ถึงเวลามูลนิธิ กปปส.ส่งซิก! สวนทาง ปชป.-จับตา สปช.โหวตร่าง รธน.?
“…เจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชนคือต้องปฏิรูปประเทศไทย เมื่อดูประเด็นนี้ เราศึกษาร่างรัฐธรรมนูญจากมุมนี้ และเรียนอย่างตรงไปตรงมาชัดเจนว่า ในสายตาของประชาชนอย่างเรา มวลมหาประชาชนทั้งหลาย เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดีพอที่จะนำไปให้ประชาชนลงประชามติ คนที่จะตัดสินใจขั้นสุดท้ายคือพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ในการทำประชามติ…”
ท่ามกลางความขุ่นของน้ำในแม่น้ำ “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” หรือ สปช. ที่ยังไม่ตกตะกอน
อยู่ในอาการพูดไม่ออก-บอกไม่ถูก ว่าจะเอายังไงกับร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับเรือแป๊ะ” กันดี
ในที่สุดมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ หรือ มูลนิธิ กปปส. นำโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ในฐานะ “หัวเรือใหญ่” พร้อมกับกรรมการมูลนิธิฯ หรืออดีตแกนนำ กปปส. เริ่มขยับออกมานั่งแถลงข่าวถึงจุดยืนของมูลนิธิฯเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กันอย่างเป็นทางการ
ทั้งสองเรื่องนี้เกี่ยวพันกันอย่างไร ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงให้เห็นภาพกัน ดังนี้
เริ่มแรกในช่วงโค้งสุดท้ายของการร่างรัฐธรรมนูญ มีสมาชิก สปช. บางราย ออกมารณรงค์ให้ “คว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทิ้งเสีย เนื่องจากเห็นว่ายังไม่แก้ปัญหา หรือวิกฤติการเมืองในอดีตที่ผ่านมาเท่าที่ควร
กระทั่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เป็นประธานฯ ได้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น และเปิดเผยให้กับ สปช.-สาธารณชนไปศึกษา ก็เริ่มมีเสียงออกมาหนุน “ฝ่ายคว่ำ” มากขึ้น
รวมถึงใช้ “แท็กติค” ในเชิงกฎหมาย ท้าทาย กมธ.ยกร่างฯ โดยระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มี “คำปรารถ” เท่ากับว่า ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ ทำให้ สปช. ไม่สามารถลงประชามติได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างให้คณะกรรมาธิการกิจการสามัญสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) ถกเถียงว่า สมควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่-อย่างไร
ร้อนถึง “บวรศักดิ์” ต้องออกมาชี้แจงทันควันว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สมบูรณ์แล้ว ส่วนคำปรารถนั้นเป็นพระราชอำนาจที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ จะทำหน้าที่ยกร่างคำปรารภเพื่อทูลเกล้าฯเพื่อขอพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งเชื่อว่าจะมีการดำเนินการภายหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว
พร้อมยังเอ่ยปากขอ “อโหสิกรรม” ให้กับ สปช. บางรายที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการ “โหวตคว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญด้วย
คำถามที่น่าสนใจคือ “สุเทพ” หัวขบวนมูลนิธิ กปปส. ออกมาแถลงจุดยืน เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร ?
หนึ่ง บางห้วงบางตอนของการแถลง “สุเทพ” ยืนยันว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ “ดีพอ” ที่จะให้ประชาชนทำประชามติ โดยเห็นว่า มีการใส่หมวดการปฏิรูปไว้ค่อนข้างชัดเจน แม้ว่าจะยังมีบางเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นรูปธรรมก็ตาม
“เจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชนคือต้องปฏิรูปประเทศไทย เมื่อดูประเด็นนี้ เราศึกษาร่างรัฐธรรมนูญจากมุมนี้ และเรียนอย่างตรงไปตรงมาชัดเจนว่า ในสายตาของประชาชนอย่างเรา มวลมหาประชาชนทั้งหลาย เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดีพอที่จะนำไปให้ประชาชนลงประชามติ คนที่จะตัดสินใจขั้นสุดท้ายคือพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ในการทำประชามติ”
เท่ากับว่า “สุเทพ” ในฐานะร่างทรงของมวลมหาประชาชน (ตามที่อ้าง) เพิ่มความกดดันให้ สปช. “ไฟเขียว” โหวตผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มิฉะนั้นประชาชนจะไม่สามารถลงประชามติได้
สอง “สุเทพ” ย้ำหนักแน่นว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดอง (คปป.) จำเป็นต้องมีไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยชี้ให้เห็นถึงข้อดีมากกว่าข้อเสีย และเหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศ
โดยเห็นว่า ที่ผ่านมาเกิดวิกฤติทางการเมือง และในฐานะที่เคยผ่านเหตุการณ์นั้นมาแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีองค์กรคอยชี้ขาดระหว่างการเกิดวิกฤติ เพื่อป้องกันไม่ให้มีคนบาดเจ็บล้มตาย และเกิดการรัฐประหาร
คปป. จึงเป็นคำตอบ ?
แม้หลายฝ่ายจะกังวลว่าอาจเกิดภาวะรัฐซ้อนรัฐ แต่ “สุเทพ” ก็ยืนยันว่า มุมมองไม่เหมือนกัน เพราะเรื่องนี้จับต้องได้ บางเรื่องอาจมีความสวยงาม แต่จับต้องไม่ได้
“เอาเสื้อผ้าของฝรั่งมาใส่มันดูไม่หล่อ เราต้องตัดสำหรับขนาดของคนไทย” ประธานมูลนิธิ กปปส. เปรียบไว้
สาม การแถลงย้ำจุดยืนในครั้งนี้สวนทางกับพรรคการเมืองอื่น ๆ รวมถึง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อย่างสิ้นเชิง ?
เนื่องจาก “อภิสิทธิ์” เห็นว่า คำว่าปฏิรูปในร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าคืออะไร แต่กลับขึ้นอยู่กับ คปป. ซึ่งบทบัญญัติให้ “บังคับ” รัฐบาลได้ ก่อนยกตัวอย่างหาก คปป. มีความคิดนิรโทษกรรมแบบที่เคยเกิดขึ้น รัฐบาลและสภาก็ขัดไม่ได้ จะเป็นปัญหาหรือไม่ ?
“เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของ สปช. ผมไม่อยากให้ สปช. ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ไม่ใช่เพราะว่าทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อ แต่เป็นการปรับปรุงเนื้อหาในรัฐธรรมนูญให้ดีก่อนทำประชามติ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยัน
แม้ว่า “อภิสิทธิ์” จะเคยเป็น “เด็กปั้น” ของ “สุเทพ” มานมนาน แต่วันนี้ “สุเทพ” กลับมีจุดยืนเห็นต่างร่างรัฐธรรมนูญเสียแล้ว ?
ทำให้น่าสนใจต่อไปอีกว่า บรรดา “ก๊วน ส.ส.” ในพรรคประชาธิปัตย์ ที่แบ่งยิบย่อยออกเป็นหลายกลุ่มก้อนนั้น จะคิดเห็นกันอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ก็มีหลายคนไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เช่นกัน
แต่ต้องไม่ลืมว่า “สุเทพ” เคยเป็นถึงอดีตเลขาธิการพรรค และมีอิทธิพลต่อ ส.ส. ในพรรคสูงมาก
จะมีการกลับลำ-กลืนน้ำลายกันหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป ?
สี่ การแถลงจุดยืนครั้งนี้เป็นการเชื้อเชิญ “มวลมหาประชาชน” ที่เริ่ม “เสื่อมศรัทธา” ในการบริหารประเทศของรัฐบาล และ คสช. ให้กลับมาเชื่อมั่นอีกครั้ง
แม้ว่ามวลมหาประชาชนทั้งหมดจะไม่ใช่ “ฐานเสียง” พรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีบางส่วน “เชียร์” พรรคประชาธิปัตย์แน่นอน และอาจจะเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ
แต่ในช่วงหลายเดือนมานี้ เสียงเชียร์ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มเบาบางลงมาก แต่ก็กระเตื้องขึ้น “สุเทพ” สึก และขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานมูลนิธิ กปปส. คอยเป็น “ผนังทองแดง-กำแพงเหล็ก” ค้ำยันให้ คสช.
และเห็นได้จากการแถลงจุดยืนวันนี้ “สุเทพ” อ้างตัวเองว่าเป็น “ร่างทรงของมวลมหาประชาชน” และพูดในฐานะที่เป็นตัวแทนของมวลมหาประชาชนทุกครั้ง
สร้างความเชื่อมั่นให้แก่มวลชน กปปส. ว่า ร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ “ดีพอ” (ถ้าผ่าน สปช. มาได้) ที่จะให้ประชาชนตัดสินใจโหวตประชามติ
ทั้งหมดคือข้อสังเกตในการแถลงจุดยืนของมูลนิธิ กปปส. ก่อนที่ สปช. จะโหวตร่างรัฐธรรมนูญในอีก 5 วันต่อจากนี้
แต่จะผ่านหรือไม่ ? 6 ก.ย.นี้ รู้ผล
อ่านประกอบ :
ชัด ๆ จุดยืนมูลนิธิ กปปส. หนุน รธน.-คปป. ป้องเกิดวิกฤติ-มีรัฐประหาร
มูลนิธิ กปปส.พอใจ รธน.ใหม่ หนุนมี คปป.-ยันต้องให้ ปชช.ทำประชามติ
เปิดตัวมูลนิธิ กปปส.'สุเทพ'ลั่น คสช.ต้องดูแล ปท.-ปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง
หมายเหตุ : ภาพประกอบสภา จาก tnews, ภาพพรรคประชาธิปัตย์ จาก siangtai.com