เปิดงานวิจัย (เบื้องต้น) ‘บุคลากรสื่อไทย’ ขยับดีขึ้น หรือไม่ต่างไปจากเดิม
เมื่อปี 2547 เคยมีผู้ทำวิจัยปฏิรูปสื่อ ในหัวข้อ "บุคลากรสื่อไทย" ไปบ้างแล้ว ทั้งโครงสร้างบุคลากรในสื่อวิทยุโทรทัศน์ สื่อหนังสือพิมพ์ รวมถึงสภาพปัญหาบุคลากรสื่อไทย
แม้งานวิจัยชิ้นนั้นในอดีตจะมีข้อเสนอถึงกระบวนการพัฒนาบุคลากรสื่อไทยต่อองค์กรสื่อ สมาคมวิชาชีพสื่อ และสถาบันการศึกษา แต่พบว่า 10 ปีผ่านไปก็ยังไม่ถูกนำมาปฏิบัติ ปล่อยให้งานวิจัยขึ้นหิ้งอยู่อย่างนั้น
มาถึงยุคสื่อหลอมรวม ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไปเช่นปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดี คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และคณะ เปิดเผยงานวิจัยชิ้นล่าสุด “บุคลากรสื่อไทย” ในเวทีเสวนาสาธารณะ "ติดอาวุธความรู้สู่การปฏิรูปสื่อให้ยั่งยืน" ณ ห้องพิมานทิพย์ โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพฯ จัดโดยศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ภายใต้โครงการศึกษาวิจัยการปฏิรูปสื่อ สนับสนุนโดย สำนักงาน กสทช.
งานวิจัย “บุคลากรสื่อไทย” ของผศ.ดร.วลักษณ์กมล ชิ้นนี้มีจุดเด่นอยู่ที่นักวิจัยสามารถลงเก็บข้อมูลแบบเข้าถึงบุคลากรสื่อ เข้าถึงบรรณาธิการ นักข่าวภาคสนาม และสามารถศึกษานโยบายการคัดกรองบุคลากรในองค์กรต่างๆ ในเชิงลึก ทำให้เห็นสภาพที่เป็นจริง
ผลการวิจัยเบื้องต้น ซึ่งเปรียบเทียบกับงานวิจัยบุคลากรสื่อไทย เมื่อ 10 ปีก่อนนั้น พบว่า ปัญหาบุคลากรสื่อไทยคล้ายคลึงกันไม่ได้ขยับไปจากเดิมเท่าไหร่นัก แถมยังมีปัญหาใหม่เพิ่มเข้ามาอีกในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านภูมิทัศน์สื่อ เทคโนโลยี
"บางปัญหาบุคลากรสื่อ ก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตมาสู่ปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาความเป็นมืออาชีพของบุคลากรสื่อ ด้านจริยธรรม การทำหน้าที่ของสื่อในภาพรวม และภาพการทำงานของสื่อที่เป็นรายปัจเจกบุคคล เป็นต้น"
นักวิจัย จากมอ.ปัตตานี บอกถึงสิ่งที่ค้นพบเมื่อ 10 ปีก่อนมีข้อเสนอแก้ปัญหาความเป็นมืออาชีพของสื่อจะแก้อย่างไรบ้าง ซึ่งก็มีทั้งเรื่องปัจจัยเกื้อหนุน ปัจจัยหนุนเสริมจากองค์กรสังกัด องค์กรวิชาชีพ ภาคสังคม และสถาบันการศึกษา มาถึงปัจจุบันข้อเสนอจากงานวิจัยก็ยังไม่ถูกนำไปปฏิบัติ จึงไม่สามารถก้าวข้ามปัญหาบุคลากรในแวดวงสื่อได้
หลักสูตรวิชาชีพสื่อกว้างเกิน ไร้จุดเน้น
ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นนี้พยายามมองให้ครบทุกกระบวนการสร้างบุคลากรสื่อไทย ทั้งต้นน้ำ (หลักสูตรการศึกษา) กลางน้ำ (นโยบายการคัดกรองบุคลากร) และปลายน้ำ (ปัญหาท้าทายยุคใหม่ สวัสดิการ สวัสดิภาพ)
สำหรับหลักสูตรวิชาชีพสื่อสารมวลชนทั้งประเทศ มีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวชน ในชื่อที่เรียกแตกต่างกันออกไป ทั้งนิเทศศาสตร์ เทคโนโลยีสื่อมวลชน วารสารศาสตร์ ฯลฯ อีกทั้งมีสาขาใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายประมาณ 100 หลักสูตร
“90% ของหลักสูตรวิชาชีพสื่อมวชน มีปรัชญาผลิตบัณฑิตจุดเน้นไปหลายเรื่องมาก เน้นผลิตนักสื่อสารมวลชนที่มีความสามารถแบบภาพกว้าง ไม่ได้เน้นลึกอย่างใดอย่างหนึ่ง” นักวิจัย ระบุ และได้ตั้งเป็นคำถามว่า หลักสูตรที่กว้างเช่นนี้ใช่หรือไม่ ที่ทำให้สื่อไทยไม่รู้ลึก บางสายงาน เช่น สายการเมือง ถึงหันมารับคนที่จบรัฐศาสตร์ หรือสายเศรษฐกิจรับคนจบเศรษฐศาสตร์ มาเป็นนักข่าว เป็นต้น
ขณะที่วัตถุประสงค์ของแต่ละหลักสูตร งานวิจัย พบว่า 90% ของหลักสูตรเน้นการผลิตบัณฑิตให้มีคุณธรรมจริยธรรม และจรรยาบรรณ แห่งวิชาชีพสื่อ
ประเด็นนี้ แสดงว่า หลักสูตรในแต่ละสถาบันการศึกษาให้ความสำคัญมากเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณ
แล้วเกิดอะไรขึ้นกับการทำงานของสื่อปัจจุบัน ?
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์เนื้อหาหลักสูตร ผู้วิจัยยังพบว่า 80% เน้นการผลิตคนให้เป็นนักปฏิบัติการสื่อสารมวลชน ให้ออกมาทำงานในอุตสาหกรรมสื่อมวลชน แต่แนวโน้มในอนาคต สถาบันการศึกษาบางแห่ง ระบุ บัณฑิตของเขาต้องเป็นผู้ประกอบการได้ แนวโน้นที่น่าสนใจนี้ เริ่มเห็นในสถาบันการศึกษาเอกชนแล้ว โดยเห็นว่า เด็กจบออกไปไม่จำเป็นต้องออกไปเป็นแรงงาน หรือลูกจ้างอีกต่อไป แต่ผลิตบัณฑิตให้สามารถเป็นผู้ประกอบการอิสระ เป็นผู้ผลิตรายย่อยได้
ผศ.ดร.วลักษณ์กมล ชี้ว่า นี่จะเป็นเทรนด์อาชีพในอนาคตของคนยุคใหม่
เรื่องการปรับตัวของหลักสูตร ยุคเทคโนโลยีใหม่ กลุ่มตัวอย่างงานวิจัยบุคลากรสื่อ พบอีกว่า 1 ใน 3 เริ่มมีการปรับหลักสูตรกันบ้างแล้ว มีรายวิชาเกี่ยวกับสื่อใหม่มากขึ้น รายวิชาการวารสารศาสตร์สื่อประสม มัลติมีเดียดีไซด์ สื่อดิจิตอล นับได้ว่า เป็นการตอบรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
คนสื่อต้องทำงานมากกว่า 1 สื่อ
สำหรับอายุบุคลากรสื่อ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเด็กจบปริญญาตรีใหม่ๆ มีอายุระหว่าง 25-30 ปี และสัดส่วนคนจบนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และสาขาอื่นๆ นั้น อยู่ที่ 60:30
ที่เหลือคือสาขาที่คาบเกี่ยวกับวิชาชีพสื่อ เช่น โฆษณา ประชาสัมพันธ์
เมื่อเจาะลึกการทำงานสื่อในยุคหลอมรวม สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนในวิชาชีพสื่อ งานวิจัยชิ้นนี้ พบว่า คนสื่อต้องทำงานมากกว่า 1 สื่อ 78% ของกลุ่มตัวอย่างทำงานหลากหลายสื่อมากขึ้น เช่น ทำงานสื่อหนังสือพิมพ์ ต้องทำเว็บไซต์ ทำข่าวส่งวิทยุด้วย
นี่คือ สภาพการณ์บุคลากรสื่อในพบเจอ ยุคสื่อหลอมรวม ขณะเดียวกัน เรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการต่างๆ กลับไม่ได้แตกต่างจากงานวิจัยเมื่อ 10 ปีก่อน คือ ค่าตอบแทนบุคลากรสื่อไทยไม่ได้สูงมากมายนัก
พร้อมกันนี้ งานวิจัยยังได้รวบรวมข้อเสนอจากบรรณาธิการที่เรียกร้องให้สถาบันการศึกษาปรับหลักสูตรให้บัณฑิตรู้รอบ โดยเฉพาะเรื่องนิวส์มีเดีย ขณะเดียวกันก็คาดหวัง และต้องการบัณฑิตที่มีความสามารถที่หลากหลาย ทั้งเขียนข่าว ถ่ายภาพ ลงเสียง เป็นพิธีกร ทำได้หมดในคนๆ เดียว
ทั้งหมดคือ ผลการศึกษาเบื้องต้นบุคลากรสื่อไทย ที่นักวิจัยค้นพบ และนำมาเล่าสู่กันฟัง
ที่มาภาพ:http://www.tja.or.th/