ฉบับเต็ม! กฤษฎีกายันซ้ำ สตช.ลงดาบ“พล.ต.ต.วิชัย”ลาออกก็ล้างผลสอบ ป.ป.ช.ไม่ได้
“…สำหรับข้ออ้างว่าวิธีการ ขั้นตอน และกระบวนการในการสอบสวนของข้าราชการตำรวจมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแตกต่างจากที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น เห็นว่า ความแตกต่างดังกล่าวหาเป็นเหตุให้เป็นการลบล้างผลแห่งการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ เพราะการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมเป็นไปตามวิธีการ ขั้นตอน และกระบวนการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ และมีผลให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว…”
เป็นเรื่องที่คาราคาซังมาตั้งแต่ปี 2555 !
ภายหลังกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิด พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ (ฉายามือปราบหูดำ) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลภาค 1 (ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร) กับพวก กรณีใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต จับกุมผู้กล่าวหาแล้วบีบบังคับให้ใช้หนี้เจ้าหนี้พนัน โดยส่งรายงานเอกสารตลอดจนความเห็นไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญา และส่งไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย
ถัดจากถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเพียงหนึ่งวัน พล.ต.ต.วิชัย ได้แถลงข่าวขอลาออกจากราชการ (ปี 2556 ถูกแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ) ซึ่งในด้านคดีถูกส่งไปยังกองวินัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยต้องส่งต่อให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ขณะนั้นพิจารณาตัดสินโทษทางวินัยผ่านคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)
ทว่า สตช. ได้ส่งหนังสือมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2557 โดยขอหารือเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจซึ่งลาออกจากราชการเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ พล.ต.ต.วิชัย โดยเรื่องนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1 มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์เป็นกรรมการกฤษฎีกาด้วย) ได้ให้ความเห็นว่า การดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีผลเช่นเดียวกับการดำเนินการสอบสวนของผู้บังคับบัญชาและอยู่ในความหมายของการสอบสวนตามมาตรา 94 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547
ดังนั้น สตช. จึงยังมีอำนาจและหน้าที่ที่จะต้องลงโทษ พล.ต.ต.วิชัย กับพวก ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป
อย่างไรก็ดีแม้คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) จะมีความเห็นไปแล้ว แต่เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2557 สตช. ได้ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอีกครั้ง โดยระบุว่าคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ในหลายประเด็น
แต่ท้ายสุดคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 2) ได้มีความเห็นตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เคยให้ไว้
โดยยืนยันว่า พล.ต.ต.วิชัย สามารถถูกลงโทษทางวินัยได้ แม้จะลาออกจากราชการไปแล้วก็ตาม เนื่องจากไม่อาจล้างการตรวจสอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ !
(อ่านประกอบ : กฤษฎีกายันซ้ำ!สตช.ฟันวินัย'พล.ต.ต.วิชัย'ได้ หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลผิดปี'55)
เพื่อให้ทราบกระบวนการที่ชัดเจน สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องดังกล่าวมานำเสนอแบบ “ฉบับเต็ม” ดังนี้
เรื่องเสร็จที่ 1336/2558
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอทบทวนความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ ตช 0006.2/2681 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบข้อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจซึ่งลาออกจากราชการเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามเรื่องเสร็จที่ 151/2557 โดยในเรื่องเสร็จดังกล่าวคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) มีความเห็นว่า การดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีผลเช่นเดียวกับการดำเนินการสอบสวนของผู้บังคับบัญชาและอยู่ในความหมายของการสอบสวนตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547
ดังนั้น การที่พลตำรวจตรี วิชัย สังข์ประไพ กับพวก ได้ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนไว้แล้วก่อนที่จะลาออกจากราชการ จึงเป็นกรณีที่ถูกสอบสวนอยู่แล้วก่อนออกจากราชการ และการสอบสวนได้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันออกจากราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงยังมีอำนาจและหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการลงโทษ พลตำรวจตรี วิชัยฯ กับพวก ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป นั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รายงานผลการหารือให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ทราบ
และต่อมาสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้มีบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ที่ 0012.12/320 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 แจ้งว่า ก.ตร. ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2557 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557 ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) และเห็นชอบให้มีการทบทวนความเห็น โดยมีเหตุผลดังนี้
1. พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มีผลบังคับใช้ภายหลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 จึงได้มีการบัญญัติยึดโยงถ้อยคำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สอดรับกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ไว้โดยชัดเจน โดยในเรื่องการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจนั้นปกติแล้วจะไม่สามารถดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่ออกจากราชการไปแล้วได้
แต่มาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ ได้บัญญัติข้อยกเว้นให้สามารถดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการตำรวจที่ออกจากราชการไปแล้วไว้สองประการ คือ ประการแรก ต้องเป็นกรณีที่ข้าราชการตำรวจผู้นั้นถูกสอบสวนในกรณีการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงไว้แล้วก่อนออกจากราชการ และประการที่สอง ข้าราชการตำรวจผู้นั้นมีกรณีที่ถูกชี้มูลความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไว้แล้วก่อนออกจากราชการ โดยในกรณีที่มีการสอบสวนต้องดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ข้าราชการตำรวจผู้นั้นออกจากราชการ
ซึ่งในกรณีของพลตำรวจตรี วิชัยฯ กับพวก นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดภายหลังจากที่พลตำรวจตรี วิชัยฯ กับพวก ออกจากราชการไปแล้ว โดยไม่มีกรณีถูกสอบสวนในกรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไว้ ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงไม่สามารถดำเนินการทางวินัยพลตำรวจตรี วิชัยฯ กับพวก ได้
2. การที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) มีความเห็นว่า การดำเนินการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีผลเช่นเดียวกับการดำเนินการสอบสวนของผู้บังคับบัญชาและอยู่ในความหมายของการสอบสวนตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ นั้น เป็นการตีความในลักษณะขยายความของคำว่า “สอบสวน” ซึ่งไม่น่าจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย เนื่องจากในเรื่องการสอบสวนต้องเป็นการสอบสวนทางวินัยตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของข้าราชการนั้น ๆ
โดยในส่วนของข้าราชการตำรวจได้มีการกำหนดไว้แล้วอย่างชัดเจนในมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ กล่าวคือ เมื่อข้าราชการตำรวจผู้ใดถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวน การสอบสวนจึงเป็นขั้นตอนการดำเนินการทางวินัยที่อยู่ในอำนาจของผู้บังคับบัญชาของข้าราชการตำรวจผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และการสอบสวนต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอน ตลอดจนวิธีการดำเนินการสอบสวนตามที่กฎ ก.ตร. ได้กำหนดไว้
ส่วนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น มิใช่เป็นการดำเนินการทางวินัยที่อยู่ในอำนาจของผู้บังคับบัญชาตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ อีกทั้งมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ ได้บัญญัติโดยใช้ถ้อยคำตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ไว้แล้ว โดยในขั้นตอนการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนร้องเรียน ขั้นตอนการไต่สวนข้อเท็จจริง และสุดท้ายคือขั้นตอนของการชี้มูลความผิด แต่มาตรา 94 ดังกล่าวมุ่งหมายเฉพาะขั้นตอนการชี้มูลความผิดเท่านั้น โดยได้บัญญัติถ้อยคำไว้ว่า
“มีกรณีถูกชี้มูลความผิด” จึงมีความชัดเจนว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ต้องการข้อเท็จจริงตั้งแต่วันชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นต้นไป มาเป็นจุดตัดหรือจุดพิจารณาว่า ณ วันชี้มูลความผิดทางวินัยนั้น หากผู้ถูกกล่าวหามีสถานภาพเป็นข้าราชการตำรวจอยู่ก็สามารถดำเนินการทางวินัยต่อไปได้ แต่ถ้าไม่มีสถานภาพเป็นข้าราชการก็ไม่สามารถดำเนินการทางวินัยต่อไปได้
อีกทั้งการตีความขยายความไปถึงขั้นตอนการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนที่จะมีการชี้มูลความผิดอันเป็นการกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาต้องก้าวล่วงไปพิจารณาถึงขั้นตอนของการไต่สวนข้อเท็จจริงที่อยู่ในอำนาจการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยนั้น อาจเป็นการตีความที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าว และจะส่งผลให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้มาตรา 94 เนื่องจากอาจเกิดความลักลั่นในการปฏิบัติขึ้นได้
3. การที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) นำคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามเรื่องเสร็จที่ 1362/2556 ซึ่งเป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับอดีตข้าราชการพลเรือนสามัญมาเทียบเคียงกับกรณีของ พลตำรวจตรี วิชัยฯ กับพวก นั้น ไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้ เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจมีความแตกต่างกับกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการกับข้าราชการตำรวจที่มีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย แต่ได้ออกจากราชการไปแล้ว กำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการไว้แตกต่างกัน อีกทั้งในคำวินิจฉัยดังกล่าวคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นไว้ตอนหนึ่งว่า “เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดว่าข้าราชการพลเรือนสามัญกระทำความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงแล้ว ผู้บังคับบัญชาของข้าราชการพลเรือนสามัญจะต้องพิจารณาโทษทางวินัยตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่การพิจารณาลงโทษข้าราชการพลเรือนสามัญจะสามารถกระทำได้เพียงใดและอย่างใด ย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือนสามัญ”
แสดงให้เห็นว่า การจะลงโทษข้าราชการที่ถูกชี้มูลความผิดตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องบังคับใช้หรือดำเนินการให้เป็นไปทั้งในส่วนของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ และกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของข้าราชการที่ถูกชี้มูลนั้น ๆ ประกอบกัน ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 2) ได้เคยมีความเห็นไว้ในเรื่องเสร็จที่ 566/2553 ว่า “การจะดำเนินการทางวินัยตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เพียงใดและอย่างใด ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่ใช้กับข้าราชการที่ถูกดำเนินการทางวินัย ส่วนมาตรา 92 และมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ เป็นแต่เพียงบทบัญญัติที่ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหาตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอีกเท่านั้น”
เมื่อนำคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องเสร็จที่ 1362/2556 และเรื่องเสร็จที่ 566/2553 ดังกล่าวมาเทียบเคียงกับกรณีของ พลตำรวจตรี วิชัยฯ กับพวก แล้ว เห็นได้ว่า แม้ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติชี้มูลความผิด พลตำรวจตรี วิชัยฯ กับพวก ก็ตาม แต่การดำเนินการทางวินัยแก่พลตำรวจตรี วิชัยฯ กับพวก ก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ ได้บัญญัติไว้ด้วย
ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดภายหลังจากที่พลตำรวจตรี วิชัยฯ กับพวก ออกจากราชการไปแล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงไม่อาจดำเนินการทางวินัยกับ พลตำรวจตรี วิชัยฯ กับพวก ต่อไปได้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาทบทวนคำวินิจฉัยในกรณีดังกล่าว เพื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป
คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 2) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า ข้อหารือนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การสอบสวนในกรณีการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 94 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 หมายความรวมถึงการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 หรือไม่ อย่างไร
ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่า การตีความมาตรา 94 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ ย่อมไม่อาจตีความให้มีผลขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ซึ่งเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้ เมื่อมาตรา 92 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ กำหนดว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดข้าราชการผู้ใดแล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก โดยให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย และมาตรา 94 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ กำหนดให้การพิจารณาลงโทษทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจที่ออกจากราชการไปแล้วสามารถกระทำได้ หากข้าราชการตำรวจผู้นั้นถูกสอบสวนการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงไว้แล้วก่อนวันที่ข้าราชการตำรวจจะออกจากราชการ และการสอบสวนได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ข้าราชการตำรวจออกจากราชการ โดยมาตรา 94 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติว่าการสอบสวนดังกล่าวจะต้องเป็นการสอบสวนตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ เท่านั้น
ดังนั้น การดำเนินการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีผลเช่นเดียวกับการดำเนินการสอบสวนของผู้บังคับบัญชา และอยู่ในความหมายของการสอบสวนตามมาตรา 94 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ ด้วยเช่นกัน
สำหรับข้ออ้างว่าวิธีการ ขั้นตอน และกระบวนการในการสอบสวนของข้าราชการตำรวจมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแตกต่างจากที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น เห็นว่า ความแตกต่างดังกล่าวหาเป็นเหตุให้เป็นการลบล้างผลแห่งการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ เพราะการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมเป็นไปตามวิธีการ ขั้นตอน และกระบวนการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ และมีผลให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 2) จึงมีความเห็นตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ที่ได้ให้ไว้ในบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจซึ่งลาออกจากราชการเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง (เรื่องเสร็จที่ 151/2557)
(นายดิสทัต โหตระกิตย์)
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
อ่านความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา : http://app-thca.krisdika.go.th/Naturesig/CheckSig?whichLaw=cmd&year=2558&lawPath=c2_1336_2558
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.ต.ต.วิชัย จาก hunsa.com, ภาพ สตช. จาก sanook.com