เบื้องหลังปฏิบัติการจับแก๊งบึ้มกรุง จับตาปิดเกมแค่แก๊งปลอมพาสปอร์ต
พลันสิ้นเสียงกัมปนาทแห่งระเบิดครั้งรุนแรงที่สี่แยกราชประสงค์ มุมวิเคราะห์ของฝ่ายความมั่นคงก็มุ่งหามูลเหตุที่นำมาสู่การก่อวินาศกรรมร้ายแรงกลางกรุงเทพฯทันที พร้อมๆ ไปกับการเร่งหาเบาะแสเพื่อติดตามตัวกระทำ
เป้าหมายแรกชี้ไปที่ประเด็นขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ และการดิสเครดิตรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เนื่องจากรัฐบาลและคสช.เต็มไปด้วยขุนทหาร แม่ทัพนายกอง การดิสเครดิตที่ทำให้เสียหน้า เสียรังวัดมากที่สุด ก็คือการก่อความไม่สงบให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง โดยเฉพาะเมืองหลวง ศูนย์กลางการค้าการลงทุนของประเทศ
ประกอบกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะ “ทัวร์จีน” มีความสำคัญในระดับเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยในยุค คสช. การสร้างสถานการณ์ความรุนแรงที่ก่อความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวจีน หากเปรียบกับเกมหมากรุกย่อมเท่ากับเป็นการ “รุกฆาต” คสช.จนอาจถึงขั้นหมดตาเดิน
แต่ด้วยรูปแบบการประกอบระเบิด และอุปกรณ์ประกอบที่ใช้ โดยเฉพาะสะเก็ดที่เป็นลูกเหล็กกลมๆ เรียกว่า “บอล แบริ่ง” หรือลูกปืนในล้อรถจักรยานยนต์ที่พบหลงเหลือบริเวณจุดเกิดเหตุ ซึ่งไม่เคยพบใช้ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นระเบิดการเมือง หรือระเบิดชายแดนใต้ ทำให้น้ำหนักของการวิเคราะห์เปลี่ยนไป
แต่การ “ก่อการร้ายสากล” ก็น่าจะเป็นข้อสันนิษฐานที่สุ่มเสี่ยงและใหญ่โตเกินไป เพราะไทยไม่ได้แสดงเป็นศัตรูกับกลุ่มก่อการร้ายไม่ว่ากลุ่มใด หนำซ้ำด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของไทย ประกอบกับความหละหลวมของมาตรการตรวจคนเข้าเมือง ทำให้เป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่า เมืองไทยกลายเป็นสวรรค์ของพวกที่มีชื่ออยู่ใน “แบล็คลิสต์” ต่างๆ สำหรับกบดาน หลบมาพักผ่อน หรือพักร้อน
ประเด็นความไม่พอใจเรื่องการส่งชาวอุยกูร์ 109 คนที่ถูกคุมตัวในประเทศไทยในข้อหาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเมื่อปีที่แล้ว ไปให้รัฐบาลจีนเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็น “คู่ขัดแย้ง” ของชาวอุยกูร์มุสลิม ชนกลุ่มใหญ่ในมณฑลซินเจียง ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน จึงกลายเป็นปมที่มีน้ำหนักขึ้นมา
กระบวนการตรวจสอบข้อมูล “ชาวอุยกูร์” ที่เคลื่อนไหวอยู่ในจีนและประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะขบวนการอุยกูร์หัวรุนแรงที่ต้องการแบ่งแยกมณฑลซินเจียงออกจากจีน จัดตั้งเป็น “สาธารณรัฐเตอร์กีสถานตะวันออก” หรือขบวนการ ETIM จึงเริ่มขึ้นอย่างขะมักเขม้น
ทว่าจากการตรวจสอบข้อมูลทั้งจากฐานข้อมูลของไทยเอง และฐานข้อมูลที่ประสานกันกับหน่วยข่าวของมิตรประเทศ ไม่พบแกนนำขบวยการอุยกูร์หัวรุนแรงเล็ดลอดเข้า-ออกประเทศไทยทั้งก่อนและหลังเหตุระเบิด
ประเด็นนี้จึงตัดไป และตีกรอบแคบเข้ามาที่ “กลุ่มอุยกูร์ในประเทศ”
ขบวนการนำพาอุยกูร์อพยพออกจากมณฑลซินเจียงที่พวกเขารู้สึกว่าถูกกดขี่ ถูกจำกัดอัตลักษณ์และการประกอบศาสนกิจ เพื่อไปตั้งรกรากในประเทศตุรกี ซึ่งมีคนเชื้อชาติอุยกูร์อยู่จำนวนไม่น้อย เป็นเป้าหมายการสแกนอย่างละเอียดยิบของฝ่ายความมั่นคง เนื่องจากขบวนการนี้เคลื่อนไหวอยู่ในไทยด้วย เพราะไทยเป็นทางผ่านในเส้นทางนำพาอุยกูร์
อุยกูร์กลุ่มใหญ่ ทั้งชาย หญิง และเด็กกว่า 300 คนที่ถูกจับกุมได้ในป่านอกอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2557 คือหลักฐานอันสำคัญ โดยมุสลิมกลุ่มนี้ ส่วนที่เป็นผู้หญิงและเด็ก ถูกส่งไปประเทศตุรกีตามความต้องการ ส่วนกลุ่มผู้ชาย ไทยเลือกส่งให้จีน จนกลายเป็นปัญหาในมิติด้านสิทธิมนุษยชนตามมา
ด้วยเหตุนี้ ขบวนการนำพาอุยกูร์จึงมีอยู่ในประเทศไทยด้วย ที่สำคัญเส้นทางการอพยพของชาวอุยกูร์จากมณฑลซินเจียงสู่ประเทศตุรกี ทั้ง 4 เส้นทางตามข้อมูลของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่เปิดเผยกลางงานสัมมนาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็ชัดเจนว่าทุกเส้นทางล้วนผ่านประเทศไทย
ขบวนการนำพาอุยกูร์ในประเทศไทย รวมถึงอุยกูร์ที่ถูกคุมอยู่ให้ห้องกัก ตม. และกลุ่มที่หลบหนีจากห้องกัก จึงถูกแกะรอยและล่าตัวอย่างเต็มกำลัง
เป้าหมายถูก “มาร์ค” จากเทคโนโลยีการสืบสวนสมัยใหม่ โดยเฉพาะข้อมูลโทรศัพท์ มีหมายเลขที่ถูกติดตามมากเป็นพิเศษ คือหมายเลขที่ถูกใช้โทรถี่ยิบช่วงก่อนและหลังเกิดระเบิดที่ราชประสงค์
แต่ขบวนการเหล่านี้ก็รู้ตัวล่วงหน้า แทบทุกเป้าหมายอยู่ในอาการสงบนิ่ง การคลำหาเบาะแสทางกายภาพจึงเริ่มต้นขึ้น จากการสแกนแหล่งที่พักของชาวอุยกูร์ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด มีการ “ล็อคเป้า” พื้นที่เป้าหมายที่เตรียมนำกำลังเข้าตรวจค้น เฉพาะในกรุงเทพฯคือย่านมีนบุรีและหนองจอก ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่ มีมัสยิดจำนวนมาก คนเหล่านี้เข้ามาพำนักอยู่ก็จะไม่ดูแปลกแยกจนเป็นที่น่าสังเกตเกินไป
การควานหาเป้าหมายกินเวลานานกว่า 1 สัปดาห์ และแล้วจังหวะที่รออยู่ก็มาถึง โทรศัพท์ของเป้าหมายที่เฝ้าติดตามอยู่รายหนึ่งถูกเปิดใช้โทรไปต่างประเทศ แม้จะเป็นเพียงเวลาไม่กี่นาที แต่นั่นก็มากพอที่เจ้าหน้าที่จะนำกำลังรุดไปตรวจค้น และจับกุมผู้ต้องสงสัยรายแรกได้ที่อพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่งย่านหนองจอก เมื่อวันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม หรือ 12 วันหลังเกิดระเบิด
ผลการตรวจค้นได้หลักฐานเยอะเกินคาด เพราะนอกจากจะได้ตัวชายชาวต่างชาติวัย 28 ปีซึ่งมีชื่อในพาสปอร์ตของประเทศหนึ่งที่ติดรูปเขาว่า “อาเดม คาราดัก” (ตำรวจอ้างว่าเป็นพาสปอร์ตปลอม) แล้ว เจ้าหน้าที่ยังพบอุปกรณ์ที่สามารถประกอบเป็นวัตถุระเบิดแสวงเครื่องได้จำนวนมาก เล่มพาสปอร์ตปลอมนับร้อยเล่ม รวมทั้ง “บอล แบริ่ง” ที่ถูกใช้เป็นสะเก็ดระเบิดของวัตถุระเบิดที่ใช้ก่อวินาศกรรมที่สี่แยกราชประสงค์
คืนวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าค้าเป้าหมายอื่นๆ ตามที่ล็อกเป้าเอาไว้ และพบหลักฐานเพิ่มเติมเป็นดินดำ กับปุ๋ยยูเรีย ซึ่งสามารถนำมาประกอบเป็นระเบิดแสวงเครื่องได้เช่นกัน ที่หอพักอีกแห่งหนึ่งย่านมีนบุรี
นี่คือปฏิบัติการที่มาจากการระดมกำลังของทุกหน่วยร่วมกันแกะรอย หาเบาะแส ทั้งด้วยทฤษฎีการสืบสวนขั้นพื้นฐาน และเทคนิคพิเศษอันทันสมัย เจ้าหน้าที่แทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน
หลังจากได้ตัวผู้ต้องสงสัยพร้อมของกลาง การขยายผลจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เบาะแสต่างๆ เริ่มไหลเข้ามา ทั้งจากปากคำนายอาเดม และข้อมูลการใช้โทรศัพท์ ตลอดจนพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เก็บได้จากของกลางที่ยึดได้ และห้องที่พวกเขาเข้าพัก รวมทั้งเปิดไว้เก็บอุปกรณ์ประกอบระเบิด
และนั่นได้นำไปสู่การออกหมายจับอีกชุดใหญ่ รวมถึงติดตามรวบตัวชายชาวต่างชาติต้องสงสัยอีก 1 คนที่ชายแดนไทย-กัมพูชาด้านอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
ข้อมูลล่าสุดจนถึงขณะนี้ ชี้ว่า ชายต้องสงสัยคนที่ 2 ที่ถูกรวบ ไม่น่าจะเป็น “ชายเสื้อเหลือง” ที่ถูกออกหมายจับพร้อมภาพสเก็ตช์ในฐานะมือระเบิดราชประสงค์ แต่เขาน่าจะเป็นบุคคลสำคัญที่เชื่อมโยงทั้งเหตุการณ์วินาศกรรมและกลุ่มผู้ต้องหาคนอื่นๆ
ประเด็นที่น่าสังเกตและเป็นข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยก็คือ คนกลุ่มนี้ซึ่งน่าเชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็น “ขบวนการนำพาอุยกูร์” มีศักยภาพในการลอบวางระเบิดขนาดใหญ่เช่นนี้เชียวหรือ หรือว่ามีขบวนการอื่นที่มีศักยภาพในการก่อเหตุรุนแรงเข้ามาร่วม อาจจะในลักษณะร่วมมือกันทำงาน หรือ “สวมรอย” ก็มีความเป็นไปได้
มีการระบุถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลบางประเทศว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในทางใดก็ทางหนึ่งด้วยซ้ำ
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น รัฐบาลไทยอยู่ในสภาพ “น้ำท่วมปาก” เพราะหากยอมารับว่าชนวนระเบิดมาจากการส่งชาวอุยกูร์ให้กับรัฐบาลจีน นั่นก็หมายความว่านโยบายด้านการต่างประเทศและความมั่นคงของไทยมีความผิดพลาด รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบอะไรหรือไม่
และการให้น้ำหนักความสัมพันธ์กับมหาอำนาจไปที่ “จีน” แทนการ “ถ่วงดุล” มหาอำนาจ 2 ฝ่ายอันเป็นกุศโลบายที่เคยใช้มาตลอด แล้วมาเปลี่ยนในรัฐบาลชุดนี้ อาจทำให้มองได้ว่าประเทศไทยกำลังถูก “สั่งสอน” หรือ “ให้บทเรียน” หรือไม่
คดีลอบวางระเบิดกลางกรุงเทพฯ จึงอาจจบลงที่การจับกุมแก๊งปลอมพาสปอร์ตและขบวนการนำพาอุยกูร์อพยพผ่านไทย โดยไม่แตกประเด็นไปไกลกว่านี้ ด้วยเหตุผลเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ
จากนั้นไทยก็เดินหน้ายกเครื่องงานตรวจคนเข้าเมืองและฐานข้อมูลด้านความมั่นคงต่อไป โดยขอรับความช่วยเหลือจากมหาอำนาจ กลายเป็นโครงการความร่วมมือที่มีผลประโยชน์ระหว่างประเทศแฝงอยู่เบื้องหลัง...เช่นเคย!