ป.ป.ช.ฟัน "ร้อยตรี" ผิดวินัย-อาญาคดีซ้อมอิหม่ามยะผา – แม่อัสฮารีได้สินไหม
มีความคืบหน้าอันสำคัญของคดีที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 2 คดีที่น่าสนใจและต้องบันทึกเอาไว้
ชี้มูล "ร้อยตรี" ซ้อมอิหม่ามยะผา
หนึ่ง คือ คดีอิหม่ามยะผา หรือ นายยะผา กาเซ็ง อดีตอิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเมื่อราววันที่ 19-20 มี.ค.2551 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มี.ค.เพราะถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกายในฐานปฏิบัติการของหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ตั้งอยู่ภายในวัดสวนธรรม อ.รือเสาะ
คดีนี้พนักงานสอบสวนต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ไต่สวนต่อ เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดล้วนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ (ทหาร)
ผู้ถูกกล่าวหา คือ ร้อยเอกพันธ์ศักดิ์ โสภารัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายทหารกิจการพลเรือน หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ร้อยตรีสิริเขตต์ วาณิชบำรุง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยนายทหารกิจการพลเรือน หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 จ่าสิบเอกเริงณรงค์ บัวงาม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสมียนเสบียง ตอนสูทกรรม หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 สิบเอกบัณฑิต ถิ่นสุข เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เสมียนกิจการพลเรือน หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 และ สิบเอกณรงค์ฤทธิ์ หาญเวช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกิจการพลเรือน หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39
ทั้งหมดถูกกล่าวหาในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด กรณีร่วมกันทำร้ายร่างกาย นายยะผา กาเซ็ง ระหว่างการควบคุมตัวในฐานะผู้ต้องสงสัย จนเสียชีวิต ขณะปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ภายในฐานปฏิบัติการที่อยู่ภายในวัดสวนธรรม อ.รือเสาะ
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ประชุมพิจารณาเรื่องนี้ และมีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 8 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า การกระของ ร้อยตรีสิริเขตต์ วาณิชบำรุง ผู้ถูกกล่าวหา มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย และการขัดคำสั่งนั้นเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ.2521 มาตรา 15 ประกอบระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ. 2507 ข้อ 2.4 และข้อ 2.9
และมีมูลเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่ง หรือหน้าที่นั้น เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123
ส่วนกรณีกล่าวหา ร้อยเอกพันธ์ศักดิ์ โสภารัตน์ จ่าสิบเอกเริงณรงค์ บัวงาม สิบเอกบัณฑิต ถิ่นสุข และ สิบเอก ณรงค์ฤทธิ์ หาญเวช นั้น จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คนได้ร่วมกันกระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
พร้อมกันนี้ ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีกับ ร้อยตรีสิริเขตต์ วาณิชบำรุง ตามฐานความผิดดังกล่าว
ศาลปกครองสั่งจ่ายแม่ "อัสฮารี"
สอง คือ คดี อัสฮารี สะมาแอ ที่ถูกซ้อมทรมานขณะเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจนเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อราววันที่ 21 ก.ค.2550 ในท้องที่จังหวัดยะลา
คดีนี้ ศาลปกครองสงขลาได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 39 ที่มี นางแบเดาะ สะมาแอ ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นมารดาของนายอัสฮารี ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดจากกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 กองทัพบก เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 3 และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 4
เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้กระทำละเมิดในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกควบคุมตัว นายอัสฮารี สะมาแอ บุตรชายของนางแบเดาะ และได้ซ้อมทรมานทำร้ายร่างกายในระหว่างการควบคุมตัวจนเป็นเหตุให้นายอัสฮารี สะมาแอ เสียชีวิตในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่4 สำนักนายกรัฐมนตรี จ่ายค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 534,301 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% นับจากวันที่ 17 ก.ค. 2551 เป็นเวลา 6 ปี รวมทั้งหมด 634,301 บาท และยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีอื่นๆ
ถือว่าศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองสงขลา ซึ่งมีคำพิพากษาไว้เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2555 ให้สำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้มารดาของนายอัสฮารี
นางสาวมาซีเต๊าะ หมันหล๊ะ เจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งช่วยเหลือด้านกฎหมายให้กับนางแบเดาะ กล่าวว่า เงินสินไหมที่ศาลปกครองงสุดตัดสินให้สำนักนายกรัฐมนตรี จ่ายเป็นค่าสินไหมทดแทนนี้ ไม่เกี่ยวกับเงินจำนวน 7.5 ล้านบาทที่ รัฐบาลเคยจ่ายเป็นเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ถือเป็นเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มให้กับครอบครัวของนายอัสฮารี
สำหรับเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ก.ค.2550 เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 กับหน่วยเฉพาะกิจที่ 13 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ร่วมกันปิดล้อม ตรวจค้น และควบคุมตัวนายอัสอารี กับพวก บริเวณสวนยางพารา หมู่ 5 บ้านจาเราะซีโป๊ะ ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก
ต่อมาวันเดียวกัน เวลาประมาณ 19.00 น. เจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายอัสฮารีไปส่งที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ..ปัตตานี เนื่องจากนายอัสฮารี ได้รับบาดเจ็บสาหัส และแพทย์ได้ส่งไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลปัตตานี กับโรงพยาบาลศูนย์ยะลา แต่นายอัสฮารีได้เสียชีวิตในวันที่ 22 ก.ค.2550 โดยใบความเห็นแพทย์ระบุว่า เสียชีวิตเนื่องจากสมองบวม ตามร่างกายมีรอยฟกช้ำ ทำให้ นางแบเดาะ สะมาแอ มารดา ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ผู้กระทำการ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : อิหม่ามยะผา กาเซ็ง