ลำนำเพลง 'หวงเหอ' ปลุกความรักชาติ สัมพันธ์ไทย-จีน 40 ปี
สายน้ำไหลคดเคี้ยวเลี้ยวเลาะไปตามขุนเขาจีนแผ่นดินใหญ่ ‘หวงเหอ’ แม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับสองของประเทศ รองจาก ‘แยงซี’ มีความยาวถึง 5,464 กม. หรือยาวกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาของไทย 15 เท่า มีลักษณะไหลเชี่ยวกราก สีเหลือง ขุ่นข้น อันเกิดจากตะกอนดินที่ถูกชะล้างมาจากภูเขา จนนำมาสู่การขนานนามว่า ‘แม่น้ำเหลือง’ หรือ ‘แม่น้ำวิปโยค’
แม่น้ำสายนี้เต็มไปอารยธรรมสองฟากฝั่ง บอกเล่าเรื่องราววันแล้ววันเล่าผ่านห้วงเวลาแห่งความสุขและเจ็บปวดของคนแดนมังกร โดยเฉพาะช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่น เกิดขึ้น 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก ค.ศ.1894-1895 และครั้งที่สอง ค.ศ.1937-1945 กินเวลาร่วม 5 ทศวรรษ ซึ่งขณะนั้นแผ่นดินจีนกลายเป็นสมรภูมิรบที่สำคัญ ก่อนจะนำมาสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งลัทธิฟาสซิสต์เรืองอำนาจ
ทั้งนี้ ใครจะล่วงรู้ว่า หนทางต่อสู้ผู้รุกรานของจีนจนนำมาสู่ชัยชนะนั้น มีบทเพลงอมตะหนึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ คอยปลุกความรักชาติ ความฮึกเหิม ให้เกิดขึ้นในใจ นั่นคือ ‘บทเพลงแห่งหวงเหอ’ หรือหวง เหอ ต้า เหอ ชั่ง ประพันธ์โดย ‘เสี่ยน ซิง ไห่’ นักแต่งเพลงชื่อดังของจีน ได้ทิ้งหน้าที่การงานในฝรั่งเศสกลับมาบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อช่วยต่อต้านญี่ปุ่นที่กำลังรุกรานแผ่นดินแม่อย่างโหดเหี้ยมทารุณ
โดยใช้เวลาประพันธ์เพลงเพียง 1 อาทิตย์ มี 7 เพลง ส่วนกลอนอีก 1 บทนั้น มิได้ประพันธ์เอง มีเนื้อหาบอกเล่าถึงการสรรเสริญแม่น้ำหวงเหอ ชีวิตของชาวเรือ ความข่มขื่นของหญิงชาวจีนถูกย่ำยี กระทั่งวันแห่งชัยชนะคืนเอกราชให้แก่ประเทศ
บทเพลงนี้เกิดขึ้นก่อนจะมีสงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกนำมาเผยแพร่ในไทยครั้งแรก เนื่องในโอกาสหอการค้าไทย-จีน จัดประชุมนักธุรกิจชาวจีน เมื่อ ค.ศ.1995
จากวันนั้นจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลาร่วม 20 ปี ที่บทเพลงอมตะร้างลาจากเวทีการแสดงในไทย และในปีนี้เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี วันยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทั่วโลกต่างจัดกิจกรรมรำลึก และโอกาสครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน คณะนักร้องส่งเสริมศิลปิน มูลนิธิไทย-จีน เพื่อการศึกษาและวัฒนธรรม จึงร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทยจัดคอนเสิร์ต ‘บทเพลงแห่งหวงเหอ’ ขึ้นอีกครั้ง
‘ผุสดี คีตวรนาฏ’ หัวหน้าคณะนักร้องส่งเสริมศิลปินฯ และอดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะโต้โผคนสำคัญริเริ่มและนำให้เกิดคอนเสิร์ตครั้งนี้ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า คอนเสิร์ตบทเพลงแห่งหวงเหอ ฉลอง 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทยจีน จะเป็นคอนเสิร์ตที่ยิ่งใหญ่ แรกเริ่มนั้นจะมีคณะวงดุริยางค์จากจีนร่วมแสดงด้วย แต่ติดภารกิจจึงไม่สามารถเข้าร่วมได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีวงบางกอก ซิมโฟนี่ ออร์เคสตร้า และคณะนักร้องประสานเสียง ยุ่นเหอ จากปักกิ่ง คณะนักร้องประสานเสียงอ้ายเยี่ย จากซัวเถา คณะนักร้องประสานเสียงปาสูจากเฉิงตู คณะนักร้องประสานเสียงส่งเสริมศิลปิน เกือบ 300 คน
“ช่วงแรกของการแสดงจะให้นักแสดงทั้ง 5 คณะ ร่วมโชว์คณะละ 2 เพลง จากนั้นจึงนำเข้าสู่บทเพลงแห่งหวงเหอ ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของกิจกรรม ก่อนจะปิดท้ายด้วยการขับร้องเพลงไทย-จีน สามัคคี ร่วมกัน ซึ่งเพลงนี้ประพันธ์มาร่วม 40 ปี แล้ว”
(เเม่น้ำหวงเหอ ภาพประกอบโดย เว็บไซต์wikipedia)
ทั้งนี้ จุดประสงค์หนึ่งเพื่อส่งเสริมการพัฒนาวงการเพลงประสานเสียง (คอรัส)ในไทย หัวหน้าคณะนักร้องส่งเสริมศิลปินฯ บอกว่า ปัจจุบันมีพัฒนาการช้า เดินไม่ทันประเทศอื่น ที่มีชื่อเสียงในไทยเห็นจะมีเฉพาะ ‘วงประสานเสียงสวนพลู’ ซึ่งเป็นวงขนาดเล็ก ผิดกับต่างประเทศที่มีเกือบ 100 ชีวิต ดังเช่น จีน จะมีเกือบทุกเมือง แต่ไม่ได้ถูกเลี้ยงดูโดยรัฐบาลเหมือนเมื่อก่อน
ไทยจึงควรมีคณะนักร้องประสานเสียงตามหมู่บ้านหรือองค์กรต่าง ๆ ยกตัวอย่าง ธนาคาร เพื่อหาทางให้พนักงานร้องเพลงด้วยกัน เพราะการประสานเสียงนับเป็นการฝึกความสามัคคีและความคิดเห็นแก่หมู่คณะ ฝึกให้คนไม่เห็นแก่ตัว เพราะการที่ทุกคนอยู่ในหมู่คณะต้องไม่เห็นแก่ตัวจึงจะอยู่ได้
“คนในคณะนักร้องประสานเสียงมักพูดว่า ‘จะไม่มีเขา มีแต่เรา’ หมายถึง พวกเรา ไม่ใช่มีฉันคนเดียว เนื่องจากเวลาจะแสดงประสานเสียงต้องไปเป็นหมู่คณะ มิใช่ร้องปรี๊ดปร๊าดคนเดียวได้ แต่เสียงที่เปล่งออกมาสู่ผู้ฟังต้องสานสมานกันอย่างดี”
เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ผุสดี กล่าวว่า ได้สานสัมพันธ์กันมาหลายร้อยปีแล้ว เนื่องจากศาสนาและวัฒนธรรมมีส่วนคล้ายคลึงกันมาก เพราะฉะนั้นคนไทยกับจีนจึงไม่ค่อยขัดแย้งเหมือนคนชาติอื่น โดยเฉพาะเรื่องอาณาเขต
"หากดูลึก ๆ แล้ว คนไทยกับจีนยังไม่มีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง เราอาจรู้จักจีนเพียงกังฟู มิได้ศึกษาวัฒนธรรมที่แท้จริง จึงไม่ค่อยเข้าใจ เช่นเดียวกันคนจีนก็ไม่ค่อยเข้าใจเรา หลายอย่างต่างคิดไม่ตก เหตุใดจึงเป็นแบบนี้"
ยกตัวอย่าง สื่อมวลชน ติดต่อกันมา 10 ปีแล้ว แต่ทำได้เพียงกินข้าว ชนแก้ว ไม่มีโอกาสพูดคุยลึกซึ้ง เพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ดังนั้น ตราบใดยังต้องคบค้าสมาคมกับจีน จำเป็นต้องศึกษาประเทศของกันและกันอย่างดี
“ความเข้าใจผิด ๆ เช่น การรายงานข่าวสถานการณ์สี่แยกราชประสงค์ ยังมีสื่อมวลชนบางกลุ่มพูดถึงประเทศฮ่องกง และไต้หวัน นั่นหมายถึง เราไม่เข้าใจจีนแผ่นดินใหญ่เลย ซึ่งถือว่าสองประเทศนี้เป็นของจีน ถามว่าคนไทยเข้าใจหรือไม่ หรือเข้าใจแต่ยังใช้คำศัพท์ไม่ถูกต้อง”
เธอยังขยายความว่า หลายคนมักไม่เข้าใจเหตุใดคนจีนจึงพูดเสียงดังจนคิดว่าเป็นวัฒนธรรม ความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น เพราะคนจีนที่มีการศึกษาก็จะไม่พูดเสียงดัง อย่าลืมว่า คนจีนที่เข้ามาอาศัยในไทยสมัยก่อนไม่ค่อยมีการศึกษา แม้กระทั่งนักท่องเที่ยวบางรายในปัจจุบันก็มีการศึกษาไม่มาก แต่มาเที่ยวได้เพราะชาวนาในประเทศรวย หรือรวยขึ้นจากความยากจน เพราะฉะนั้นจะคาดหวังให้เหมือนชาวยุโรปหรืออเมริกันที่มีการศึกษาไม่ได้
สำหรับผู้สนใจสามารถซื้อบัตรได้ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โทรศัพท์ : 02-668-9422 ราคาเพียง 1,000 บาท โดยคอนเสิร์ตบทเพลงแห่งหวงเหอ ฉลอง 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2558 เวลา 19.00 น. ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ .