ดูชัด ๆ รธน.ใหม่จะแก้ไขหลักการสำคัญต้องผ่านประชามติก่อน!
“…อธิบายให้ง่ายขึ้นคือ หากคณะรัฐมนตรี หรือประชาชน ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมือง โครงสร้างสถาบันทางการเมือง เช่น เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรี (ฝ่ายบริหาร) หรือ ส.ส.-ส.ว. (ฝ่ายนิติบัญญัติ) … นอกเหนือจะต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภาตามปกติแล้ว ท้ายสุดจะต้องส่งให้ กกต. ดำเนินการทำ “ประชามติ” ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นด้วย…”
หลายคนอาจจะได้อ่านหรือศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับเรือแป๊ะ” ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบไปเมื่อวานนี้ (22/8/58)
โดยสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นอกเหนือไปจากการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการปฏิรูปและการปรองดอง ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการ “สืบทอดอำนาจ” รัฏฐาธิปัตย์รูปแบบใหม่แล้ว
(อ่านประกอบ : แพร่แล้ว!รธน.ใหม่เปิดช่องนายกฯคนนอก-กก.ยุทธศาสตร์ฯบริหารแผ่นดินไม่ได้)
ที่น่าสนใจคือ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกประกาศใช้ จะสามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ?
หากจำกันได้ก่อนหน้านี้ ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐสภามีการประชุมกันเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2550 ในส่วนที่มาของวุฒิสภา โดยที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ามีการ “ปลอมร่าง” ขึ้นมาใหม่ โดยแอบเปลี่ยนเนื้อหาหลักการสำคัญ โดยให้ ส.ว. สิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว สามารถรับเลือกตั้งได้ทันที โดยไม่ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี
นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการเสียบบัตรแทนกัน ซึ่งปรากฏคลิปวีดีโอเป็นที่อื้อฉาวไปทั่วอีกด้วย
จนถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิดมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญปี 2550 เนื่องจากได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ !
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเนื้อหาในบทส่งท้ายของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในส่วนของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาเรียบเรียงให้เห็นภาพ ดังนี้
มาตรา 268 ระบุว่า การขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้
มาตรา 269 ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในบททั่วไป ภาค 1 รากฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานสำคัญที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามมาตรา 271
หลักการพื้นฐานสำคัญตามวรรคหนึ่ง หมายถึง
(1) หลักประกันเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมือง
(2) โครงสร้างของสถาบันการเมือง ซึ่งได้แก่การสองสภาพ องค์ประกอบของแต่ละสภา การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริการและฝ่ายนิติบัญญัติ
(3) กลไกเพื่อการรักษาวินัยทางการเงิน การคลัง และการงบประมาณ
(4) สาระสำคัญของบทบัญญัติในภาค 3 หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
(5) สาระสำคัญของบทบัญญัติในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง
(6) หลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามบทสุดท้ายนี้
การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อขยายหรือเพิ่มสิทธิเสรีภาพหรือการมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมืองหรือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการของศาลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ไม่ถือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานสำคัญตามมาตรานี้
สำหรับมาตรา 271 ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 269 ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามมาตรา 270
ซึ่งในส่วนนี้ วิธีการแก้ไขเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550 เช่น ญัตติขอเพิ่มเติมมาจากคณะรัฐมนตรี ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ และ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย หลังจากนั้นจะให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ โดยให้สมาชิกรัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.) ลงมติผ่านแต่ละวาระ ก่อนจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป
แต่ไม่จบแค่นั้น หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อดำเนินการให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงประชามติ ก่อนนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นทูลเกล้าฯถวาย ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
ในกรณีที่ประชาชนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป แต่ถ้าประชาชนเสียข้างมากเห็นชอบ ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นขึ้นทูลเกล้าฯถวายภายใน 20 วัน นับแต่วันที่มีการออกเสียงประชามติ เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
จากหลายมาตราข้างต้น อธิบายให้ง่ายขึ้นคือ หากคณะรัฐมนตรี หรือประชาชน ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมือง โครงสร้างสถาบันทางการเมือง เช่น เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรี (ฝ่ายบริหาร) หรือ ส.ส.-ส.ว. (ฝ่ายนิติบัญญัติ) รวมถึงการแก้ไขในส่วนของศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นต้น) การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง รวมถึงการแก้ไขหลักเกณฑ์บทบัญญัตินี้
นอกเหนือจะต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภาตามปกติแล้ว ท้ายสุดจะต้องส่งให้ กกต. ดำเนินการทำ “ประชามติ” ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นด้วย !
ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ กมธ.ยกร่างฯ นำมาใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับเรือแป๊ะ” นี้ เพื่อสร้างกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมและตัดสินใจมากขึ้น ?
แต่จะได้ผลเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ ต้องรอพิสูจน์กันต่อไป
อ่านประกอบ : กางบทเฉพาะกาล รธน.ใหม่ ไขคำตอบ คสช.ไปเมื่อไหร่-เลือกตั้งตอนไหน?
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก click.senate.go.th