บึ้มป่วนยะลา...ดิสเครดิตโครงสร้างใหม่ ท้าทายทหารคุมดับไฟใต้ สะกิดแผลอยุติธรรม
เหตุระเบิดหลายสิบจุดกลางเมืองยะลาเมื่อค่ำวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยช่วงเวลาเกิดเหตุยาวนานถึง 5 ชั่วโมง สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วจนสามารถหยุดกระแสข่าวตื่นกลัวเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพมหานครในสื่อสารมวลชนทุกแขนงไปได้พักใหญ่
หลายคนย้อนนึกถึงเหตุการณ์ "ดับเมืองยะลา" เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2548 ซึ่งเป็นการก่อเหตุรุนแรงหลายสิบจุดคล้ายคลึงกัน มีปฏิบัติการที่ทำให้ไฟฟ้าดับในวงกว้างเหมือนกัน โดยเหตุการณ์เมื่อปี 2548 นั้นคือจุดเริ่มต้นของการตราพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และบังคับใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่แรก ทั้งยังใช้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงทุกวันนี้
การเกิดเหตุร้ายซ้ำรอยเหมือนเมื่อกว่า 6 ปีก่อน จึงส่งผลต่อจิตวิทยามวลชนในภาพกว้างว่าสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ดีขึ้นเลย แม้ฝ่ายความมั่นคงจะนำสถิติตัวเลขต่างๆ มายืนยันว่าดีขึ้นตามลำดับ และกำลังปรับโครงสร้าง "องค์กรดับไฟ" ใต้เพื่อบูรณาการทุกหน่วยงานให้เป็นเอกภาพก็ตาม
ที่น่าสนใจก็คือการเลือก "จังหวะเวลา" ในการก่อเหตุเที่ยวนี้ ถือว่าเหมาะเจาะลงตัว ส่งสัญญาณที่สร้างแรงสั่นสะเทือนได้ทั้งในแง่การเมือง ความมั่นคง และปัญหาเรื้อรังด้านความยุติธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1.กระตุกโครงสร้างใหม่-ท้าทายอำนาจทหาร
ช่วงนี้เป็นช่วงที่รัฐบาลเตรียมคลอดโครงสร้าง "องค์กรบริหารใหม่" เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่พอดี หลังจากเพิ่งจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์คชอป) กันเป็นที่เรียบร้อยไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (18-19 ต.ค.) สรุปก็คือให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นเจ้าภาพบูรณาการ และให้แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธานคณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กบชต. บังคับบัญชาทุกหน่วยในระดับพื้นที่ รวมทั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ด้วย
โครงสร้างที่ว่านี้ซึ่งมีคณะกรรมการ หรือ "บอร์ด" ระดับนโยบายใช้ชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (นชต.) มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่าความมั่นคงเป็นประธานนั้น กอ.รมน.กำลังเตรียมเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนาม ซึ่งเท่ากับเป็นการรวบอำนาจการบริหารจัดการปัญหาภาคใต้ให้ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทหารอีกครั้ง เพราะโครงสร้าง กอ.รมน.ใหญ่ ก็มีกองทัพบกเป็นหน่วยนำ มีผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นรองผอ.รมน.โดยตำแหน่ง และเสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) เป็นเลขาธิการ รมน.
การก่อเหตุระเบิดได้คราวเดียวถึงกว่า 30 จุด จึงเป็นการดิสเครดิตโครงสร้างองค์กรบริหารใหม่ล่วงหน้า และยังดิสเครดิตฝ่ายทหารที่ทำหน้าที่เป็น "หน่วยนำ" ในองค์กรบริหารใหม่ด้วย
2.ลดเชื่อมั่น พ.ร.ก.
การก่อเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ที่ทำให้คนหวนนึกถึงเหตุการณ์ "ดับเมืองยะลา" จนหลายคนเรียกว่า "ดับเมืองยะลาภาค 2" หลังจากบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มานานกว่า 6 ปี ต่ออายุมาแล้วถึง 25 ครั้ง จึงเท่ากับเป็นการลดความน่าเชื่อถือของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปด้วยในตัว
ขณะที่ช่วงก่อนเกิดเหตุก็มีเคลื่อนไหวจากองค์กรนักศึกษาและภาคประชาสังคมในพื้นที่สร้างกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กันอย่างคึกคัก การก่อเหตุรุนแรงเที่ยวนี้จึงถือว่าสอดรับกันพอดี และ พ.ร.ก.ฉบับนี้ คือเครื่องมือสำคัญของฝ่ายความมั่นคงทั้งตำรวจ ทหาร ในการต่อสู้กับกลุ่มก่อความไม่สงบ เมื่อเกิดเหตุร้ายลักษณะนี้จึงย่อมทำให้การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกตั้งคำถามมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
3.สะกิดแผลอยุติธรรม
การก่อเหตุร้ายครั้งใหญ่ในห้วงครบรอบ 7 ปีเหตุการณ์ตากใบ หรือเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 จนมีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม และเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมรวม 85 ราย ทำให้ภาพการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมนับพันคนด้วยวิธีถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง แล้วนำไปเรียงซ้อนกันบนรถยีเอ็มซี เพื่อเดินทางเกือบ 200 กิโลเมตรไปสอบปากคำที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นภาพแห่งความเลวร้ายที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ยอมรับไม่ได้ ย้อนกลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง
ที่สำคัญกระบวนการยุติธรรมยังมิอาจอำนวยความยุติธรรมในเรื่องนี้ได้ แม้จะมีการจ่ายเงินเยียวยาผู้สูญเสียจำนวนหนึ่ง และถอนฟ้องผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าปลุกปั่นให้เกิดการชุมนุมในวันนั้น ทว่าในคำร้องไต่สวนการตายกรณีมีการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าพนักงานระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ถูกจับกุมนับพันคน ศาลกลับชี้ว่าเป็นการตายเพราะขาดอากาศหายใจ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าถูกทำร้ายจนตาย และอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี ทำให้ดูประหนึ่งว่าเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 85 รายนี้ ไม่มีใครกระทำความผิด ยกเว้นการโยกย้ายทหาร 3-4 นายออกจากตำแหน่ง แต่ก็ยังมีความเจริญเติบโตในหน้าที่ราชการเช่นเดิม
เหตุการณ์ตากใบจึงเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนความอยุติธรรมของคนสามจังหวัดที่ได้รับจากรัฐไทย การก่อเหตุรุนแรงในวันที่ 25 ต.ค.จึงเป็นการตอกย้ำให้สังคมได้ย้อนระลึกถึงประวัติศาสตร์บาดแผลที่ยังไม่ได้รับการเยียวยารักษา
4.ซ้ำเติมรัฐบาลสำลักน้ำ (ท่วม)
การฉวยจังหวะในช่วงที่รัฐบาลกำลังโซซัดโซเซกับปัญหาอุทกภัยในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง ด้วยการสร้างสถานการณ์ร้ายระดับนี้ขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เท่ากับเป็นการซ้ำเติมวิกฤติ ทำให้รัฐบาลปั่นป่วนรวนเรมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ถูกตั้งคำถามเรื่องความสามารถในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้หนักขึ้นกว่าเดิม ทั้งๆ ที่เดิมก็ถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ทั้งในมิตินโยบาย และการปฏิบัติตามพันธสัญญาที่เคยหาเสียงเอาไว้ รวมถึงการมอบอำนาจให้กองทัพบริหารจัดการปัญหาภาคใต้อย่างเบ็ดเสร็จผ่านองค์กรบริหารใหม่
นี่คือการเลือกจังหวะจะโคนในการก่อเหตุรุนแรง ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเองก็รู้ล่วงหน้า เพราะเป็นวันครบรอบเหตุการณ์สำคัญ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันได้ หนำซ้ำยังเจอการก่อเหตุให้เห็นจะๆ แบบนี้ สะท้อนว่าฝ่ายผู้ก่อการยังคงคุมเกม เลือกก่อเหตุเวลาใดก็ได้ สถานที่ใดก็ได้ ทั้งๆ ที่ช่วงเดือนไตรมาสแรกและสองของปีนี้ก็เพิ่งมีเหตุระเบิดกลางเมืองยะลาขึ้นหลายต่อหลายครั้ง จนมีการวางมาตรการสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" หรือ "เซฟตี้ โซน" แต่ทั้งหมดก็ต้องล้มเหลวสิ้นเชิง
ยิ่งหลักฐานจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดชี้ชัดว่า กลุ่มคนร้ายล้วนเป็นวัยรุ่นและเยาวชน ซึ่ง นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าฯยะลาฟันธงว่าเป็น “แนวร่วมรุ่นใหม่” ที่ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสถาบันการศึกษาในตัวเมืองยะลานั่นเอง ยิ่งทำให้น่าคิดว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เยาวชนและคนวัยทำงานทั้งชายหญิงยังคงหลั่งไหลเข้าร่วมขบวนการ ทั้งๆ ที่ฝ่ายความมั่นคงยืนกรานว่าสถานการณ์ดีขึ้น จำนวนสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบลดจำนวนลง และการชักชวนคนเข้าร่วมขบวนการเป็นการ "หลอกลวง-บิดเบือน-ล้างสมอง"
เหตุใดเยาวชนที่มีการศึกษาหรือคนหนุ่มสาววัยทำงานจำนวนไม่น้อยจึงพร้อมใจกันนำระเบิดไปวางเพื่อร้ายคนบริสุทธิ์ เป็นเรื่องที่รัฐต้องค้นหาคำตอบและหยุดยั้งวงจรนี้ให้ได้ เพราะภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชี้ชัดว่าฝ่ายความมั่นคงยังมิอาจสกัดกั้นกลุ่มวัยรุ่น เยาวชน คนวัยทำงานให้หันเหไปเข้าร่วมกับกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบได้ ซึ่งนายทหารระดับสูงใน กอ.รมน.เองก็ยอมรับ
ปฏิบัติการทางทหารและการปรับโครงสร้างองค์กรบริหารใหม่ที่ให้ "ทหาร" ยึดกุมอำนาจการบังคับบัญชา เป็นแนวทางที่ถูกต้องจริงหรือ เป็นเรื่องที่ต้องขบคิด
ขณะที่ในทางยุทธการยังมิอาจเอ็กซเรย์พื้นที่ ตรวจจับการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดและอาวุธปืนของกลุ่มขบวนการได้ อย่าลืมว่าเพียงแค่ 2 วันก่อนหน้า ก็มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ในเขต อ.เมืองนราธิวาส ทั้งโจมตีจุดตรวจ วางระเบิดเพลิงเผาทำลายร้านขายของชำขนาดใหญ่อีก 2 แห่งจนมีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 8 คน
ความผิดพลาดในเชิงยุทธการก็เป็นอีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่น่าฉงนว่าเรากำลังเดินถูกทางจริงๆ หรือ?
สถานการณ์ ณ นาทีนี้ เหมือนฝ่ายความมั่นคงต้องกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกคร้ั้ง!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ความเสียหายจากเหตุระเบิดป่วนเมืองยะลา (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)
2 เพลิงลุกโชนอย่างน่ากลัวที่ร้านชำกลางเมืองนราธิวาส 2 วันก่อนเกิดเหตุป่วนยะลา (ขอบคุณภาพจาก คุณสุริยะ ตะวันฉาย)
หมายเหตุ : บางส่วนของรายงานชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 27 ต.ค.2554