ใครเป็นใครบนเวทีแถลงของ "มาราฯ" แย้มอนาคตปาตานีขึ้นกับคนพื้นที่เอง
การแถลงข่าวของผู้แทน “มารา ปาตานี” ที่โรงแรม Primeraในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ต่อหน้าสื่อมวลชนทั้งไทย มาเลเซีย และต่างประเทศจำนวนมาก เพิ่งเสร็จสิ้นลงเมื่อช่วงเย็นของวันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2558 โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมงกับ 5 นาที
สาระของการแถลงซึ่งนำโดย นายอาวัง ยาบะ จากกลุ่มบีอาร์เอ็น ในฐานะประธานมารา ปาตานี ย้ำว่า กลุ่ม มารา ปาตานี เป็นเพียงตัวแทนของชาวปาตานีเท่านั้น ทุกอย่างที่จะนำไปสู่การพูดคุยกับรัฐบาลไทยอยู่ที่ชาวปาตานี หรือประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าต้องการเอกราช หรือต้องการปกครองตนเอง หรือต้องการอยู่แบบปัจจุบันต่อไป
ผู้ที่ร่วมแถลงบนเวทีมี 7 คน จาก 5 กลุ่มที่รวมกันเป็น “มารา ปาตานี” (ตามภาพจากขวาไปซ้าย) ได้แก่
1.นายกัสตูรี มะห์โกตา แกนนำองค์การพูโล
2.นายเจ๊ะกูแม กูเต๊ะ จากกลุ่มจีเอ็มไอพี
3.นายหะยีมูฮัมหมัด ชูโว จากบีอาร์เอ็น
4.นายอาวัง ยาบะ จากบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นประธาน มารา ปาตานี
5.นายสุกรี ฮารี จากบีอาร์เอ็น เป็นประธานคณะพูดคุยฝ่ายมารา ปาตานี
6.นายอาบูฮาฟีส อัลฮากิม จากกลุ่มบีไอพีพี
7.นายอาบูอัจฮัต จากจีเอ็มไอพี
ทั้งนี้ นายเจ๊ะกูแม กูเต๊ะ และนายสุกรี ฮารี เคยเป็นบุคคลตามหมายจับคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ นายอาวัง ยาบะ เป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมในพิธีลงนามริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 เช่นเดียวกับ นายสุกรี ฮารี หรือ มะสุกรี ฮารี ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพดังกล่าวบางรอบ โดยการพูดคุยครั้งนั้นมี นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายผู้เห็นต่าง ส่วนฝ่ายไทยมี พลโทภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหัวหน้า
เสนอตั้ง “ฝ่ายเลขาฯ” ถกประเด็นรายละเอียด
ด้าน พลตรีนักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หนึ่งในคณะพูดคุยสันติสุขฯ กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า การพูดคุยครั้งที่ 3 ระหว่างคณะพูดคุยฯที่มี พลเอกอักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก เป็นหัวหน้า กับกลุ่มมารา ปาตานี เมื่อวันอังคารที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นไปอย่างราบรื่น
โดยคณะพูดคุยฯฝ่ายรัฐบาลได้เสนอประเด็นพูดคุย 3 ประเด็นตามที่เป็นข่าว คือ 1.การสร้างพื้นที่ปลอดภัย 2.การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และ 3.กระบวนการยุติธรรมที่เป็นที่ยอมรับ ขณะที่ฝ่าย มารา ปาตานี เสนอให้รัฐบาลประกาศให้การพูดคุยเป็น “วาระแห่งชาติ” ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดว่าต้องการให้ทำระดับไหน
อย่างไรก็ดี พลตรีนักรบ ซึ่งมีประสบการณ์ร่วมโต๊ะพูดคุยมาตั้งแต่ครั้งรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ เมื่อปี 2556 บอกว่า การพูดคุยต่อจากนี้จะเป็นประเด็นใหญ่ๆ ที่ต้องพิจารณาในรายละเอียดมาก การพูดคุยคณะใหญ่อาจตกลงกันได้ยาก จึงมีแนวคิดให้ตั้ง “คณะทำงานร่วม” คล้ายๆ เป็นฝ่ายเลขานุการ ประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือ ตัวแทนคณะพูดคุยฯฝ่ายรัฐบาลไทย ฝ่ายมารา ปาตานี และผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย เพื่อพูดคุยในประเด็นรายละเอียดและจัดทำข้อมูลต่างๆ เสนอคณะพูดคุยฯชุดใหญ่
“คณะเล็ก หรือฝ่ายเลขาฯ จะทำงานคล่องตัวกว่า นัดพบกันได้บ่อยครั้งกว่า และแต่ละครั้งคุยกันได้นานกว่า อาจจะ 2 วัน 3 วันก็ได้ ถ้าทุกฝ่ายเห็นตรงกันก็น่าจะตั้งคณะทำงานได้ในเร็ววันนี้” พลตรีนักรบ ระบุ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การแถลงข่าวของกลุ้่ม มารา ปาตานี ที่กัวลาลัมเปอร์