เสียงครวญจากคนยะลา...หรือจะต้องตั้งบังเกอร์หน้าร้านป้องกันระเบิด?
แม้เหตุระเบิดในเขต อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อค่ำวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมาจะไม่ได้เป็นครั้งแรก แต่ก็มีน้อยครั้งที่จะเกิดระเบิดมากมายหลายสิบลูกในคราวเดียว หลายคนนำไปเทียบกับเหตุการณ์ "ดับเมืองยะลา" เมื่อปี 2548 แต่ครั้งนั้นช่วงเวลาของการโจมตียังไม่ยาวนาน ผิดกับครั้งนี้ที่มีระเบิดดังตั้งแต่ช่วงพลบค่ำจนถึงเกือบเที่ยงคืน สภาพเหมือนกับอยู่ในสนามรบก็มิปาน
หนำซ้ำจุดที่เกิดระเบิดแต่ละจุดยังเป็นย่านการค้าและชุมชน แล้วคนเมืองยะลาจะอยู่กันอย่างไร ทั้งๆ ที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสามวัฒนธรรม คืออิสลาม พุทธ และไทย-จีน
แบกทุน-กำไรหาย-เยียวยาไม่คุ้ม
จิรายุ ชูสุวรรณ เจ้าของร้านชิบุยะ บุฟเฟต์ หนึ่งในเจ้าของร้านอาหารรุ่นใหม่ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง เล่าให้ฟังว่า ขณะเกิดเหตุเป็นช่วงที่ร้านยังเปิด มีลูกค้าเข้ามาทานในร้านพอสมควร ความเสียหายของร้านประมาณ 3 แสนบาท หน้าร้านพังหมด เพราะเกิดระเบิดบริเวณหน้าร้านพอดี แม้พนักงานที่ร้านไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ แต่สภาพร้านก็เสียหาย เห็นสภาพร้านแล้วแย่มาก ตอนนี้จึงห่วงเรื่องเงินเยียวยาว่าจะคุ้มกับมูลค่าที่เสียไปหรือไม่
"ร้านชิบุยะเปิดมา 2 ปีกว่า วันปกติจะเปิดช่วงบ่าย 3 โมงครึ่งถึง 4 ทุ่มครึ่ง ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์จะเปิด 11 โมงเช้า ร้านเราเป็นลักษณะบุฟเฟต์ วันหนึ่งผมขายได้ราว 65-70 หัว ขายหัวละ 200 บาท มีค่าใช้จ่ายคือเช่าที่เปิดร้านเดือนละหมื่นกว่าบาท ส่วนลูกจ้างตอนนี้ก็ให้หยุดงานไปก่อน ไม่รู้ว่าจะต้องจ่ายค่าจ้างลักษณะไหนเหมือนกัน ส่วนร้านที่เสียหายคาดว่าใช้เวลาซ่อมแซมราวๆ 1 เดือน แต่หลังจากนั้นผมยังหวั่นๆ อยู่ว่าจะเกิดเหตุอีกหรือเปล่า จะมีลูกค้าเหมือแต่ก่อนหรือไม่ ส่วนลูกจ้างในร้านเองก็ไม่รู้ว่าพ่อแม่ของพวกเขาจะอนุญาตให้ทำงานอีกหรือไม่ เพราะมาแล้วต้องเสี่ยงระเบิด มันก็ไม่คุ้ม ตรงนี้ถือว่ากระทบเป็นลูกโซ่"
"ย่านนี้ถือเป็นย่านเศรษฐกิจ หลังเกิดเหตุแล้วเงียบมาก ขายไม่ออกเลย ร้านของผมมี 3 แห่ง อีก 2 แห่งที่ไม่ได้รับความเสียหายขายได้แค่วันละพันบาท แต่ยังต้องจ้างลูกน้องเหมือนเดิม จ่ายค่าเช่าเหมือนเดิม ถือว่าเสียหายย่อยยับ ผมไม่เคยคิดว่าคืนเดียวจะเกิด 30 กว่าจุด แค่ 2-3 จุดก็มากพอแล้ว แต่นี่ 5 ทุ่มยังระเบิดอยู่เลย ยิ่งกว่าในหนังอีก"
เชื่อรัฐไม่ไหวแล้ว-เล็งตั้งแนวบังเกอร์หน้าร้าน
จิรายุ ตั้งข้อสังเกตว่า ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนนโยบายในระดับรัฐบาล จ.ยะลาจะมีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้นทุกครั้ง แต่ก็ได้แค่สงสัย ไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ทว่านั่นคือจุดที่ทำให้เขาไม่เชื่อมั่นศักยภาพของภาครัฐ
"อย่างนโยบายเปิดเบาะ (รถจักรยานยนต์ที่จอดริมถนนต้องเปิดเบาะทุกคัน) ก็ไม่ทำแบบเข้มแข็ง จึงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ดีขึ้นเลย เพราะเปิดเบาะก็จริงแต่ขาดการตรวจ ผมมองว่าไม่ใช่จุดที่จะแก้ปัญหาได้ รถที่ระเบิดหน้าร้านผมก็ไม่แน่ใจว่ามาจอดหลังจากระเบิดจุดอื่นแล้วหรือว่าจอดอยู่ก่อน เพราะถ้าจอดก่อน รถทุกคันที่มาใช้บริการต้องเปิดเบาะ และรถที่ใช้ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นรถขโมย ผมจึงคิดว่ารัฐควรเข้มงวดในการตรวจรถทุกคันที่วิ่งในตัวเมือง หลังจากนี้คงต้องหาทางทำบังเกอร์ หามาตรการปกป้องตนเอง เพราะจะให้รอเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเดียวผมว่าไม่ไหวแล้ว"
"ผมไม่เชื่อมั่นศักยภาพของรัฐในการรักษาความปลอดภัยอยู่แล้ว ไม่สามารถเชื่อถือได้เลย ฉะนั้นหน้าที่ของเราคือช่วยเหลือตนเอง เหมือนการซ่อมแซมร้าน เงินเยียวยาเห็นว่า 3 เดือนถึงจะได้ จะให้ปิดร้านนาน 3 เดือนเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เจ๊งแน่ ก็ต้องสำรองออกเงินตัวเองซ่อมแซมไปก่อน ทีนี้ออกเงินไปแล้วก็ไม่รู้ว่าจะได้ตามนั้นหรือไม่ เพราะบางเจ้าที่เคยเสียหายเขาบอกว่าไม่ได้ตามที่เราแจ้งไป"
ระดับนโยบายไม่ชัด-ระดับปฏิบัติลอยชาย
แม้ยังไม่มีรัฐบาลชุดไหนแก้ไขปัญหาภาคใต้ได้ แต่ในมุมมองของ จิรายุ เขาเห็นว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสนใจกับปัญหานี้น้อยเกินไป
"ผมเชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็อยากให้ปัญหาใต้จบ แต่ภาพรวมของรัฐบาลชุดนี้ผมว่ายังใส่ใจกับปัญหาภาคใต้น้อยมาก ยิ่งระดับปฏิบัติการไม่ค่อยให้ความสำคัญเลย ทำงานยังไม่เต็มที่ บางพื้นที่กลับสร้างเงื่อนไขให้ชาวบ้านก็มี ปัญหาก็ยิ่งแก้ยาก"
"ผมอยากให้รัฐบาลทำนโยบายออกมาและปฏิบัติอย่างจริงจัง แก้ปัญหาอย่างจริงใจ ระดับปฏิบัติการเคร่งครัดในการทำงาน และทำสอดคล้องกับนโยบายที่เบื้องบนมอบหมายมา ผมไม่อยากเห็นในแบบคิดแต่โครงการแล้วส่งเงินลงมา เพราะมันเกิดการทับซ้อนกันของหลายๆ ฝ่าย ปัญหาก็ไม่จบ" จิรายุ ตั้งความหวังทั้งๆ ที่ยังท้อ
พลังชุมชนสร้าง "โซนปลอดภัย"
สมภพ สุดนรานนท์ เจ้าของร้าน "อินคา อินเลิฟ" ที่ขายเสื้อ "คนยะลาไม่เอาระเบิด" หรือ "Yala no bomb" อันโด่งดัง กล่าวว่า หลายคนคิดว่าย่านสายกลาง (ย่านการค้าสำคัญของเมืองยะลา) โชคดีไม่โดนระเบิด แต่ส่วนตัวไม่ถือว่าโชคดี เพราะทุกอย่างเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจกันของชุมชน
"ผมว่าไม่ได้โชคดีนะ เพราะร้านจงกลมณีที่ขายอุปกรณ์ไฟฟ้าก็ถือเป็นย่านเซฟตี้โซน (ย่านปลอดภัยที่ฝ่ายความมั่นคงวางมาตรการดูแลเข้มงวดเป็นพิเศษ) ถือเป็นย่านการค้าแต่ก็โดนเหมือนกัน ส่วนย่านสายกลางที่ไม่ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความร่วมมือของทุกคนที่อยู่ในย่านนี้ คืนนั้นพร้อมใจกันออกมาปกป้องอยู่หน้าบ้าน ใครมีอะไรพอจะเป็นอาวุธได้ก็เอามาถือไว้ เพราะมีเสียงมอเตอร์ไซค์วิ่งรอบๆ เมืองเต็มไปหมด ผมกลัวจะเป็นกลุ่มก่อกวน ปาระเบิดขวดใส่ จะยุ่งมากกว่านี้ แต่สุดท้ายพวกเราก็ปกป้องบ้านของตัวเองได้"
สมภพ บอกว่าเขาคิดมานานแล้วว่าอย่างไรเสียตัวเมืองยะลาก็ต้องโดนระเบิดอีก และไม่คิดโทษเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากต้องระมัดระวังตัวเองเหมือนกัน ฉะนั้นทางที่ดีที่สุดคือทุกคนรับผิดชอบตัวเอง
"ผมคิดมาตลอดว่าสักวันต้องเกิดขึ้น แล้วก็เกิดขึ้นจริงๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นเมื่อเกิดเหตุเขาก็ต้องหาที่กำบังก่อน ซึ่งไม่แปลก เพราะทุกคนต่างก็รักชีวิต จะไปว่าเขาดูแลพวกเราไม่ทั่วถึงก็ไม่ถูกนัก ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนควรจะหันมาใส่ใจบ้านตนเอง จะไปหวังเจ้าหน้ารัฐอย่างเดียวคงไม่ได้ ไม่ใช่ไม่เชื่อมั่นต่อรัฐหรือนโยบายต่างๆ ที่ลงมาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพียงแต่มองว่าอะไรที่เราสามารถปกป้องตัวเองได้ก่อน ผมว่าเราควรจะทำทันที ไม่ต้องไปรอให้คนอื่นมาทำให้เรา ผมว่าแค่นี้บ้านเราก็จะปลอดภัย" สมภพ ให้กำลงใจ
ขณะที่เจ้าของร้านเจแปนคิดส์ซึ่งไม่ประสงค์จะออกนาม กล่าวว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นก่อผลกระทบไปตามๆ กัน เพราะกว่าจะเปิดร้านได้ใหม่ก็ต้องซ่อมแซมร้านที่ได้รับความเสียหายให้เสร็จก่อน ปัญหาตอนนี้คือเงินเยียวยาไม่รู้ว่าจะได้รับความช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหน เพราะร้านคงต้องปิดปรับปรุงก่อน ลูกค้าส่วนหนึ่งก็ต้องหายไปอย่างแน่นอน แต่ผู้ประกอบการยังต้องจ่ายค่าเช่าเหมือนเดิม ถือเป็นอะไรที่แย่มาก
สงสารคนเป็นแม่ของลูกที่มาก่อเหตุ
หญิงมุสลิมวัย 56 ปีที่ไม่ประสงค์ออกนามเช่นกัน กล่าวถึงเหตุระเบิดที่ถนนศรีปุตรา ย่านตลาดเก่า ซึ่งทางการเชื่อว่าคนที่เสียชีวิต 2 รายเป็นคนร้ายที่กำลังนำระเบิดไปวางว่า ตอนได้ยินเสียงระเบิดดังตูม นางอยู่ในบ้าน เพิ่งละหมาดเสร็จ รู้สึกตกใจ ทำอะไรไม่ถูก สักพักหนึ่งได้ยินเสียงผู้คนจึงออกไปดู จึงรู้ว่ามีคนเสียชีวิต
"ศีรษะของคนตายตกอยู่หน้าบ้านก๊ะ (สรรพนามแทนหญิงมุสลิมที่อายุมากกว่า) เหตุรุนแรงลักษณะนี้สมัยสาวๆ ไม่เคยดู ครั้งนี้ได้ดูเป็นครั้งแรก เป็นเรื่องที่หดหู่มาก จริงๆ ถนนสายนี้จะไม่ค่อยมีคนพลุ่นพล่าน เพราะไม่ใช่ย่านการค้า ไม่เข้าใจกลุ่มคนที่ทำเหมือนกันว่าทำไปเพื่ออะไร ยิ่งเมื่อเกิดเหตุระเบิดยิ่งเงียบเหงาทั้งกลางวันกลางคืน บอกตรงๆ ว่าตลอด 50 กว่าปีที่อาศัยอยู่ย่านนี้ไม่เคยมีเหตุรุนแรงเท่าครั้งนี้เลย"
อย่างไรก็ดี หญิงสูงวัยผู้นี้ก็ยังไม่ปักใจว่าคนที่เสียชีวิตเป็นคนร้ายจริงตามที่ทางการให้ข้อมูลหรือไม่
"บอกไม่ได้หรอกว่าเป็นคนร้ายตามที่ทุกฝ่ายตั้งข้อสังเกตหรือเปล่า ก๊ะไม่อยากไปซ้ำเติม เพราะคนก็เสียชีวิตไปแล้ว ใครทำดีก็ดีไป ใครทำชั่วก็ได้ชั่วไป พระเจ้าเท่านั้นที่รู้ดี แต่ถ้าเขาทำจริง คนแรกที่ก๊ะสงสารก็คือแม่ของเด็กที่เสียชีวิต คิดถึงหัวอกคนเป็นแม่ด้วยกันที่ต้องมารับรู้และเสียใจที่ลูกมาเสียชีวิตอย่างนี้ ก๊ะเชื่อว่าแม่ทุกคนไม่มีใครรู้หรอกว่าลูกไปทำอะไรมาบ้าง แม่ทุกคนอยากให้ลูกเป็นคนดีกันทั้งนั้น แต่ด้วยสภาพสังคมปัจจุบัน ทำให้แม่ตามลูกไม่ทัน" เป็นความจริงที่สะท้อนภาพสังคมในระดับครอบครัวที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ผู้ว่าฯยะลาจ่ายเยียวยาล็อตแรกครึ่งล้าน
ด้านความคืบหน้าการช่วยเหลือจากภาครัฐ เมื่อวันเสาร์ที่ 29 ต.ค. นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วย พล.ต.ประตินันท์ สายหัสดี ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลาคนใหม่ ได้อนุมัติจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านชีวิตและทรัพย์สินจากเหตุระเบิดทั่วเมืองยะลา เมื่อคืนวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ถือเป็นการจ่ายเงินเยียวยารอบแรก โดยจ่ายให้กับผู้ได้รับผลกระทบด้านร่างกาย จำนวน 24 ราย เป็นเงิน 240,000 บาท และผู้ที่ทรัพย์สินเสียหายจำนวน 39 ราย เป็นเงิน 290,385 บาท รวมทั้งสิ้น 530,385 บาท โดยผู้ว่าฯยะลาให้กล่าวให้กำลังใจกับผู้ได้รับผลกระทบทุกราย
เป็นการดูแลซึ่งกันและกันท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังมองไม่เห็นวันยุติ!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-4 ความสูญเสียในย่านการค้าของเมืองยะลา (เอื้อเฟื้อภาพจาก สมภพ สุดนรานนท์)
5-7 ผู้ว่าฯยะลามอบเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย สังเกตผู้ที่สูญเสียจากเหตุระเบิดมีทุกศาสนา (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)