เจาะมาตรการแก้วิกฤติประเทศไทยในอดีต ฉบับ กมธ.ยกร่างฯ
เจาะมาตรการแก้วิกฤติประเทศไทยในอดีต ฉบับ กมธ.ยกร่างฯ แก้ไขสารพัดปัญหา ป้องยุบสภารัฐบาลรักษาการลาออกไม่ได้-ให้ศาล รธน.วินิจฉัยการใช้ ม.7-นโยบายประชานิยม-ความพยายามแก้ไข รธน.ใหม่
ในงานสัมมนาเรื่องเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ จัดขึ้นโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นำโดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ร่วมกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำโดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ
ภายในงานดังกล่าว กมธ.ยกร่างฯ ยกมาตรการแก้วิกฤติประเทศที่เกิดขึ้นในอดีต เสนอในงานสัมมนาให้ สปช. รับทราบรายละเอียด
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเนื้อหาบางส่วนในมาตรการแก้วิกฤติประเทศในอดีตของ “ฉบับเรือแป๊ะ” มาเสนอให้เห็นกัน ดังนี้
ปัญหา ระหว่างยุบสภาและรัฐบาลรักษาการมีการอ้างว่า รัฐมนตรีลาออกไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญบังคับให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่
ทางแก้ ร่างมาตรา 174 กำหนดให้ลาออกได้ ถ้ารัฐมนตรีลาออกจนมีเหลืออยู่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคณะรัฐมนตรีรักษาการ ก็ให้ปลัดกระทรวงร่วมกันเป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการแทน ให้เลือกปลัดกระทรวงคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และเลือกปลัดกระทรวงอีกสองคนให้ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี
ปัญหา มีการเรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 ตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลาง โดยมีการโต้แย้งจากรัฐบาลรักษาการ แต่ไม่มีองค์ใดวินิจฉัยได้
ทางแก้ ร่างมาตรา 7 วรรคสอง กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ว่า กรณีใดต้องใช้มาตรา 7 หรือไม่ และใช้อย่างไร
ปัญหา เมื่อขัดแย้งกันมาก ๆ จนเกิดวิกฤต หัวหน้าพรรคการเมืองไม่ได้รับการยอมรับ แต่คนนอกที่ไม่ใช่ ส.ส. เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้
ทางแก้ ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. แต่ถ้าเอาคนที่มิได้เป็น ส.ส. มาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 ของ ส.ส. ทั้งสภา (ร่างมาตรา 164, 165)
ปัญหา เมื่อเกิดความไม่สงบ มีความรุนแรง รัฐบาลปกติอาจรับมือไม่ได้
ทางแก้ ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์และการปรองดองแห่งชาติ และให้อำนาจดำเนินการหรือสั่งให้มีการดำเนินการเพื่อป้องกันและระงับความขัดแย้ง รวมทั้งอำนาจระงับยับยั้งการกระทำที่ขัดขวางการปฏิรูปหรือการปรองดอง (ร่างมาตรา 259 และร่างมาตรา 261 (5)) รวมทั้งตรวจสอบไต่สวน การไม่ปฏิบัติตามแผนขั้นตอนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ (ร่างมาตรา 261 (6)) ส่งปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย (ร่างมาตรา 261 (7) และรักษาความสงบเรียบร้อย (มาตรา 280))
ปัญหา การใช้ประชานิยมให้เกิดผลเสียต่อเงินแผ่นดินมหาศาล
ทางแก้ 1.กำหนดการให้มีการวิเคราะห์ทางงบประมาณและการคลังระยะสั้น-ยาว ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ต้องระบุแหล่งเงิน (ร่างมาตรา 189 วรรค 2)
2.ตั้งแผนกคดีวินัยการคลังและงบประมาณในศาลปกครอง (ร่างมาตรา 229) ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินแผ่นดินที่วิญญูชนพึงเห็นได้ว่า ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง ส่งเรื่องให้ศาลพิจารณาได้ (ร่างมาตรา 195)
ปัญหา เมื่อได้เป็นรัฐบาลก็พยายามแก้รัฐธรรมนูญ
ทางแก้ ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญทำได้ยากมาก คือ
1.ห้ามแก้เรื่องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ห้ามแก้เรื่องความเป็นรัฐเดี่ยว (ร่างมาตรา 268)
2.หากแก้เรื่องหลักการสำคัญ เช่น ลดสิทธิเสรีภาพ แก้เรื่องศาล หรือองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ต้องใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 และต้องดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติด้วย (ร่างมาตรา 269 และมาตรา 270 และมาตรา 271)
3.หากเป็นเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเรื่องอื่นต้องใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 (ร่างมาตรา 270)
ปัญหา ความไม่เป็นกลางของประธานสภาผู้แทนราษฎร
ทางแก้ 1.กำหนดให้ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร (รวมทั้งประธานและรองประธานวุฒิสภา) ต้องเป็นกลางทางการเมือง ไม่ใช่เป็นกลางเฉพาะเวลาปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น
2.กำหนดให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งมาจากพรรคฝ่ายค้าน
ปัญหา พรรคการเมืองลงมติบังคับให้ ส.ส. ในสังกัดต้องลงมติตามที่พรรคกำหนดซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการ
ทางแก้ กำหนดให้ ส.ส. มีอิสระจากมติพรรคการเมืองหรืออาณัติอันใดในการตั้งกระทู้ถาม การอภิปราย การลงมติ ฯลฯ ถ้าพรรคมีมติให้พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ส.ส. ผู้นั้นไม่พ้นสมาชิกภาพจากการเป็น ส.ส. เพื่อให้ ส.ส. มีอิสระทำตามความต้องการของประชาชนได้ (ร่างมาตรา 127 วรรคสอง)
ปัญหา การแทรกแซงข้างราชการจากฝ่ายการเมือง
ทางแก้ การแต่งตั้งข้าราชการโดยใช้ระบบคุณธรรมและห้ามแทรกแซงการแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการเจ้าหน้าที่ เว้นแต่ทำตามกฎหมาย (ร่างมาตรา 196)
ปัญหา ข้อกังขาถึงที่มาทรัพย์สินของผู้ที่จะเข้าสู่วงการการเมือง
ทางแก้ กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งระดับชาติ และท้องถิ่น ต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีย้อนหลังสามปี เพื่อการตรวจสอบ (ร่างมาตรา 107 (4) และมาตรา 232)
ปัญหา คดีล้นมือ ป.ป.ช.
ทางแก้ ให้ ป.ป.ช. มีอำนาจตรวจสอบทุจริตผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง และหัวหน้าส่วนราชการเท่นั้นเพื่อให้คดีรวดเร็ว ส่วนเจ้าหน้าที่ระดับรองลงมาให้หน่วยงานอื่นตรวจสอบ (ร่างมาตรา 254 (3))
ทั้งหมดคือบางส่วนของเนื้อหามาตรการแก้วิกฤติประเทศไทยในอดีตฉบับ กมธ.ยกร่างฯ ที่นำเสนอให้วงสัมมนา สปช. รับทราบ
ส่วนจะทำได้จริงหรือไม่ หรือจะได้ใช้จริงไหม ? ต้องติดตามการลงมติโหวตร่างรัฐธรรมนูญของ สปช. ในวันที่ 6 ก.ย.นี้
หมายเหตุ : ภาพประกอบ กมธ.ยกร่างฯ จาก radioparliament.net