นักวิชาการยก 3 เหตุผล บึ้มราชประสงค์ไม่เกี่ยวอุยกูร์
ในงานสัมมนาเรื่อง "ตุรกี-อุยกูร์-จีน กับปัญหาผู้อพยพข้ามชาติและทางออกของไทย" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวตอนหนึ่งถึงการเชื่อมโยงประเด็นอุยกูร์กับเหตุระเบิดที่ราชประสงค์ ซึ่งเรียกความสนใจได้ทั้งห้องประชุม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วรศักดิ์ กล่าวว่า หากมองในทางรัฐศาสตร์ มีความเป็นไปได้น้อยมากที่การลอบวางระเบิดจะเกิดจากกลุ่มอุยกูร์ ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ
1.ระยะเวลานับจากช่วงที่ทางการไทยส่งชาวอุยกูร์จำนวน 109 คนให้กับรัฐบาลจีน กับช่วงเวลาที่เกิดระเบิด นับว่าสั้นเกินไปหากกลุ่มอุยกูร์คิดจะก่อเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ หากทำได้จริง อุยกูร์น่าจะสร้างสถานการณ์ในจีนได้มากกว่านี้
2.การก่อเหตุในไทยซึ่งเป็นเมืองพุทธ ไม่ใช่ประเทศมุสลิม เท่ากับเป็นการสร้างศัตรูเพิ่ม ในทางการเมืองเรียกว่าเสียการเมือง
3.ยังมีอุยกูร์ตกค้างอยู่ในประเทศไทยอีกจำนวนหนึ่ง หากก่อเหตุรุนแรงในประเทศไทย ย่อมทำให้อุยกูร์ที่เหลือถูกส่งกลับจีนง่ายขึ้น เพราะไทยมีความสมเหตุสมผลในการส่งกลับ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุภางค์ จันทวานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว ตอนหนึ่งว่า เส้นทางการอพยพของชาวอุยกูร์ผ่านไทยนั้น จะมาจากมณฑลยูนนาน ตอนใต้ของจีน ผ่านลาว กัมพูชา และเข้ามาไทย เส้นทางคล้ายผู้อพยพชาวเกาหลีเหนือ แต่ปลายทางของชาวอุยกูร์ คือ ตุรกีเท่านั้น
ส่วนการที่รัฐบาลไทยตัดสินใจส่งชาวอุยกูร์ที่เป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองจำนวน 109 คนให้รัฐบาลจีน เป็นการพิจารณาในมิติทางความมั่นคง ซึ่งก็ต้องยอมรับเป็นแง่ดีว่าไม่มีเรื่องผลประโยชน์แลกเปลี่ยน แต่ปัญหาคือการส่งกลับใช้กฎหมายอะไร ถ้าใช้สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ต้องมีคำสั่งศาลมาแสดงว่าบุคคลที่ขอให้ส่งกลับมีการกระทำความผิดในประเทศต้นทางจริง แต่จีนไม่ได้มอบหลักฐานดังกล่าวให้กับไทย เพียงแต่อ้างว่าคนเหล่านี้เป็นผู้ก่อการร้าย และจะเรียกว่าไทยส่งกลับได้หรือไม่ เนื่องจากจีนส่งเครื่องบินมารับ และการปฏิบัติเข้าลักษณะไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กรณีส่งอุยกูร์ให้จีนจึงต้องบอกว่ารัฐบาลไทยพลาด
ดร.กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีน จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อุยกูร์ในมณฑลซินเจียงของจีนมี 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ไม่พอใจการปกครองของรัฐบาลจีน แต่ไม่ได้ต้องการแบ่งแยกดินแดน 2.กลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน และ 3.กลุ่มที่นิยมความรุนแรงหรือก่อการร้าย การจัดการปัญหาอุยกูร์ของจีน จึงต้องแยกคน 3 กลุ่มนี้ให้ชัด ไม่ใช่เหมารวมว่าทุกคนเป็นก่อการร้ายหรือมุ่งแบ่งแยกดินแดนไปเสียหมด
ขณะที่ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า จีนพยายามยกระดับมุสลิมอุยกูร์ให้เป็นผู้ก่อการร้าย เพราะเกรงว่ามณฑลซินเจียงจะถูกแบ่งแยกเหมือนประเทศเกิดใหม่ในเอเชียกลางหลังสหภาพโซเวียตแตก เมื่อปี 1990 ยิ่งเกิดเหตุการณ์ 911 เมื่อปี 2001 ยิ่งทำให้จีนเคลื่อนไหวเรื่องนี้จริงจังมากขึ้น โดยมีคำ 3 คำที่จีนใช้ในงานความมั่นคง คือ Terrorism Separatism และ Extremism หรือ ก่อการร้าย แยกดินแดน และสุดโต่ง
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บรรยากาศในงานสัมมนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วรศักดิ์ มหัทธโนบล นั่งกลาง
2 ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุภางค์ จันทวานิช