภัยความหิวโหย พื้นที่เพาะปลูกถูกกัดเซาะ แต่หลังจากทำเกษตรอินทรีย์ตามไหล่เขากลับช่วยได้
“สิ่งสำคัญต้องคำนึงถึง คือ การจำหน่ายให้ได้ราคา เพื่อให้มีรายรับคุ้มค่ากับการลงทุน ส่วนหนึ่งต้องมีตลาด อย่างไรก็ดี ยืนยันว่า ผลผลิตอินทรีย์มีราคาและสร้างรายได้สูงกว่าเกษตรกระแสหลัก ช่วยลดความยากจนได้อย่างชัดเจน” อองเดร กล่าว และทิ้งท้ายว่า ควรมุ่งเน้นให้ผลผลิตตอบสนองตลาดในท้องถิ่นก่อน เพื่อความมั่นคงอาหารในท้องถิ่น ให้คนมีอาหารกินเป็นอันดับแรก ก่อนส่งออก
ผู้ประกอบการรุ่นใหม่อย่าง ‘เฉิน ลี’ (Chen Li) จากจีน เขาสำเร็จการศึกษาจาก ม.ซีอันเจียวทง เมื่อปี 1999 ใช้เวลามากกว่า 10 ปี ทำงานกับบริษัทชื่อดังของจีนหลายแห่ง เช่น TCL และ Aigo จนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ตัดสินใจลาออก และเข้าร่วมกับ ดร.สือ เหยียน สร้างกลุ่มแบ่งปันผลผลิต (Shared Harvest)
ปัจจุบันได้ร่วมดำเนินกิจการไข่ไก่อินทรีย์กับกลุ่มเพื่อน ๆ ในชื่อ Einstien Organic Egg Farm ซึ่งแรกเริ่มพ่อแม่ก็ไม่เห็นด้วย เพราะอุตส่าห์ส่งลูกให้เรียนหนังสือ ก็หวังให้ออกมาทำงานในห้องแอร์ เป็นผู้บริหารที่แท้จริง
จนกระทั่งเขาพิสูจน์ให้พ่อแม่เห็นว่า ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ และสุดท้ายพวกเขาก็เริ่มเปลี่ยนใจ และมองเห็นว่า ลูกอาจทำธุรกิจนี้ได้ดี
(เฉิน ลี กับฟาร์มไก่ไข่)
เขาบอกว่า ผู้บริโภคจะคำนึงเรื่องราคา คุณภาพ และแหล่งผลิตเป็นหลัก ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่มักไม่มีการสื่อสารเรื่องความรู้ที่ได้จากการบริโภค หรือกระบวนการผลิตเป็นอย่างไร ทำให้ผู้บริโภคเห็นราคา แต่ไม่เห็นคุณภาพ
ดังนั้น ไข่ไก่ของฟาร์มที่นี่จึงนำมาเป็นจุดเด่น โดยมีต้นทุนอาหารสัตว์ ต้นทุนบรรจุภัณฑ์ ส่วนต้นทุนขนส่งนั้น เขาเลือกใช้วิธีขายตรงแก่ผู้บริโภคเลย
ถามว่าลูกค้าตอบสนองต่อไข่ไก่อินทรีย์อย่างไร เฉิน ลี ตอบทันทีว่า ดีมาก แต่ราคาไม่ใช่ปัญหา สิ่งสำคัญ คือ ผู้บริโภคตั้งใจซื้อมากกว่า เพราะสินค้าเกษตรเปรียบเทียบกันยาก ผู้บริโภคไม่มีทางทราบว่า ของใครดีกว่ากัน จำเป็นต้องให้ความรู้ เพื่อจะได้ทราบกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้อง ไม่เหมือนโทรศัพท์มือถือสามารถเปรียบเทียบคุณภาพกับยี่ห้ออื่นได้
แล้วเป็นไปได้หรือไม่ หากผลักดันสินค้าเกษตรอินทรีย์สู่กระแสหลัก ‘ออง คุง ไว’ (Ong kung Wai) ที่ปรึกษาและประธานกลุ่มภาคีเกษตรอินทรีย์ Organic Alliance ประเทศมาเลเซีย บอกว่า เกษตรอินทรีย์เป็นระบบเกษตรกรรมที่ดีกว่ากระแสหลัก อาจมีอุปสรรคอยู่ แง่หนึ่งเกี่ยวกับเกษตรกรต้องการเงินมากขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์ อย่างไรก็ตาม การตั้งราคาเป็นธรรมเป็นเรื่องที่ตกลงกันยาก เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องนำเรื่องคุณค่ามาตกลงกันด้วย
เขากล่าวด้วยว่า เกษตรกรต้องการจำหน่ายสินค้าอินทรีย์ให้กว้างขึ้น มิเช่นนั้นจะเจ๊ง หลายพื้นที่มีเกษตรกรเปลี่ยนอาชีพย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง เพราะเจ๊ง ฉะนั้นต้องดูให้ดีจะทำอย่างไร สิ่งสำคัญ บริบทการค้าสมัยใหม่ คงไม่สามารถขยายร้านสีเขียวให้ใหญ่เท่านั้นได้ ทั้งนี้ ต้องมองตลาดโลกด้วย ไม่ใช่เฉพาะในประเทศ และเป็นไปได้ควรขยายตลาดอินทรีย์ไปสู่อาเซียน และโลก หากตลาดอาเซียนชะลอตัวก็ต้องหาตลาดอื่น ต้องรู้จักปรับตัว เพื่อให้เข้ากับขนาดของตลาดที่เหมาะสมกับธุรกิจ
ขณะที่ ‘วัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด’ บริษัท สวนเงินมีมา จำกัด โต้โผคนสำคัญในการจัดประชุมครั้งนี้ กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม เพื่อการส่งเสริมอนามัยและสุขภาพของเด็กและคนไข้ในโรงพยาบาลให้ได้รับอาหารที่ดี โดยการบริโภคอาหารอินทรีย์ คงไม่สามารถปล่อยให้กลุ่มธุรกิจดำเนินโครงการได้ฝ่ายเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ โดยเฉพาะโรงเรียนให้เด็กรับประทานผักปลอดสารพิษ
ทั้งนี้ เห็นด้วยให้มีตลาดขนาดเล็กในท้องถิ่น แต่ก็ควรมีตลาดขนาดใหญ่เพื่อส่งออกได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ คือ ต้องไม่ทำให้อาหารอินทรีย์ถูกลง จนเกษตรกรอยู่ไม่ได้
ด้วยเชื่อว่า เกษตรอินทรีย์ คือ แนวทางอยู่รอดของโลกศตวรรษหน้า .