ม.เกษตรฯ วอน รฟม.เลื่อนปิดสะพานข้ามแยกเกษตร เลี่ยงรถติดช่วงรับปริญญา
ผู้บริหาร ม.เกษตรฯ หวั่นปิดสะพานข้ามเเยกเกษตร 12 ก.ย. 58 สร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว กระทบจราจรช่วงรับปริญญา ต.ค. วอนอิตาเลียนฯ เร่งหาวิธีเลี่ยงติดขัด ด้าน ผอ.โครงการฯ ไม่รับปากเลื่อนปิดสะพานออกไป ขอหารือ รฟม.ในฐานะกำกับสูงสุด
วันที่ 3 กันยายน 2558 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ และที่ปรึกษาโครงการ PCGRN จัดชี้แจงกรณีการรื้อย้ายสะพานข้ามแยกเกษตร โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) สัญญาที่ 1 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่) ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)บางเขน
รศ.ดร.ศรปราชญ์ ธไนศวรรยางค์กูร รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ม.เกษตรฯ กล่าวว่า มก.เป็นทำเลทองที่หลายฝ่ายต้องการดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เตรียมก่อสร้างทางด่วนงามวงศ์วาน แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2557 ยุติโครงการ และให้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลแทน แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงพยายามใช้ตอม่อเกษตรนวมินทร์เดินหน้าโครงการเดิมต่อ ทำให้ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการชะลออยู่
นอกจากนี้ยังมีโครงการขยายทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ โดยสร้างทางขึ้นประตูวิภาวดี รวมทั้งจัดสร้างด่านเก็บเงินเชื่อมต่อโรงพยาบาลวิภาวดี เพราะฉะนั้นการจราจร ถ.วิภาวดีรังสิต จึงเป็นเงื่อนไขทำให้ระบบการจราจรภายใน ม.เกษตรฯ ได้รับผลกระทบอีกทางหนึ่ง ยังไม่นับรวมผลกระทบที่อาจเกิดจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่กำลังจะดำเนินงาน ซึ่งโครงการหลังได้ประชุมหารือกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล แผนงานจราจร ในฐานะอยู่ในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมสิ่งที่จะเกิดขึ้นแล้ว
รักษาการแทนรองอธิการบดีฯ ม.เกษตรฯ กล่าวต่อว่า ประการสำคัญ คือ วันที่ 26-30 ตุลาคม 2558 จะมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิต ม.เกษตรฯ ก่อนหน้านั้นก็จะมีพิธีซ้อมย่อย และซ้อมใหญ่ ดังนั้น การรื้อสะพานข้ามแยกเกษตรอาจกระทบต่อการจราจร เป็นไปได้หรือไม่ว่า จะสร้างกระบวนการทำงานจัดให้มีการจราจรและบริเวณโดยรอบคลี่คลายจากปัญหาต่าง ๆ ได้ รวมถึงความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง แม้จะเชื่อมั่นทางเทคนิค แต่ก็ย่อมเกิดอุบัติเหตุเช่นกัน เหมือนกรณีก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง และเสนอให้ควรสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่นิสิตหญิง กรณีมีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานก่อสร้างด้วย
ด้านนายจิรวัฒน์ มาลัย ผู้อำนวยการโครงการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ กล่าวว่า การรื้อสะพานข้ามแยกเกษตร จนอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาคม ม.เกษตรฯ นั้น จากการประชุมก่อนหน้านี้ได้อนุญาตให้ปิดการจราจรทุกช่องทาง ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2558 เวลา 22.00 น.เป็นต้นไป เพื่อทำการรื้อย้ายเป็นเวลา 60 วัน คาดจะแล้วเสร็จราวกลางเดือนพฤศจิกายน หลังจากนั้นจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว และสร้างสะพานข้ามแยกคู่ขนานกันไป จำนวน 3 สะพานย่อยแทน
ทั้งนี้ ยืนยันจะไม่มีการนำเครื่องจักรขนาดใหญ่ก่อสร้างในเวลากลางวัน พร้อมเปิดฝั่งละ 2 ช่องจราจร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ส่วนกลางคืนตั้งแต่เวลา 22.00 – 05.00 น. ของวันถัดไป จะเหลือเพียงฝั่งละ 1 ช่องจราจร หากมีการนำเครื่องจักรขนาดใหญ่ทำการ โดยต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และขอให้ประชาชนพักอาศัยใกล้เคียงเลิกกังวลจะเกิดเสียงดังในเวลากลางคืน เพราะเราจะหลีกเลี่ยง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีโอกาสเลื่อนปิดสะพานข้ามแยกเกษตร เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัดระหว่างมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรหรือไม่ ผู้อำนวยการโครงการฯ ระบุว่า ขอรับเรื่องดังกล่าวกลับไปหารือกับ รฟม. ซึ่งเป็นผู้กำกับนโยบายสูงสุด อย่างไรก็ตาม จะพยายามปรับแผนการดำเนินงานอีกครั้ง จะสามารถรื้อสะพานข้ามแยกเกษตรก่อนหรือหลัง อย่างไหนจะดีกว่ากัน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบ
ขณะที่นายวริทธิ์ กิจส่งเสริมกุล นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรฯ กล่าวว่า ได้พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เห็นสะพานข้ามแยกเกษตรมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งการรื้อทิ้งและก่อสร้างรถไฟฟ้าจะทำให้คนรุ่นต่อไปได้รับประโยชน์ ส่วนคนรุ่นปัจจุบันก็ต้องยอมทนต่อความยากลำบาก โดยเฉพาะปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งครอบครัวก็กังวล แต่เพื่อเห็นอนาคตที่ดีก็ต้องเสียสละ
ทั้งนี้ การก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกพื้นที่มักได้รับการคัดค้านในระยะเริ่มแรก แต่เมื่อก่อสร้างเสร็จกลับพบว่า หลายคนได้รับประโยชน์ อย่างไรก็ตาม อาจต้องกลับมาคิดว่า เส้นทางรถไฟฟ้าวิ่งผ่านนั้นมีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใดด้วย หากค่าโดยสารยังมีราคาสูง เชื่อว่าจะไม่สามารถจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการได้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บรรยากาศการชี้เเจงเป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังค่อนข้างบางตา โดยส่วนใหญ่เป็นบุคลากรเเละนิสิตของ ม.เกษตรฯ ส่วนประชาชนที่อาศัยใกล้เคียงพื้นที่ก่อสร้างโครงการมีเพียง 2 คนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เวทีครั้งนี้ได้มีการถ่ายทอดไปยัง ม.เกษตรฯ วิทยาเขตต่าง ๆ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตด้วย
ทั้งนี้ หากประชาชนที่อาศัยบริเวณโดยรอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้รับผลกระทบ สามารถร้องเรียนได้ที่ รฟม. Call Center 0-2716-4044, ที่ปรึกษาโครงการ PCGRN Call Center 0-2115-6000 และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ Call Center 08-8274-0693 .