ไทม์ไลน์คดีแพ่งจำนำข้าว“ยิ่งลักษณ์-พวก”ขีดเส้นชดใช้ค่าเสียหายสิ้นปี’58 (INFO)
ไทม์ไลน์คดีแพ่งจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์-พวก” ตั้ง กก.สอบข้อเท็จจริง 2 ชุด ขีดเส้นให้เสร็จสิ้น ก.ย. รายงานใครผิด-ความเสียหาย ชง กก.ความรับผิดทางแพ่ง วินิจฉัย ผิด-ไม่ผิด ก่อนส่งคืนรัฐมนตรี-นายกฯ ตัดสิน ยันปิดจ็อบก่อนปลายปี’58
เป็นคำถามที่สังคมกำลังตั้งข้อสงสัยเป็นอย่างมาก !
ว่าตกลงขั้นตอนในการหาตัวผู้กระทำผิดมาชดใช้ค่าความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว หรือ “ฟ้องแพ่ง” อยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว
เพราะที่ผ่านมารัฐบาล รวมถึงผู้บริหารระดับสูง ไม่ว่าจะเป็น “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหลายคน ต่างก็ออกมาพูดแค่ว่า “กำลังทำอยู่”
ล่าสุด “กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ตั้งกระทู้ถามนายกฯ เรื่องแนวทางการดำเนินคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายต่อผู้กระทำผิดในโครงการรับจำนำข้าว
โดยนายกฯ ได้ส่งตัวแทนรัฐบาล 2 ราย ได้แก่ “เนติบริกรใหญ่” นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย และนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง มาตอบคำถามแทน
ซึ่ง “วิษณุ” ได้ร่ายยาว เล่าถึงที่มาที่ไป และขั้นตอนการฟ้องร้องไว้อย่างละเอียดยิบ !
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมเนื้อหาของ “วิษณุ” ในการตอบ สนช. ดังกล่าว มาขมวดเป็นไทม์ไลน์ให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น ดังนี้
หนึ่ง คดีทุจริตจำนำข้าวแบ่งแยกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1.การดำเนินการในทางการเมือง เพื่อจะถอดถอนผู้ที่เกี่ยวข้องออกจากตำแหน่ง (เป็นกระบวนการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)) ซึ่งได้ทำเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว
2.การส่งเรื่องเพื่อจะฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งปัจจุบันคดีนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลฎีกาฯแล้ว
3.คดีทางแพ่ง เรียกว่าค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหายจากผู้ที่จะต้องรับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่
ใน 3 ประเภทนั้น มีตัวละครหลักอยู่ 3 ตัว ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และบริษัทเอกชน (ตามที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายบุญทรง พร้อมพวกรวม 21 ราย)
สอง ภายหลังกระบวนการถอดถอนเสร็จสิ้น เท่ากับว่าทราบถึงการกระทำความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด ซึ่งเข้าข่ายทางกฎหมายว่าต้องดำเนินการภายในอายุความ 2 ปี แล้ว (ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 23 ม.ค. 2558 ถอดถอนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ 8 พ.ค. 2558)
สาม เมื่อทราบถึงผู้กระทำความผิดแล้ว นายกรัฐมนตรี จึงมอบหมายให้ “วิษณุ” เป็นประธานผู้รับผิดชอบ โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องมาหารือแนวทางการดำเนินการ ทั้งฝ่ายอัยการสูงสุด (อสส.) กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ สำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (วิษณุ ระบุว่า เริ่มประชุมตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. 2558)
ท้ายสุดตกลงกันว่า จะใช้ “หลักนิติธรรม” ในการดำเนินตามกฎหมาย โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติกรณีเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องรับผิดเพราะกระทำละเมิด พ.ศ.2539
สี่ ตามกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าว ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ชุดแรกคือ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ชุดสองคือคณะกรรมการความรับผิดทางแพ่ง
สำหรับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง จะแบ่งย่อยอีกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทแรก สอบเฉพาะอดีตนายกฯ (น.ส.ยิ่งลักษณ์) เนื่องจากไม่ได้สังกัดกระทรวงใด แต่อยู่ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ดังนั้น รมว.คลัง (นายสมหมาย ภาษี ขณะนั้น) และนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์) จึงมีอำนาจลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบฯ
ประเภทที่สอง สอบเฉพาะบุคลากร-เจ้าหน้าที่ของรัฐจากกระทรวงพาณิชย์ จำนวน 6 คน ดังนั้น รมว.พาณิชย์ (พล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ ขณะนั้น) และนายกฯ จึงมีอำนาจลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบฯ
ซึ่งคณะกรรมการสอบฯ ทั้งสองชุด ประกอบด้วยกรรมการไม่เกิน 5 คน โดยมีหัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานทั้งสองชุด
ทั้งนี้คณะกรรมการทั้งสองชุด จะต้องสอบให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ก.ย. 2558 (นายวิษณุ ระบุว่า เคยเลื่อนมาครั้งหนึ่ง เนื่องจากมีผู้ถูกกล่าวหาบางราย ขอเลื่อนการเข้าให้ถ้อยคำ)
สำหรับการสอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ “วิสุทธิ์” ยืนยันว่า ได้ดำเนินการประชุมไปแล้ว 11 ครั้ง นับตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. 2558
ห้า หลังจากคณะกรรมการทั้งสองชดสอบเสร็จแล้ว จะต้องรายงานว่าใครคือผู้กระทำผิดและต้องรับผิดชอบค่าเสียหายเท่าไหร่ ไปยังรัฐมนตรีที่ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบฯ (ในส่วนนี้คือ รมว.คลัง และ รมว.พาณิชย์ รวมถึงนายกฯ)
เมื่อรัฐมนตรีเห็นชอบ จึงจะส่งไปยังคณะกรรมการอีกชุด คือ คณะกรรมการความรับผิดทางแพ่ง สังกัดกระทรวงการคลัง
หก สำหรับคณะกรรมการความรับผิดทางแพ่ง ประกอบด้วย อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธาน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ของกระทรวงการคลังอีกจำนวนหนึ่ง เป็นกรรมการ
เมื่อคณะกรรมการความรับผิดทางแพ่งได้รับรายงานจากรัฐมนตรีแล้ว ให้วินิจฉัยว่าผิดหรือไม่ผิด หลังจากนั้นจึงส่งเรื่องคืนไปยังรัฐมนตรี เมื่อเรื่องกลับไปถึงรัฐมนตรี จะให้ความเห็นชอบตามคณะกรรมการความรับผิดทางแพ่ง หรือไม่เห็นชอบก็ได้
“วิษณุ” ยกตัวอย่างว่า หากเห็นชอบ คำสั่งนั้นจะระบุทันทีว่า ให้เรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้ที่ถูกระบุชื่อ ได้แก่ อดีตนายกฯ และบุคลากร-เจ้าหน้าที่รัฐ 6 คน ตามที่คณะกรรมการสอบฯ ได้สอบข้อเท็จจริงมาแล้ว (ซึ่ง “วิษณุ” เรียกว่าเป็นการ ยึดทรัพย์) แต่ถ้าไม่ผิด ก็ถือว่าไม่ผิด และเรื่องก็จบไป
ทั้งนี้หากผู้ถูกกล่าวหาให้ชดใช้ค่าเสียหาย ไม่เห็นด้วย สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อได้ แต่ถ้าอุทธรณ์แล้วฟังไม่ขึ้น ก็ต้องไปฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวเอง
ทั้งนี้กระบวนการในส่วนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ “วิษณุ” คาดว่าจะรู้ตัวผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายภายในสิ้นปี 2558 อย่างช้าคือต้นปี 2559 โดยยืนยันว่า จะทำให้เสร็จก่อนอายุความจะขาดแน่นอน
เจ็ด สำหรับในส่วนของเอกชนที่เกี่ยวข้อง มีอายุความ 1 ปี แต่ใช้ขั้นตอนตามกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าวไม่ได้ เพราะเอกชนไม่เข้าข่ายการถูกยึดทรัพย์ ดังนั้นทำได้อย่างเดียวคือการฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง โดยขณะนี้เตรียมพร้อมรูปคดีทั้งหมด และเตรียมส่งให้พนักงานอัยการดำเนินคดีภายในปี 2558 ก่อนที่คดีจะขาดอายุความ
ทั้งหมดคือ “ไทม์ไลน์” ในการดำเนินคดีทางแพ่งต่อ “ยิ่งลักษณ์-พวก” ในโครงการรับจำนำข้าว
แต่จะถูกวินิจฉัยว่าต้องชดใช้หรือไม่ และบุคลากร-เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระทรวงพาณิชย์ ทั้ง 6 คน เป็นใคร และมีชื่อของนายบุญทรง นายภูมิ และนายมนัส หรือเปล่า ?
ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด !
(ดูตารางประกอบ)
อ่านประกอบ :
รัฐขีดเส้นสอบ“ปู-พวก”ชดใช้ค่าเสียหายจำนำข้าวสิ้นปี-ยึดทรัพย์แทนฟ้องแพ่ง
สนช.ถาม"บิ๊กตู่"ฟ้องแพ่งจำนำข้าวเมื่อไหร่!-ยันต้องมีคนรับผิดชอบ
ป.ป.ช. ยันรบ.ต้องฟ้องแพ่งจำนำข้าว-บี้หาคนรับผิดชอบ "ไม่ทำไม่ได้"
ไม่นิ่งนอนใจ! “พิชิต”เผยทีมทนายเรียกถกปมคลังฟ้องแพ่ง“ปู” 23 ก.พ.นี้
"ปู"โดนเดี่ยว!มติ ป.ป.ช.ย้ำให้คลังเรียกค่าเสียหายคดีข้าวกว่า 6 แสนล้าน
"ยิ่งลักษณ์" จะหาเงินจากไหนมาชดใช้คดีข้าว 6 แสนล.? "ทักษิณ" อยู่ไหน?
“ยิ่งลักษณ์”งานเข้า! ป.ป.ช.จ่อชงคลังเรียกค่าเสียหายคดีข้าว 17 ก.พ.นี้
หมายเหตุ : ภาพประกอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จาก sanook, ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จาก tnews, ภาพนายวิษณุ จาก youtube