เจาะงบดุล"นสพ."ยุคภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน รายได้ลดขาดทุนยับ "ข่าวสืบสวน" ช่วยได้!
"..ปัจจุบันมีสื่อใหม่เกิดขึ้นเยอะ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ รวมถึงทีวีดิจิทัล หนทางแห่งความอยู่รอดของหนังสือพิมพ์ในขณะนี้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ จะไปมุ่งเน้นเสนอข่าวตามกระแสไม่ได้ เพราะทำอย่างไร ก็สู้สื่อสมัยใหม่ที่มีความเร็วทั้งการนำเสนอข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลในวงกว้างไม่ได้..."
"ผู้ประกอบการสื่อจำนวนไม่น้อยขาดทุน โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ พร้อมยกตัวอย่างผลประกอบการธุรกิจสื่อปี 2557 มีไทยรัฐรายเดียวกำไรสุทธิ 1,600 ล้านบาท เดลินิวส์เหลือ 64 ล้านบาท เครือเนชั่นซึ่งมีสารพัดสื่อ ผลประกอบการสูสีกับเดลินิวส์ ส่วน MCOT ผลประกอบการลดลงมาก ขณะที่มติชน อัมรินทร์ เครือโพสต์ หนังสือพิมพ์กีฬา แกรมมี่ ติดลบหมด"
เป็นข้อมูลยืนยันจาก ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่หยิบยกขึ้นมาพูดถึงระหว่างงาน เสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ "ติดอาวุธความรู้สู่การปฏิรูปสื่อให้ยั่งยืน" ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ภายใต้โครงการศึกษาวิจัยการปฏิรูปสื่อ สนับสนุนโดย สำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2558 ที่ผ่านมา
(อ่านประกอบ : ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน นักวิจัย ชี้ 4 ช่องดิจิตอล ขาขึ้น ‘เรตติ้ง’ ดี)
เพื่อให้สาธารณชนเห็นภาพข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลประกอบการทางธุรกิจของ "สื่อหนังสือพิมพ์"ในปัจจุบันมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลผลประกอบการของบริษัทเอกชนเจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์ ผ่านงบการเงินที่นำส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าล่าสุด ปี 2557 มานำเสนอ ณ ที่นี้
@ เดลินิวส์
เจ้าของ บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2506 ทุนปัจจุบัน 1,000 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 1/4 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจขาย (หนังสือพิมพ์รายวัน) (ขาย) โฆษณา ปรากฎชื่อพล.ต.ท. ประเสริฐ เหตระกลู , นางสาว ผวรารณ์ ปุ้ยพันธวงศ์ และคนในตระกูล เหตระกูล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 เมษายน 2558 บริษัท แสงเอ็นเตอร์ไพรส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (นาย ประชา เหตระกูล , นาง ประทิน เหตระกูล , พลตำรวจโท ประเสริฐ เหตระกูล , นาย พิสิฐ เหตระกูล ร่วมกันถือหุ้นใหญ่) ถือหุ้นใหญ่สุด
ล่าสุดนำส่งงบการเงินแจ้งผลประกอบปี 2557 ระบุว่า มีรายได้จากการขาย 853,607,526.40 บาท รายได้ค่าโฆษณา 736,931,937.19 บาท รายได้อื่น 52,072,134.85 บาท รวมรายได้ 1,642,611,598.44 บาท มีรายจ่ายรวม 1,557,143,156.11 บาท กำไรสุทธิ 64,325,701.07 บาท
ขณะที่ปี 2556 แจ้งว่ามีรายได้จากการขาย 908,817,753.45 บาท รายได้ค่าโฆษณา 941,531,674.95 บาท รายได้อื่น 51,393,992.77 บาท รวมรายได้ 1,901,743,421.17 บาท มีรายจ่ายรวม 1,531,905,939.21 กำไรสุทธิ 295,914,393.71 บาท
- ชี้ให้เห็น รายได้และกำไรลดลง
@ ไทยรัฐ
เจ้าของ บริษัท วัชรพล จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 18 เมษายน 2518 ทุนปัจจุบัน 4,000 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 1 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจขายหนังสือพิมพ์ และให้บริการโฆษณา ปรากฎชื่อ คุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล , นางยิ่งลักษณ์ วัชรพล และ นายสราวุธ วัชรพล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 29 เมษายน 2558 คุณหญิง ประณีตศิลป์ วัชรพล ถือหุ้นใหญ่สุด
ล่าสุดนำส่งงบการเงินแจ้งผลประกอบปี 2557 แจ้งว่า มีรายได้จากการขายและบริการ 4,082,555,224.51 บาท รายได้อื่น 370,651,655.19 บาท รวมรายได้ 4,453,206,879.70 บาท มีรายจ่ายรวม 2,387,903,659.98 บาท กำไรสุทธิ 1,647,861,811.80 บาท
ขณะที่ปี 2556 แจ้งว่า มีรายได้จากการขายและบริการ 4,754,496,191.08 บาท รายได้อื่น 410,009,854.99 บาท รวมรายได้ 5,164,506,046.07 บาท มีรายจ่ายรวม 2,542,645,595.79 บาท กำไรสุทธิ 2,092,916,070.51 บาท
- ชี้ให้เห็นว่ารายได้และกำไรลดลงหลักร้อยล้าน
@ มติชน
เจ้าของ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้ง 2 ธันวาคม 2536 ทุนปัจจุบัน 225,349,200 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 12 หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 ถนนเทศบาลนฤมาล แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจบริการรับโฆษณา,รับจัดงาน,รับอบรมและรับจ้างพิมพ์ จำหน่ายหนังสือพิมพ์และพ็อคเก็ตบุ๊ค ปรากฎชื่อ นายขรรค์ชัย บุนปาน นายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ นายปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์ นายฐากูร บุนปาน เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2558 นาย ขรรค์ชัย บุนปาน ถือหุ้นใหญ่สุด
ล่าสุดนำส่งงบการเงินแจ้งผลประกอบปี 2557 แจ้งว่า มีรายได้จากการขายและบริการ 915,805,048.64 ต้นทุนขายและบริการ 691,200,291.35 บาท กำไรสุทธิ 20,924,692.06 บาท
ขณะที่ปี 2556 แจ้งว่า มีรายได้จากการขายและบริการ 1,238,614,814.88 บาท ต้นทุนขายและบริการ 868,430,524.97 บาท กำไรสุทธิ 115,476,113.22 บาท
-ชี้ให้เห็นว่ารายได้และกำไรลดลงหลายเท่าตัว
@ ข่าวสด (เครือเดียวกับมติชน)
เจ้าของ บริษัท ข่าวสด จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 2 มกราคม 2534 ทุนปัจจุบัน 125,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจบริการรับโฆษณา,รับจัดงาน จำหน่ายหนังสือพิมพ์และพ็อคเก็ตบุ๊ค ปรากฎชื่อนางสาว ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์ และ นาย สุริวงค์ เอื้อปฎิภาน เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 30 เมษายน 2558 บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่สุด
ล่าสุดนำส่งงบการเงินแจ้งผลประกอบปี 2557 แจ้งว่า มีรายได้จากการขายและบริการ 301,138,499.42 บาท ต้นทุนขายและบริการ 257,274,503.66 บาท ขาดทุนสุทธิ 26,557,992.53 บาท
ขณะที่ปี 2556 แจ้งว่า มีรายได้จากการขายและบริการ 363,485,595.55 บาท ต้นทุนขายและบริการ 292,724,439.18 บาท กำไรสุทธิ 5,299,968.97 บาท
- ชี้ให้เห็นว่ารายได้ลดลง และขาดทุน
@ ไทยโพสต์
เจ้าของ บริษัท สารสู่อนาคต จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 26 สิงหาคม 2548 ทุนปัจจุบัน 20 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 1850-1862 ซอยไทยโพสต์ ถนนเกษมราษฎร์ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธรุกิจ สื่อสิ่งพิมพ์,สื่อโฆษณา ปรากฎชื่อ นาย โรจ งามแม้น เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและผู้ถือหุ้นใหญ่
ล่าสุดนำส่งงบการเงินแจ้งผลประกอบการปี 2557 แจ้งว่ามีรายได้จากการขายโฆษณา 43,692,957.73 บาท รายได้ค่าหนังสือพิมพ์ 36,829,579.50 บาท รายได้อื่น 3,883,984.41 บาท รวมรายได้ 84,406,521.64 บาท รวมรายจ่าย 77,081,682.65 บาท กำไรสุทธิ 5,834,691.35 บาท
ขณะที่ปี 2556 แจ้งว่า มีรายได้จากการขายโฆษณา 42,041,313.53 บาท รายได้ค่าหนังสือพิมพ์ 32,899,782.00 บาท รายได้อื่น 4,151,934 บาท รวมรายได้ 79,093,029.63 บาท รวมรายจ่าย 71,574,598.96 บาท กำไรสุทธิ 5,758,203.23 บาท
- ชี้ให้เห็นว่า รายได้และกำไรเพิ่มขึ้น
@ แนวหน้า
เจ้าของ บริษัท หนังสือพิมพ์แนวหน้า จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 3 กุมภาพันธ์ 2525 ทุนปัจจุบัน 60,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 96 หมู่ที่ 3 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจบริการโฆษณา ผลิตหนังสือพิมพ์ ปรากฎชื่อ นาย ผรณเดช พูนศิริวงศ์ และนางผาณิต พูนศิริวงศ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 30 เมษายน 2558 บริษัท วาริน เวิลด์ จำกัด (นาย วารินทร์ พูนศิริวงศ์ ถือหุ้นใหญ่) ถือหุ้นใหญ่สุด
ล่าสุดนำส่งงบการเงินแจ้งผลประกอบปี 2557 แจ้งว่า มีรายได้จากการขายโฆษณา 75,296,061.95 บาท รายได้จากสิ่งพิมพ์ 21,946,585.22 บาท รายได้อื่น 16,916,380.90 บาท รวมรายได้ 114,159,028.07 บาท มีรายจ่ายรวม 111,420,516.47 บาท กำไรสุทธิ 1,202,780.68 บาท
ขณะที่ปี 2556 แจ้งว่า มีรายได้จากการขายโฆษณา 74,288,392.81 บาท รายได้จากสิ่งพิมพ์ 19,943,930.28 บาท รายได้อื่น 4,904,952.63 บาท รวมรายได้ 99,137,275.72 บาท มีรายจ่ายรวม 95,692,966.46 บาท กำไรสุทธิ 2,257,942.26 บาท
-ชี้ให้เห็นว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น แต่กำไรลดลง
@ สยามรัฐ
เจ้าของ บริษัท สยามรัฐ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 24 เมษายน 2494 ทุนปัจจุบัน 187,500,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 12 ถนนราชดำเนิน แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจ ให้บริการรับโฆษณา รับจ้างพิมพ์ ผลิตและจำหน่ายหนังสือพิมพ์รายวัน ปรากฎชื่อ นายชวน พัฒนวรานนท์ และ นายกตพล คงอุดม เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 30 เมษายน 2557 นาย กตพล คงอุดม ถือหุ้นใหญ่สุด
ปัจจุบันยังไม่ได้นำส่งงบการเงินปี 2557
ขณะที่ปี 2556 แจ้งว่า มีรายได้จากการขาย 34,935,592.92 บาท รายได้จากการบริการ 114,038,363.26 บาท รายได้อื่น 3,469,932.32 บาท รวมรายได้ 152,443,888.50 บาท มีรายจ่ายรวม 178,382,806.06 บาท ขาดทุนสุทธิ 25,956,951.85 บาท
@ โพสต์ทูเดย์ /บางกอกโพสต์
เจ้าของบริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้ง 16 ธันวาคม 2536 ทุนปัจจุบัน 505,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 136 ถนนสุนทรโกษา แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจ รับจ้างพิมพ์เชิงพาณิชย์ ผลิต,จำหน่ายหนังสือพิมพ์ ให้บริการโฆษณา ปรากฎชื่อ นายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ นายวรชัย พิจารณ์จิตร และนายศุภกรณ์ เวชชาชีวะ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 18 มีนาคม 2558 South China Morning Post Publishers Limited ถือหุ้นใหญ่สุด
ล่าสุดนำส่งงบการเงินแจ้งผลประกอบการปี 2557 แจ้งว่ามีรายได้จากการขายและบริการ 1,809,036,868 บาท ต้นทุนขายและบริการ 1,353,901,383 บาท ขาดทุนสุทธิ 144,788,826 บาท
ขณะที่ปี 2556 แจ้งว่า มีรายได้จากการขายและบริการ 2,066,405,974 บาท ต้นทุนขายและบริการ 1,414,151,060 บาท กำไรสุทธิ 138,629,206 บาท
- ชี้ให้เห็นว่ารายได้ลดลง และขาดทุน
@ กรุงเทพธุรกิจ/เนชั่น
เจ้าของ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้ง 14 ธันวาคม 2536 ทุนปัจจุบัน 2,663,572,195 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 1858/118-119,121-122,124-130 ชั้น 27-32 ถนนบางนา-ตราด แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ และให้บริการโฆษณาและข้อมูลข่าวสาร ปรากฎชื่อ นายสุทธิชัย แซ่หยุ่น นายเสริมสิน สมะลาภา นางสาวดวงกมล โชตะนา นายพนา จันทรวิโรจน์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 13 พฤษภาคม 2558 บริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) ถือหุ้นใหญ่สุด
ล่าสุดนำส่งงบการเงินแจ้งผลประกอบการปี 2557 แจ้งว่า มีรายได้จากการขายและบริการ 838,549,756 บาท รวมรายได้อื่น 981,328,096 บาท รวมรายจ่าย 796,333,525 บาท กำไรสุทธิ 155,437,468 บาท
ขณะที่ปี 2556 แจ้งว่ามีรายได้จากการขายและบริการ 854,790,920 บาท รวมรายได้อื่น 960,408,416 บาท รวมรายจ่าย 810,390,707 บาท กำไรสุทธิ 125,622,931 บาท
- ชี้ให้เห็นว่ารายได้รวมและกำไรเพิ่มขึ้น
@ สยามกีฬา
เจ้าของ บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้ง 27 กุมภาพันธ์ 2538 ทุนปัจจุบัน 417,704,001 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 66/26-29 ถนนรามอินทรา แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และบริการ โฆษณา ปรากฎชื่อ นายระวิ โหลทอง นายทวยเทพ ไวทยานนท์ นายพงษ์ศักดิ์ ผลอนันต์ นายวิลักษณ์ โหลทอง นายมานิตย์ ลือประไพ นายจรูญ วานิชชา นายอดิศัย วารินทร์ศิริกุล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 3 เมษายน 2558 นาง สมลักษณ์ โหลทอง ถือหุ้นใหญ่สุด
ล่าสุดนำส่งงบการเงินแจ้งผลประกอบการปี 2557 แจ้งว่า มีรายได้จากการขายและบริการ 847,851,365 บาท รายได้ค่าโฆษณา 1,143,876,402 บาท ต้นทุนขายและบริการ 1,786,410,623 บาท ขาดทุนสุทธิ 120,629,707 บาท
ขณะที่ปี 2556 แจ้งว่า มีรายได้จากการขายและบริการ 1,010,142,627 บาท รายได้ค่าโฆษณา 822,234,007 บาท รวมรายได้อื่น 1,856,686,793 บาท มีรายจ่ายรวม 1,769,129,831 บาท กำไรสุทธิ 33,364,988 บาท
ชี้ให้เห็นว่ารายได้ลดลง และขาดทุน
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วง1-2 ปี ที่ผ่านมา สื่อหนังสือพิมพ์หลายฉบับ หันมารุกธุรกิจในสื่อออนไลน์มากขึ้น ทุกฉบับมีเว็บไซต์ออนไลน์เป็นของตนเอง บางฉบับมีการขายโฆษณา พ่วงทั้งในส่วนของสื่อหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ มีการใช้ระบบโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊กเข้ามาช่วยในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่งานข่าวอยู่ตลอดเวลา
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลสถานะทางธุรกิจของสื่อสิ่งพิมพ์ ในยุคภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป จาก สื่อเก่า ( Old Media) ไปสู่สื่อใหม่ (New Media) สื่อมีการหลอมรวมมากขึ้น เพื่อตอบสนองการรับรู้ข่าวสารของผู้บริโภค ผ่านช่องทางการสื่อสารสมัยใหม่ ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคสื่อที่เปลี่ยนไป หันไปสนใจติดตามข่าวสารในโลกออกไลน์มากขึ้น
จนทำให้บทบาทของ "หนังสือพิมพ์" ที่เคยเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลต่อประชาชนอย่างมากในช่วงหลายสิบปีก่อน เริ่มลดน้อยถอยลงไปตามลำดับ
ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องในแวดวงวิชาชีพสื่อมวลชน ก็พยายามออกมาเรียกร้องให้สื่อหนังสือพิมพ์ กำหนดบทบาทและนโยบายการนำเสนอข่าวสารใหม่ เน้นการทำข่าวเชิงสืบสวน มาสร้างจุดขาย เป็นหลัก เพื่อแข่งขันกับสื่อสมัยใหม่ ที่เน้นการนำเสนอข่าวตามกระแส ไม่เจาะลึกรอบด้าน
เห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ ของ นางบัญญัติ ทัศนียะเวช นักข่าวอาวุโส ที่ระบุว่า "ปัจจุบันมีสื่อใหม่เกิดขึ้นเยอะ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ รวมถึงทีวีดิจิทัล หนทางแห่งความอยู่รอดของหนังสือพิมพ์ในขณะนี้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ จะไปมุ่งเน้นเสนอข่าวตามกระแสไม่ได้ เพราะทำอย่างไร ก็สู้สื่อสมัยใหม่ที่มีความเร็วทั้งการนำเสนอข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลในวงกว้างไม่ได้"
“ข่าวเชิงสืบสวน ที่เจาะลึกและให้รายละเอียดครบถ้วนรอบด้าน เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้หนังสือพิมพ์อยู่รอดได้ในยุคนี้ ต้องชูจุดขายเรื่องนี้มาเป็นจุดแข็งของหนังสือพิมพ์ ไม่เน้นการนำเสนอข่าวตามกระแส แต่มุ่งเน้นข่าวเชิงสืบสวนเป็นหลัก ถ้าไม่ทำแบบนี้ บทบาทของหนังสือพิมพ์ก็จะค่อยๆ ลดทอนความสำคัญลงไปเรื่อยๆ จนในท้ายที่สุดจะไม่เหลือความสำคัญอะไรอีก ”นางบัญญัติ ระบุ
ขณะที่ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ชี้ว่า “ถ้าในอนาคตการบริหารประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สื่อก็ควรจะทำหน้าที่ของสื่อโดยสมบูรณ์ สมบูรณ์ในที่นี้คือ อะไรถูก อะไรผิด สื่อก็มีหน้าที่รายงาน ถ้าจะมีการวิเคราะห์วิจารณ์ก็ว่ากันตามความเป็นจริง เราอยากเห็นแบบนี้ แต่ที่มีการพูดกันว่า บางช่วงที่รัฐบาลเข้ามาแล้วมีพฤติกรรมที่ไม่โปร่งใส ก็อาจจะมีการแทรกแซงสื่อในลักษณะที่ว่า ไปอุดหนุนสื่อบางสื่อเพื่อไม่ให้ลงข่าว ในอดีตก็คงมีบ้าง แต่ในอนาคตจะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของรัฐบาลที่เข้ามา ขณะที่ในภาพรวมถ้าสื่อไม่สามารถทำงานตามจรรยาบรรณของสื่อก็คงมีผลเสีย เพราะใครที่เสพ รับฟังข้อมูล เอาข้อมูลที่สื่อรายงานไปใช้ ถ้าไม่เป็นความจริง หรือถูกบิดเบือนมันก็เสียหาย”
"สำหรับการทำข่าวเชิงสืบสวน มันมีเหตุมีผลที่การสืบสวนในสื่อต้องมี เพราะเรื่องผลประโยชน์จะหมดไปก็ต่อเมื่อมีคนเอาข้อเท็จจริงมาตีแผ่ได้ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ต้องมีการวิเคราะห์ไม่ใช่แค่หยิบยกมาพูด ซึ่งปัญหาของสื่อในปัจจุบันคือ ไปทำให้เขาเสียผลประโยชน์ เขาก็จะหาวิธีการแกล้ง การป้องกันตรงนี้ได้คือทำให้ประชาชนเข้าใจและออกมาสนับสนุน เหมือนการแก้ปัญหาของประเทศหลายเรื่อง ตราบใดที่ประชาชนยังไม่เห็นความสำคัญ สิ่งที่ทำอยู่ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนพอสมควร สื่อที่ทำหน้าที่สืบสวนประเด็นพวกนี้ ต้องหาวิธีสร้างให้คนส่วนใหญ่เห็นประโยชน์ เมื่อเห็นประโยชน์ก็ต้องสนับสนุนให้มีสื่อประเภทนี้ต่อไป สื่อต้องพยายามสร้างกระแสให้ประชาชนทั่วไปให้ความสำคัญ และสนับสนุนเรื่องนี้ "
ส่วนปัญหาการแทรกแซงสื่อนั้น กำลังมีการแก้ไขกฎหมาย ควบคุมเรื่องการใช้งบประมาณภาครัฐในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ต้องโปร่งใสมากขึ้น เพราะในอดีตมีการใช้เงินประเภทนี้ไปอุดหนุนสื่อบางสื่อ พูดง่ายๆคือไปซื้อเสียงจากสื่อเพื่อไม่ให้ลงในบางเรื่อง ในอนาคตเรื่องนี้คงทำยากขึ้น แต่คงไม่เพียงพอ สื่อต้องคอยควบคุมดูแลกันเองต้องมีจรรยาบรรณ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมหรืออะไรที่อยู่ในวงการสื่อด้วยกันเอง จะต้องมีการตรวจสอบ กดดันกันเองให้สื่อทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์
“เข้าใจว่า สื่อก็เป็นธุรกิจ เจ้าของธุรกิจก็ต้องทำให้อยู่รอด การที่จะได้รับสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะมองอย่างไรให้เป็นผล อันนี้ผมมองว่าไม่สามารถให้คำแนะนำสื่อได้ทั้งหมด แต่ในวงการสื่อด้วยกันก็คงรู้อยู่ว่าจะทำอย่างไรกันได้ ซึ่งกฎหมายลดการอุดหนุนสื่อ มุ่งไปที่การใช้เงินของภาครัฐก่อน เพราะในอดีตรัฐจะมีงบจัดสรรประชาสัมพันธ์ สิ่งที่เราไม่อยากเห็นคือการไปประชาสัมพันธ์ตัวบุคคล ถ้าจะประชาสัมพันธ์ต้องประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐ และสิงที่เกิดขึ้นในอดีตคือ เงินจำนวนนี้ถูกใช้ไปกับบางสื่อที่สนองนโยบายรัฐบาล ใช้เงินของรัฐเพื่อหาเสียง และคุมผลประโยชน์ของตัวเอง ก็เลยพยายามทาทางป้องกัน เชื่อว่าคงออกมาในลักษณะที่ควบคุมพอสมควรไม่ให้เกิดการบิดเบือนเหมือนในอดีต” นายประมนต์กล่าวย้ำ
(หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์ นางบัญญัติ ทัศนียะเวช นักข่าวอาวุโส และ ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) อ้างอิงจากงานวิจัยเรื่อง “พัฒนาการข่าวยอดเยี่ยมรางวัลมูลนิธิอิศรา อมันตกุล กับการกำหนดบทบาท และแนวทางในการรายงานข่าวเชิงสืบสวนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน” ของนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่อยู่ระหว่างกระบวนการการจัดทำ)